ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. แจงชัด! หลังโซเชียลแชร์ข้อกังวลความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ใน รพ.สต.หวั่นเบิกตาม ม.41 เยียวยาผู้รับบริการไม่ได้ ย้ำ! ผู้มีสิทธิบัตรทองรับบริการแล้วได้รับความเสียหาย มีสิทธิขอรับเงินช่วบเหลือเบื้องต้นได้ แม้ว่า รพ.สต.จะอยู่สังกัดใดก็ตาม 

ตามที่มีการแชร์ในสังคมออนไลน์กรณีเพจ ตีแผ่แฉแหลก เผยแพร่ข้อมูลอ้างข่าวจากวงใน สธ.ระบุ ถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. น่าเป็นห่วง ประชาชนขาดความมั่นใจ โดยเชื่อมถึงกรณีเด็กรับการฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิตที่ รพ.สต. สังกัด อบจ. ในภาคอีสาน พบ  ประเด็นสำคัญ จาก รพ.สต. ที่ถ่ายโอนไป อบจ. อาทิ การขาดความพร้อมของ รพ.สต.  ไม่มั่นใจคุณภาพการจัดเก็บวัคซีน การตรวจสุขภาพเด็ก ก่อนฉีดวัคซีน ขาดแคลน พยาบาล และหมอ ไม่มีแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และสถานพยาบาลระดับทุติยภูมิ ตติยภูมิ ในการควบคุมกำกับตามกฎหมาย 3. นิติกร อาจขาดความเข้าใจ และประสบการณ์ในการจัดการกรณีความเสียหายด้านสาธารณสุข เช่น เด็กเสียชีวิต รายดังกล่าว และ  อบจ.ไม่มี คกก. ม.41 ในดำเนินการเมื่อเกิดความเสียหาย ช่วยเหลือผู้ป่วย ช่วยเหลือเด็กที่เสียชีวิต นั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2566  ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. ให้สัมภาษณ์ Hfocus  เรื่องนี้ว่า มาตรา 41 ระบุไว้ว่า ถ้าผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ สามารถขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด 

ปัจจุบัน รพ.สต.มีสถานะเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อผู้มีสิทธิบัตรทองไปรับบริการแล้วได้รับความเสียหาย ย่อมมีสิทธิขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ได้ แม้ว่า รพ.สต.จะอยู่สังกัดใดก็ตาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากสปสช.ระบุถึงมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545  ได้กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กันเงินจำนวนหนึ่งไม่เกินร้อยละ 1 ของเงินที่จ่ายให้กับหน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการในกรณีที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด โดยในช่วงแรก สปสช. กำหนดประเภทความเสียหายและอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเป็น 3 กรณี คือ กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 200,000 บาท, กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการ จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 120,000 บาท และกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 50,000 บาท 

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ได้มีการปรับเพิ่มจำนวนการจ่ายเงินช่วยเหลือ โดยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการ เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือไม่เกิน 100,000 บาท