ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตัวแทนกลุ่ม Nurses Connect เผย รอจัดตั้งครม. เสร็จ พร้อมเสนอรัฐบาลใหม่-รมว.สธ.คนใหม่ ให้ช่วยแก้ไขปัญหาชั่วโมงการทำงาน-ค่าตอบแทน ส่วนพยาบาลท้องถิ่นยังพบปัญหาคนไม่พอ ชี้! อยากให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น เพื่อลดภาระงานในโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิได้ด้วย

ตามที่ อ.ก.พ.สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้มีการประชุมพิจารณาและเห็นชอบเลื่อนและกำหนดตำแหน่งข้าราชการในระดับชำนาญการพิเศษในแต่ละวิชาชีพ ซึ่งประกอบด้วย  เภสัชกร, พยาบาลวิชาชีพ, นักวิชาการสาธารณสุข,  และตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (นักวิชาการสาธารณสุข/พยาบาลวิชาชีพ/เจ้าพนักงานสาธารณสุข) นั้น 

ขณะนี้เกิดคำถามว่า... เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่จะมานั้น พยาบาลยังมีข้อเรียกร้องอะไรหรือไม่ หลังจากได้เลื่อนระดับพยาบาลชำนาญการพิเศษ  อย่างพยาบาลส่วนท้องถิ่น ภูมิภาค มีปัญหาอะไรที่อยากให้เพื่อไทยแก้ปัญหาหรือไม่?

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2566  น.ส.สุวิมล นัมคณิสรณ์ ตัวแทนสหภาพพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล และตัวแทนกลุ่ม Nurses Connect   ให้สัมภาษณ์ Hfocus เรื่องนี้ว่า เรายังมีข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับเรื่องของชั่วโมงการทำงานที่มันมากเกินไป รวมถึงเรื่องค่าตอบแทนด้วย ที่ถึงแม้จะมีการปรับเพิ่มขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเรื่องนี้เรามองว่าคนละส่วนกับการที่พยาบาลได้เลื่อนขั้นเป็นระดับชำนาญการพิเศษ มองว่าเพราะนั่นคือเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพอยู่แล้ว เพราะปัญหาหน้างานนั้นคนส่วนใหญ่เป็นพยาบาลระดับปฏิบัติการ เรามองว่าขณะนี้เรื่องชั่วโมงการทำงานและเรื่องค่าตอบแทนยังเป็นปัญหาอยู่

ซึ่งเราได้มีการพูดคุยกับทีมสหวิชาชีพ ทั้ง แพทย์ เภสัชชกร เทคนิคการแพทย์ เรามองเห็นตรงกันว่าเรื่องชั่วโมงการทำงานและเรื่องค่าตอบแทนยังเป็นปัญหาอยู่ ทั้งนี้เมื่อจัดตั้งครม.เสร็จเรียบร้อย ทางเราพร้อมจะนำเสนอปัญหาเรื่องนี้เพื่อให้รัฐบาลใหม่หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ ได้มีการแก้ไขต่อไป ซึ่งคาดหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ไปในทางที่ดีขึ้น

ในส่วนของพยาบาลท้องถิ่นกับภูมิภาค เรายังเจอปัญหาเรื่องของคนไม่พอ การทำงานที่เยอะเกินไปอยู่เหมือนเดิม ซึ่งที่เราอยากเสนอคือ ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่จำเป็นต้องพึ่งพาหรือผู้ป่วยติดเตียง คือไม่อยากให้ผู้ป่วยนอนที่โรงพยาบาล แต่อยากให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้กลับเข้ามาอยู่ในชุมชนและให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลมากกว่า ซึ่งจะช่วยลดภาระงานในโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิได้ด้วย