ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมออินเทิร์น รพ.ในแม่ฮ่องสอน สะท้อนปัญหาทำงานพื้นที่ห่างไกล ขอ “หมอชลน่าน”  รมว.สาธารณสุขคนใหม่ สร้างระบบเอื้อบุคลากรไม่ลาออก โดยเฉพาะค่าตอบแทน ค่าโอทีเป็นธรรม สนับสนุนให้ความรู้คนที่เจ็บป่วยไม่ฉุกเฉิน เลี่ยงมาใช้บริการนอกเวลา ลดภาระงาน ช่วยผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ เข้าถึงบริการรวดเร็ว

 

จากกรณีสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงานออกมาเรียกร้องเรื่องภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาครัฐ ที่ต้องทำงานมากเกินกว่าแพทยสภาประกาศแนะนำไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ด้วยจำนวนแพทย์ที่ไม่เพียงพอ การกระจายตัว และภาระงานที่ล้นจนหมอลาออก จึงมีการเรียกร้องให้กำหนดชั่วโมงการทำงาน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งมีทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวนั้น

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กันยายน  มีแพทย์อินเทิร์น หรือหมอจบใหม่ใช้ทุน ซึ่งปฏิบัติงานในโรงพยาบาลพื้นที่ห่างไกลของ จ.แม่ฮ่องสอน ให้สัมภาษณ์ Hfocus เกี่ยวกับภาระงานในพื้นที่ โดยระบุว่า จริงๆ ตนเลือกที่จะมาทำงานในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะรู้สึกอยากทำงานให้กับประชาชนตามพื้นที่ห่างไกลและชายแดน แต่เมื่อมาปฏิบัติงานจริง ส่วนตัวก็ยังอยากทำงานให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนต่อ แต่นับวันรู้สึกเหนื่อยล้ากับภาระงานที่มากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่จำนวนแพทย์ต่อคนไข้อัตราส่วนต่างกันมาก ซึ่งสอดคล้องกับปัญหาก่อนหน้านี้ที่มีข่าวหมออินเทิร์นปี 1 ลาออก ทำให้จำนวนแพทย์ใช้ทุนในจังหวัดลดลงไปอีก จนคนที่ทำงานอยู่ ณ ปัจจุบันก็รู้สึกหมดไฟ

 

“รพ.ที่ปฏิบัติงาน เป็นโรงพยาบาลขนาด 90 เตียง มีแพทย์ใช้ทุน 5 คน เริ่มงาน 8.30 น. ซึ่งจะจบตามเวลาราชการ 16.30 น. แต่ส่วนใหญ่ลากยาว ไปถึง 17.00-17.30 น. ยิ่งช่วงหน้าฝนเป็นช่วงที่โรคไข้เลือดออก และมาลาเรียแพร่ระบาด เวลาทำงานก็จะลากยาวไปอีก ยังไม่รวมเวรห้องฉุกเฉินและเวรดูแลผู้ป่วยใน โดยจะมีทั้งเวรเช้า บ่าย ดึก รวมๆทำงานนอกเวลาราชการประมาณ 40-64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเกินตามข้อกำหนดแพทยสภาไม่ควรเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์”

 

แพทย์อินเทิร์น เล่าอีกว่า  อย่างไรก็ตาม ได้มีความพยายามลดภาระงานของแพทย์ใช้ทุน ด้วยการให้แพทย์เฉพาะทางมาช่วยเปิดคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการเพื่อลดจำนวนเคสไม่ฉุกเฉินที่ต้องให้เวรห้องฉุกเฉินตรวจและให้แพทย์เฉพาะทางมาช่วยอยู่เวรดูแลผู้ป่วยใน ซึ่งช่วยลดระยะเวลาการทำงานนอกเวลาของแพทย์ใช้ทุนได้เหลือ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ต่อคน แต่แพทย์เฉพาะทางเองก็มีเวรให้คำปรึกษา (consult) ของตนเองคนละ 10-15 เวรต่อเดือนอยู่แล้ว ถือว่าเยอะมากถ้าเทียบกับแพทย์เฉพาะทางตามโรงพยาบาลในเมือง

 

ชงแนวทางแก้ไขระยะสั้น สิ่งสำคัญ ค่าตอบแทน ต้องเพิ่ม!

สำหรับแนวทางแก้ไข ตอนนี้มีแผนระยะสั้นด้วยการหมุนเวียนแพทย์ในเขตพื้นที่สุขภาพที่ 1 แต่ด้วยความยากลำบากในการเดินทาง เพราะเส้นทางค่อนข้างโหดหินมาก เป็นโค้งภูเขาหักศอก ถัดลงไปเป็นหน้าผา และระยะทางค่อนข้างไกล อย่างอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนห่างจากเชียงใหม่ประมาณ 5-6 ชั่วโมง ส่วนอำเภอที่ใกล้เชียงใหม่อย่างปายกับแม่สะเรียง ก็ใช้เวลาเดินทางอย่างต่ำ 3 ชั่วโมง ทำให้แพทย์จังหวัดอื่นไม่ค่อยอยากมา นอกจากไกล เดินทางยาก พื้นที่ชนบท ภาระงานเยอะ ค่าตอบแทนค่าเวรยังน้อยมาก

 

เสนอค่าโอทีพื้นที่กันดารควรมากกว่าพื้นที่เมือง

ยกตัวอย่าง แพทย์เฉพาะทางค่าเวรโอทีเริ่มต้นที่ 600 บาทต่อ 8 ชั่วโมง เท่าขั้นต่ำที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ ซึ่งโรงพยาบาลแต่ละแห่งไม่เท่ากันด้วย อย่างเชียงใหม่ได้ประมาณ 1,100 บาทต่อ 8 ชั่วโมง ตามหลักการแล้ว ในเมื่อแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่กันดารห่างไกล ถ้าอยากจะเชิญชวนให้แพทย์มาอยู่ก็ควรให้ค่าตอบแทนมากกว่าในเมือง ไม่ใช่ให้น้อยกว่าเกือบ 2 เท่า และปัญหานี้ไม่ได้มีเฉพาะในสายแพทย์ สายพยาบาลก็ด้วย ค่าเวร ค่า OT ก็ได้เท่าขั้นต่ำที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศ ค่า refer คนไข้ได้แค่ 80 บาทต่อชั่วโมง เทียบกับที่อื่นซึ่งได้เยอะกว่า ส่งผลให้พยาบาลเองก็ลาออกเป็นจำนวนมาก  

 

รพ.ไร้เงินบำรุงมีปัญหาจ่าย ขอรัฐบาลใหม่ช่วยเหลือ

ค่าใช้จ่ายตรงนี้ทั้งหมดมาจากเงินบำรุงโรงพยาบาล ซึ่งโดยบริบทพื้นที่แล้วมันไม่สามารถหาเงินบำรุงโรงพยาบาลเพิ่มได้ง่ายแบบโรงพยาบาลในเมือง ทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนของบุคลากรได้เท่าที่ควรจะเป็น ปัญหาคล้ายๆกับที่โรงพยาบาลชายแดนตามจังหวัดตากเจอ จึงอยากให้รัฐบาลลงมาช่วยสนับสนุนด้วย

 

หมุนเวียนแพทย์แก้ปัญหาชั่วคราว ขอให้แก้ที่ระบบ ดูแลคนไม่ให้ลาออก

เรื่องศูนย์อบรมพื้นที่เฉพาะ ยังไม่ทราบรายละเอียด จึงยังไม่สามารถให้ความเห็นในเรื่องนี้ได้ แต่ถ้าพูดถึงแนวทางแก้ปัญหาหมอไม่พอด้วยการหมุนเวียนแพทย์มาปฏิบัติงานในพื้นที่ขาดแคลนนั้น ขอพูดรวมๆไม่ใช่เฉพาะในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขอให้การหมุนเวียนแพทย์เป็นเพียงการแก้ปัญหาชั่วคราว และระหว่างนี้ให้พยายามแก้ปัญหาให้ตรงจุดจริงๆคือดูแลคนที่อยู่ประจำให้ดีทั้งเรื่องภาระงาน ค่าตอบแทนและสวัสดิการ จะช่วยลดการลาออกของแพทย์ที่อยู่ประจำ ไม่ต้องคอยไปหาแพทย์ที่อื่นมาหมุนเวียน และแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ได้อยากเวียนไปช่วยโรงพยาบาลอื่น เพราะรู้สึกว่าขาดความต่อเนื่องของงาน อยากเอาเวลาไปพัฒนาระบบของโรงพยาบาลที่ตนเองอยู่ เหนื่อยเวลาต้องขนของย้ายที่ทำงาน ค่าเดินทางก็เบิกได้ไม่เท่าค่าเดินทางจริง ภาระงานไม่สมกับค่าตอบแทน บางที่ไม่นับอายุงานต่อเนื่อง ทำให้ค่ากันดารที่ควรจะได้ขึ้นช้าไปอีก และการที่ให้ค่าเวร OT แพทย์ที่มาช่วยราชการ 2-3 เท่าของแพทย์ที่อยู่ประจำ ก็ทำให้แพทย์ที่อยู่ประจำหลายๆคนก็รู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม แบบนี้ไปทำงานจังหวัดอื่นแล้วค่อยเวียนมาช่วยไม่ดีกว่าหรือ

(ข่าวเกี่ยวข้อง: ปลัดสธ. จ่อตั้ง “ศูนย์ฝึกอบรมสาธารณสุขพื้นที่เฉพาะ” แก้ปัญหา รพ.ชายแดน)

หมออินเทิร์นโอดไร้การสื่อสารชัด แม้สธ.มีนโยบายช่วย แต่หลายครั้งไม่ทราบเรื่อง

ผู้สื่อข่าวถามว่าในพื้นที่ได้มีการสื่อสารหรือไม่ว่า ปลัดสธ. กำลังหาทางช่วยเหลือและอยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องอายุงานให้ต่อเนื่อง หมออินเทิร์นรายเดิมกล่าวอีกว่า ยังไม่ทราบเรื่องนี้ อาจเป็นเพราะทางกระทรวงฯเพิ่งหารือกันก็เป็นได้ แต่เวลามีการปรับเปลี่ยนเชิงระบบไม่ว่าอะไรก็ตาม ก็อยากให้ผู้บริหารลงมาบอกกล่าวพูดคุยคนทำงานด้วย และรู้สึกขอบคุณที่ทางกระทรวงฯพยายามหาทางช่วยเหลือ

“ในเรื่องปรับค่าตอบแทนสำหรับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ควรได้รับมากกว่าพื้นที่ปฏิบัติงานในเมือง เพื่อให้มีแรงจูงใจ สร้างขวัญกำลังใจด้วย เรื่องนี้ต้องฝากกับผู้บริหารสธ.และฝากถึงคุณหมอชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการสธ.ท่านใหม่ กับรัฐมนตรีช่วยฯ คุณสันติ พร้อมพัฒน์ ช่วยดูแลผู้ปฏิบัติงานด้วย”

 

ขอ “หมอชลน่าน”  สร้างระบบหนุนคนที่เจ็บป่วยไม่ฉุกเฉิน เลี่ยงใช้บริการนอกเวลา  

หมอใช้ทุน กล่าวอีกว่า อยากให้มีนโยบายแก้ปัญหาเชิงระบบที่เป็นปัญหาระดับประเทศ เช่น ปัญหาคนไข้ที่มาใช้บริการห้องฉุกเฉิน เกินครึ่งเป็นคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นปัญหานี้เกิดขึ้นทุกจังหวัด แต่ยิ่งเป็นต่างจังหวัดที่อยู่ห่างไกลจะยิ่งชัด เพราะรอบข้างไม่มีรพ.เอกชนเลย ทั้งอำเภอมีโรงพยาบาลอยู่แค่แห่งเดียว คนไข้ไม่ได้มีตัวเลือกเยอะ ยังไงก็ต้องมาที่รพ.ประจำอำเภอ ซึ่งหลายครั้งทำให้เกิดการทะเลาะกันระหว่างผู้ใช้บริการกับบุคลากรด่านหน้า เพราะเวลาที่คนมาใช้บริการกันเยอะๆ เคสไม่ฉุกเฉินที่ต้องรอนาน ก็จะเริ่มรู้สึกว่าทำไมตัวเราหรือญาติเราถึงไม่ได้รับบริการสักที แบบนี้ยังไม่เรียกว่าฉุกเฉินหรอ ทำไมคนอื่นถึงได้เข้าก่อน ฯลฯ แล้วจบด้วยการทะเลาะกับคนหน้างานหรือโพสด่าลง social ซึ่งเราไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น มันทำให้ความสัมพันธ์ของบุคลากรกับประชาชนในพื้นที่แย่ลง รวมทั้งบั่นทอนจิตใจคนทำงาน

 

แพทย์อินเทิร์นกล่าวอีกว่า หากกระทรวงฯ หรือคุณหมอชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการสธ.ท่านใหม่จะมีนโยบายรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน เพิ่ม health literacy ว่าอะไรฉุกเฉินและอะไรไม่ฉุกเฉิน อาการแบบไหนควรมาตรวจที่รพ. หรืออาการแบบไหนปฐมพยาบาลเองที่บ้านได้ นโยบายนี้ไม่ใช่แค่ช่วยลดภาระงานบุคลากร แต่ประชาชนเองก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะคนไข้หลายคนทั้งๆที่อาการเข้าเกณฑ์ฉุกเฉิน เช่น ชัก อ่อนแรงครึ่งซีก ก็ไม่มาห้องฉุกเฉินเพราะไม่รู้ว่าอาการที่เกิดขึ้นกับตัวเองนั้นอันตราย หรือบางคนตัวเหลืองตาเหลือง ทิ้งไว้เป็นเดือน รอพ้นเดือนเก็บเกี่ยวเสร็จค่อยมาตรวจ

“เราอยากให้ทางกระทรวงฯเป็นผู้นำในการรณรงค์เรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาเห็นโรงพยาบาลอื่นในหลายๆจังหวัด พยายามรณรงค์เองและเปลี่ยนระบบบางอย่างเป็นการสื่อสารแบบอ้อมๆ เช่น การเก็บค่าบริการผู้ป่วยนอกเวลาที่ไม่ฉุกเฉิน 100 บาท ซึ่งจุดประสงค์จริงๆคือต้องการลดจำนวนคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉินให้มาใช้บริการน้อยลง แต่ทำแบบนี้ประชาชนไม่เข้าใจว่าจุดประสงค์จริงๆคืออะไร ยังมี comment จากประชาชนตามเพจโรงพยาบาลหลายแห่งว่า “ให้เก็บ 100 บาทก็ได้นะ แต่ขอบริการดีขึ้น เร็วขึ้น” เราคิดว่าสิ่งที่ควรทำจริงๆคือ “การสื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ให้ความรู้ประชาชน และสร้างระบบไม่ให้คนที่ไม่ฉุกเฉินจริงมาใช้บริการนอกเวลา  มีตัวอย่างให้เห็นในต่างประเทศ เช่น เวลาคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉินไปใช้บริการห้องฉุกเฉินนอกเวลา ประกันไม่จ่ายให้ (หรือถ้าเทียบกับไทยคือใช้สิทธิ 30 บาทไม่ได้) ต้องจ่ายเงินเองทั้งหมด เป็นต้น” หมอรายเดิมข่าว

 

ปัญหาระบบสาธารณสุขหลายอย่างอยู่นอกเหนืออำนาจ สธ.

นอกจากนี้ปัญหาของระบบสาธารณสุขหลายอย่างเข้าใจว่าอยู่นอกเหนืออำนาจของกระทรวงฯ ยังมีหน่วยงานอื่นๆอีกที่รับผิดชอบดูแลงานที่เกี่ยวข้องในด้านสาธาณสุข เช่น สปสช. แพทยสภา แพทยสมาคม ฯลฯ แต่อยากให้กระทรวงฯ ช่วยเป็นตัวกลางในการประสานงานแก้ไขปัญหาให้ เพราะที่ผ่านมาเวลามีปัญหาไปยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง มันจะมีการโยนกันไปกันมาว่าปัญหานี้อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ ให้ไปคุยกับอีกหน่วยงานหนึ่ง อยากให้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาไว้รับเรื่องโดยเฉพาะแล้วไปประสานแก้ปัญหาต่อให้ และปัญหาๆหนึ่ง ระหว่างแพทย์หน้างานไปพูดเองกับคนจากกระทรวงฯ ไปพูดให้ คิดว่าหน่วยงานอื่นน่าจะฟังคนที่มาจากกระทรวงฯสธ.มากกว่า

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

-ปลัดสธ.ลงพื้นที่เยี่ยม รพ.ชายแดน เพิ่มศักยภาพระบบบริการ