ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สัมภาษณ์พิเศษ: นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า กรณีข้อห่วงใยนโยบาย “ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค” ชูบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ - เลือกหมอ เลือกรพ. ผลดีกับประชาชน แต่กระทบบุคลากร ส่งผลบริการ แนะรัฐบาลช่วยลดภาระ จ่ายค่าตอบแทนเหมาะสม

 

กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทันทีที่พรรคเพื่อไทย โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ประกาศนโยบายแรกคือ การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค ใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ โดยใช้ระบบไอทีมาช่วยพัฒนา ปัญหาคือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขส่วนใหญ่กำลังกังวลว่า เมื่อยกระดับบัตรทอง จะมีนโยบายในการยกระดับคุณภาพชีวิตของบุคลากรคนทำงาน ทั้งสายวิชาชีพ และสายสนับสนุนอย่างไร เพราะหนึ่งในนโยบายของพรรคระบุว่า จะลดภาระงานช่วยเหลือบุคลากรเช่นกัน

 

ล่าสุดสำนักข่าว Hfocus ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “อาจารย์สมศักดิ์”  นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เกี่ยวกับประเด็นข้อห่วงใยดังกล่าว ว่า เมื่อพิจารณานโยบายภาพรวมของพรรคเพื่อไทย ซึ่งคุณหมอชลน่าน มาเป็นเจ้ากระทรวงฯนั้น ภาพรวมน่าจะเป็นสิ่งที่ดีเป็นไปในมุมที่บวก  แต่สิ่งที่น่าห่วง คือ หนึ่งในนโยบายระบุว่า สามารถ “เลือกหมอ เลือกรพ.ได้”  ซึ่งก็จะสอดคล้องกับการผลักดันเรื่อง ‘บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทั่วประเทศ’

หวั่นเลือกหมอ เลือก รพ. กระทบบริการ

“ประเด็นนี้ไม่มั่นใจว่า การใช้ข้อความ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ หมายถึง จากนี้ไปประชาชนใช้สิทธิ์บัตรทองสามารถรักษาที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องมีใบส่งตัวหรือไม่  สามารถเลือกรพ.ต่างๆที่จะรักษาได้เองหรืออย่างไร หากเป็นเช่นนั้นในมุมของคนไข้ เป็นเรื่องที่ดี เพราะเข้าถึงระบบบริการได้ตามต้องการ แต่ประชาชนอาจมองว่า ต่อไปเจ็บป่วยอะไรก็จะไปรพ.ขนาดใหญ่ เช่น อยู่อำเภอ ก็จะมารพ.จังหวัด อยู่รพ.จังหวัดจะมารพ.ศูนย์ เมื่ออยู่รพ.ศูนย์ก็จะมา ร.ร.แพทย์ สุดท้ายจะเกิดความแออัด เพิ่มภาระงานบุคลากร หมอ พยาบาล สุดท้ายก็จะส่งผลต่อการบริการประชาชนหรือไม่ ตรงนี้น่าห่วง”

จากประเด็นดังกล่าว  นพ.สมศักดิ์  มองว่าหากเป็นจริง ย่อมไม่ตอบโจทย์ เพราะเราควรสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนมากกว่า ว่า การเจ็บป่วยแบบไหนควรเข้าสู่ รพ.ที่ใกล้ที่สุดก่อน ในกรณีที่ไม่เร่งด่วน แม้เร่งด่วนการนำส่งก็ควรเป็นรพ.ที่ใกล้ที่สุด แต่หากรักษาแล้วไม่ดีขึ้น ก็จะค่อยขยับมา รพ.ขนาดใหญ่ เป็นไปตามระบบ ซึ่งเป็นหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพฯ ที่มีเรื่องใกล้บ้านใกล้ใจ  แต่เมื่อมีนโยบาย “เลือกหมอ เลือกรพ.ได้” ก็ค่อนข้างกังวลจะเกิดผลกระทบ ซึ่งทุกวันนี้ก็มีนโยบายที่นำมาใช้แล้ว คือ โครงการ 'Cancer Anywhere หรือ มะเร็งรักษาได้ทุกที่' 

อย่างไรก็ตาม โครงการมะเร็งรักษาได้ทุกที่นั้น  ยังไม่เห็นผลกระทบมากนัก เพราะต้องตรวจยืนนยันว่า เป็นมะเร็ง มีผลตรวจต่างๆ  แต่อย่างบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ หากเจ็บป่วยเล็กน้อยแล้วไปรพ.ขนาดใหญ่ ก็จะทำให้เสียเวลาการเดินทาง และไปแออัดรอคิวในรพ.อีก กลายเป็นไม่สะดวก ส่งผลทั้งผู้รับบริการ และผู้ให้บริการ

หวั่นภาระงานบุคลากรไม่ลด ขอนโยบายรองรับ

ส่วนนโยบายที่บอกว่า “ลดขั้นตอน ลดภาระบุคลากร”  อันนี้ไม่มั่นใจว่า หมายถึงจะนำระบบไอทีมาช่วยทั้งหมด และจะมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่มารองรับ โดยลดงานในการส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งหากบริหารจัดการด้วยการใช้ระบบไอทีก็จะช่วยลดภาระงานบุคลากรระดับหนึ่ง และจะต้องมีการจัดหาบุคลากรสายสนับสนุนเข้ามาช่วยทำงานที่แพทย์ พยาบาลไม่ต้องทำ ก็จะลดภาระงานตรงนี้ได้ แต่งานรักษาพยาบาลจะไม่สามารถช่วยได้ แต่จะเพิ่มภาระงานส่วนนี้แทน นี่คือสิ่งที่ตนกังวลมากที่สุด

หนุนลดปัญหาเจ็บป่วยไม่วิกฤตเข้า ER นอกเวลาราชการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มองว่าควรมีการประกาศ หรือสนับสนุนประชาชนที่เจ็บป่วยไม่ฉุกเฉินเลี่ยงรับบริการห้อง ER หรือแผนกฉุกเฉินนอกเวลาราชการ...

อาจารย์ มข. ตอบว่า อันนี้เป็นปัญหาเก่าที่สะสมมาตลอดในทุก รพ. ซึ่งการเข้าใช้บริการนั้น ต้องสร้างความรู้ให้แก่ประชาชน คือ ต้องมี Health Literacy ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจว่า แบบไหนเรียกว่าภาวะฉุกเฉิน จริงๆ เราจะไปโทษประชาชนเรื่องการเข้าใช้บริการห้องฉุกเฉินก็ไม่ถูกเสีย เหตุผลเพราะประชาชนไม่รู้จริงๆ ว่าอะไรฉุกเฉิน หรือไม่ฉุกเฉิน ใจเขาใจเรา อย่างเราเป็นไข้หวัด 2 วันไม่หาย วันนี้ไข้ขึ้นสูง ปวดหัวมาก ไอมากเราก็คิดว่าฉุกเฉิน แต่มารพ.ถูกประเมินว่าไข้หวัด ไม่ได้ฉุกเฉิน ดังนั้น มุมมองของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ก็มีความแตกต่างกัน

“ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญในการให้ความรู้ประชาชนว่า อะไรฉุกเฉิน อะไรไม่ใช่ และอะไรอยู่กึ่งๆกลางๆ ดังนั้น ต้องมีระบบให้คำแนะนำ ปรึกษาเรื่องเหล่านี้ได้ ซึ่งปัจจุบันมีสายด่วน 1669 แต่ส่วนใหญ่จะแจ้งการเจ็บป่วย ภาวะฉุกเฉินเอารถไปรับ แต่หากเรามีคอลเซนเตอร์ ให้ประชาชนเข้ามาสอบถาม เล่าอาการให้ฟังว่า แบบนี้ควรมาห้องฉุกเฉินได้หรือไม่ การมีคอลเซนเตอร์ที่ให้ข้อมูลตรงนี้จะช่วยลดปัญหาความแออัดที่ห้อง ER ได้”

นพ.สมศักดิ์ ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ยังมีประชาชนบางส่วนที่เขาทำงานเป็นกะ เสร็จงานกลางคืน หรือออกเวรเที่ยงคืน พอวันรุ่งขึ้นต้องทำงานเช้า  ดังนั้น หากเขาเจ็บป่วยก็ต้องมาหาหมอตอนที่เลิกงาน ซึ่งก็มีหลายเหตุผล โดยอาจต้องมีทางออกให้กลุ่มที่ต้องรักษานอกเวลาราชการเพิ่มเติม  แต่ที่สำคัญต้องให้ความรู้ประชาชนว่า การมารับบริการห้อง ER โดยที่เราไม่ฉุกเฉินจะเป็นความเสี่ยงในการทำให้ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการรักษาล่าช้าได้

(ข่าวเกี่ยวข้อง : "แพทย์ใช้ทุน" แม่ฮ่องสอน ขอ “หมอชลน่าน”  หนุนคนเจ็บป่วยไม่ฉุกเฉินเลี่ยงรับบริการนอกเวลา)

 

แนะรัฐปรับเวลา รพ.ให้บริการนอกเวลาราชการ หรือกรณีฉุกเฉิน 24 ชม.

เมื่อถามว่าทุกวันนี้มี อสม. มีระบบสุขภาพปฐมภูมิจะช่วยสื่อสารหรือให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้หรือไม่ อาจารย์สมศักดิ์ มองว่า  ไม่ค่อย เรียกว่าที่ผ่านมาไม่คอยตอบโจทย์เรื่องนี้ เพราะกลุ่มนี้ไม่ได้ดูเรื่องนี้โดยตรง ที่สำคัญชาวบ้านเวลาเจ็บป่วยก็ไม่ค่อยมีใครอยากไปรบกวน อสม. จะตัดสินใจไปรับบริการเอง ดังนั้น จึงคิดว่า รัฐบาลควรไปปรับให้เหมาะสม ทั้งในเวลาและนอกเวลาราชการ แต่เมื่อพูดแบบนี้ภาระงานบุคลากรก็เพิ่มขึ้นอีก แต่ความจริงตนเคยคิดว่า ทุกรพ.ทุกระดับในไทยไม่จำเป็นต้องเปิดตลอด 24 ชั่วโมง เพราะการเดินทางหลายแห่งเดินทางถึงกันได้ อย่างรพ.ไหนใกล้กันมากๆ ก็อาจมีบางแห่งไม่ต้องเปิดตลอด24 ชั่วโมง และใช้แพทย์ บุคลากรบางส่วนเข้ามาช่วยรพ.ที่จำเป็นต้องเปิด 24 ชม.แทน เพื่อเพิ่มอัตรากำลังอีกทางหนึ่ง ก็อาจช่วยได้ทางหนึ่ง

ร้านยาใกล้บ้าน อีกทางเลือกลดผู้ป่วยไม่วิกฤติเข้ารักษาแผนกฉุกเฉินนอกเวลาราชการ

“จริงๆ เรื่องคอลเซนเตอร์เป็นทางออกที่ดี รวมไปถึงร้านยาใกล้บ้าน ซึ่งปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีโครงการให้ประชาชนไปรับยาร้านยาใกล้บ้านได้ ตรงนี้หากส่งเสริมต่อเนื่องจะช่วยการเข้าถึงประชาชน และร้านยาบางแห่งเปิด 24 ชั่วโมงได้ รวมไปถึงระบบเทเลเมดิซีน ระบบปรึกษาทางการแพทย์จะช่วยลดความแออัดของรพ.ได้ แต่ก็ต้องมีระบบในการลดภาระหมอ หรือควรมีทีมแพทย์ ไม่ใช่ภาระของรพ.ใด รพ.หนึ่ง โดยอาจเป็นเขตสุขภาพละ 1 แห่ง หรือจังหวัดละแห่ง มีการบริการครบวงจร มีการจัดส่งยาได้ถึงบ้าน สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดภาระงาน ลดจำนวนคนไข้มาแผนก ER ได้ ”   

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ทุกรพ.ทำ เพราะจะมีเรื่องทรัพยากรบุคคล แต่อาจใช้วิธีจังหวัดละแห่ง หรือเขตสุขภาพละแห่ง ค่อยๆเริ่มก่อนขยายไปทั่วประเทศ ส่วนกรณีหมอครอบครัวจะมาช่วยได้หรือไม่นั้น  ขึ้นอยู่กับศักยภาพของหมอครอบครัวแต่ละแห่ง แต่จริงๆ หากเราเพิ่มบทบาทหน้าที่ของสายด่วน 1669  ในเรื่องการจัดส่งผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินแล้ว หากฟอร์มทีมทั้งปรึกษาเรื่องคำแนะนำอาการฉุกเฉิน และการฟอร์มทีมเทเลเมดิซีน หากทำได้ก็จะดีมาก

เชื่อเพื่อไทยทำได้ "ยกระดับบัตรทอง" แต่ต้องวางระบบป้องกันภาระงานล้น

“จริงๆ นโยบายสาธารณสุขของพรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับการยกระดับ30บาทรักษาทุกโรค โดยการใช้ระบบไอทีมาช่วยนั้น ย่อมทำได้อยู่แล้ว เนื่องจากปัจจุบันมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี การจะเดินหน้าเรื่องนี้จึงไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นนัดหมอออนไลน์ การใช้บัตรประชาชนใบเดียว ก็เชื่อว่าจะทำให้เห็นระบบสาธารณสุขที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ที่ห่วงคือ เรื่องการเลือกรพ.ของประชาชน การเพิ่มภาระงานบุคลากร ตรงนี้ต้องวางระบบให้ดี”

ส่วนนโยบายที่คิดว่าน่าจะทำได้ยาก คือ กรณี กทม.จะมีรพ.ให้ครบ 50 เขต ไม่น่าจะทำได้ 4 ปี จริงๆ ก็อาจต้องเป็นความร่วมมือระหว่างกทม. และกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวข้องต่างๆ จากนั้นค่อยๆเพิ่มสถานพยาบาลที่รักษาเบื้องต้นได้ก่อน เพราะการจะทำรพ.ขนาด 120 เตียงต้องมีความพร้อมเยอะมาก ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ไปอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้ง 50 เขต แต่รพ.เล็กๆ ที่รับเคสเบาๆ มาอยู่ใกล้บ้านก็น่าจะได้ ซึ่งจะช่วยลดการแออัดตรงโอพีดีของรพ.ขนาดใหญ่ได้

“ทุกข้อล้วนเป็นนโยบายที่น่าสนับสนุน เพียงแต่คิดว่าบุคลากรทางเด้านสาธารณสุขเราต้องเปิดใจ และปรับทัศนคติในการยกระดับบัตรทองจริงๆ ร่วมมือกับรัฐบาล ยิ่งการดูแลผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง อย่างเห็นว่าศูนย์บริการผู้สูงอายุเต็มไปหมด จริงๆ รัฐบาลอาจไม่ต้องเปิดเอง อาจมีงบฯสนับสนุนโดยการออกค่ารักษาพยาบาล แต่ให้ใช้ศูนย์ของเอกชนที่มีมาตรฐาน เป็นความร่วมมือให้เกิดขึ้น เป็นต้น” นพ.สมศักดิ์ กล่าวย้ำ

ช่วยบุคลากรอยู่ในระบบ เพิ่มค่าตอบแทนเป็นธรรม รัฐควรหนุนหากเงินบำรุงไม่พอ 

ปัญหาภาระงานบุคลากร อีกเรื่องที่สำคัญคือ ค่าตอบแทน เพราะเข้าใจว่าคนเป็นแพทย์ พยาบาล บุคลากรก็ค่อนข้างลำบากใจจะมาเรียกร้องค่าตอบแทนให้สูงขึ้น แต่ก็ต้องมองในแง่ภาระงานที่ทำ ความเสี่ยง ความรับผิดชอบ ดังนั้น หากรัฐบาล กับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มองว่า บุคลากรมีความรับผิดชอบที่สูง มีความเสี่ยงในการทำงานมาก หากมีการพิจารณาและปรับอัตราเงินเดือน ค่าตอบแทนให้เหมาะสมก็จะช่วยเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อถามว่าค่าตอบแทน เงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์ควรต้องเทียบเท่าหรือใกล้เคียงเอกชนหรือไม่ นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า  ไม่ต้องถึงขนาดเท่ากับเอกชน เพราะบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องเท่ากับเอกชน เนื่องจากข้าราชการก็มีสิทธิสวัสดิการต่างๆ ที่เอกชนไม่มี ซึ่งตนคิดว่าชดเชยได้ส่วนหนึ่ง เพียงแต่ว่า ต้องมีค่าตอบแทนเหมาะสม เช่น เงินเดือนต้องสูงขึ้นกว่าเดิมนิดหนึ่ง อาจเป็น 1.3 หรือ 1.4 เท่าของปัจจุบัน ยกตัวอย่าง พนักงานมหาวิทยาลัยออกนอกระบบก็จะสูงขึ้น และเงินเวรก็ขึ้นกับเงินบำรุงรพ. ทำให้เงินค่าเวรของรพ.ที่จ่ายให้บุคลากรมีความไม่เท่าเทียมกัน อย่างรพ.ที่มีเงินบำรุงมากก็จ่ายค่าเวร ค่าโอทีได้สูงกว่า รพ.ที่มีเงินบำรุงน้อย

ดังนั้น หากรัฐบาลไปช่วยสนับสนุนเงินค่าตอบแทนตรงนี้เพิ่มเติมได้ในอัตราที่เหมาะสม มีความเสมอภาคก็เป็นเรื่องที่ควรพิจารณา จะช่วยให้แพทย์ พยาบาล บุคลากรต่างๆอยู่ในระบบมากขึ้น

 

ข่าวเกี่ยวข้อง : 

-ข้อเสนอเร่งด่วน ดึง “แพทย์เกษียณ” กลับทำงานลดภาระหมออินเทิร์น - ชง 31 ข้อกู้วิกฤตสาธารณสุขไทย

-ปธ.อสม.แห่งประเทศไทย เผย 5 ก.ย. 66 นี้ เตรียมหารือระดับเขตทั่วปท.เพื่อเสนอต่อ “รมว.สธ.คนใหม่”

-Nurses Connect จ่อชง "รมว.สธ." คนใหม่ แก้ไขปัญหาชั่วโมงการทำงาน-ค่าตอบแทน  

 

**ติดตามข่าวสารความรู้ผ่านเฟซบุ๊กสำนักข่าว Hfocus ได้ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org