ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.สสจ.เชียงราย แจงกรณีแนวทางถ่ายโอนบุคลากร รพ.สต.ไปอบจ. หลังบางส่วนเข้าใจผิดคิดว่ายื้อ! ทั้งที่ไม่ใช่ แต่เป็นแนวทางดำเนินการ เพราะยังเหลือ 40 คนต้องรอรายชื่อโอนให้ตรงกันทั้งสองฝั่ง ส่วน 166 คนที่ต้องการถ่ายโอนดำเนินการเรียบร้อยแล้ว  

ขณะนี้มีการแชร์ในสังคมออนไลน์ถึงหนังสือจากกระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ลงนามโดย นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ถึงแนวทางการดำเนินการถ่ายโอนบุคลากรสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินีและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (วันที่2 ต.ค.66) โดยส่งถึง ผอ.โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง และสาธารณสุขอำเภอ ทุกอำเภอ ลงนามเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ปรากฎว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า หนังสือดังกล่าวมีใจความทำนองเป็นการยื้อบุคลากรที่ต้องการถ่ายโอนไปท้องถิ่น   

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม  นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ให้สัมภาษณ์ Hfocus ว่า หนังสือดังกล่าวเป็นแนวทางการดำเนินการ ทางกระทรวงฯไม่ได้มีการยื้อแต่อย่างใด เนื่องจากที่ผ่านมามีบุคลากรของทางจังหวัดที่ผ่านการรับรองตามขั้นตอนแล้ว 166 ราย ซึ่งดำเนินการถ่ายโอนไปอบจ.ได้ตามปกติ แต่ยังมี 40 รายที่ให้กลับมาปฏิบัติงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขตามเดิม ตามเงื่อนไขในหนังสือก่อน เนื่องจากกลุ่มนี้ยังไม่ได้ผ่านการรับรองของกระทรวงสาธารณสุข เพราะรายชื่อระหว่างกระทรวงฯ และท้องถิ่นยังไม่ตรงกัน ซึ่งโดยหลักรายชื่อต้องตรงกันทั้งสองฝั่งก่อน เมื่อชื่อตรงกันก็จะดำเนินการตามขั้นตอนถ่ายโอนต่อไป ไม่ได้ยื้อหรือห้ามแต่อย่างใด

 “หนังสือดังกล่าว เป็นแนวทางการดำเนินการ ทั้งในส่วนของบุคลากรที่ไม่ประสงค์จะถ่ายโอน และประสงค์จะถ่ายโอน ซึ่งอย่างหลังเป็นกรณีรายชื่อที่ยังไม่ตรงกันระหว่างสองฝั่ง โดยกรณีถ้าไม่อยากไปก็ให้ปฏิบัติงานอยู่กับเราก่อนตามแนวทางที่สำนักงานปลัดกระทรวงฯกำหนด แต่ถ้าไม่มีชื่อแล้วอยากไปก็ต้องรอเลขว่างของทางอบจ. เพื่อโอนย้าย แต่ตำแหน่งเดิมยังอยู่สธ. เราไม่ได้ห้าม แต่มีเรื่องขั้นตอน” นพ.วัชรพงษ์ กล่าว

ใจความสำคัญของหนังสือสสจ.เชียงราย ให้แนวทาง ดังนี้

1.ให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.)ในฐานะผู้บังคับบัญชาของผู้ประสงค์ถ่ายโอนแจ้งบุคลากรตามรายชื่อให้ไปรายงานตัวเพื่อปฏิบัติราชการที่ อบจ. ภายในวันที่ 2 ต.ค. 2566 และรายงานต่อนายแพทย์ สสจ. ต่อไป 

2. ให้ สสอ. สั่งการให้บุคลากร ทั้งข้าราชการ พนักงานกระทรวง และลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน ไม่ประสงค์ถ่ายโอนและปฏิบัติราชการอยู่ใน รพ.สต. ถ่ายโอนปีงบประมาณ 2567 ให้รายงานตัว เพื่อปฏิบัติราชการในหน่วยงานภายใต้สังกัดของ สสอ. หรือ รพ.สต. ที่ไม่ประสงค์ถ่ายโอน และสสอ. ไปพลางก่อน เพื่อบรรเทาความเสียหายต่อบุคลากรรวมทั้งคำนึงถึงผลกระทบต่อการบริการประชาชนเป็นที่ตั้ง และให้รวบรวมรายชื่อรายงานต่อนายแพทย์ สสจ. ต่อไป

3. ให้ สสอ. แจ้งข้าราชการที่ประสงค์ขอช่วยราชการใน รพ.สต. เดิมที่ปฏิบัติราชการอยู่ ให้ช่วยปฏิบัติราชการที่เดิมไปพลางก่อน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน และรวบรวมรายชื่อรายงานต่อนายแพทย์ สสจ. ต่อไป ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอเรื่องพิจารณาอนุมัติให้ภายหลัง

4. ให้ สสอ. แจ้งข้าราชการที่มาช่วยราชการหรือช่วยปฏิบัติราชการ ที่ รพ.สต. ที่จะถ่ายโอนปีงบประมาณ 2567 และไม่ประสงค์ถ่ายโอน พร้อมทั้งรวบรวมรายชื่อรายงานต่อนายแพทย์ สสจ. เพื่อส่งตัวกลับต้นสังกัดเดิม ต่อไป

5. ให้ สสอ. ผู้บังคับบัญชาผู้ประสงค์ถ่ายโอนทุกแห่งแจ้งบุคลากรที่เป็นข้าราชการตามรายชื่อว่าแฟัม ก.พ. 7 และแฟัมประวัติ สสจ. จะเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งให้กับ อบจ. เอง ภายใน ธ.ค. 2566

6. ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน และ สสอ. ผู้บังคับบัญชาผู้ประสงค์ถ่ายโอนทุกแห่งแจ้งบุคลากรตามรายชื่อให้ปฏิบัติราชการในหน่วยงานเดิมสังกัด สป.สธ. ซึ่งวันที่ 2 ต.ค. 2566 ยังคงเป็นบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จนกว่าจะมีคำสั่งหรือข้อสั่งการฉบับใหม่ กรณีบุคลากรที่ไม่ปฏิบัติตามข้อสั่งการนี้ จะถือว่าเป็นการขาดราชการ ซึ่งจะส่งผลให้มีความผิดทางวินัย รวมถึงหากมีบุคลากรไม่ปฏิบัติตามให้ผู้บังคับบัญชาระดับหน่วยงาน รายงานมายัง สสจ. เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นรายกรณีไป