ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักศึกษาปธพ.รุ่นที่ 10 ร่วมรณรงค์งดใช้ความรุนแรงในสถานพยาบาล ชี้ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เร่งการพิจารณาคดีให้รวดเร็ว และนำเสนอผลการตัดสินบทลงโทษผ่านสื่อมวลชนเพื่อป้องปรามเหตุในอนาคต รวมถึงเพิ่มบทลงโทษ

เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 66 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ฯ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ มีการจัดงานประชุมวิชาการประจำปี 2566 แพทยสภา - ปธพ.ครั้งที่ 10 โดยแพทยสภาร่วมกับสถาบันพระปกเกล้าได้จัดอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลทางการแพทย์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปธพ.) ขึ้น  ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อร่วมพัฒนาวงการแพทย์ และระบบสาธารณสุขของประเทศไทย โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรและเข็มเกียรติคุณ แก่นักศึกษาปธพ.รุ่นที่ 10 ที่สำเร็จการศึกษา จำนวน 143 คน 

โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และสภานายกพิเศษแพทยสภา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อ.วิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา พล.อ.ท.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการมูลนิธิธรรมาภิบาลทางการแพทย์ และผู้อำนวยการหลักสูตร ปธพ. พร้อมด้วยนักศึกษา ปธพ.รุ่น 10 เข้าร่วมพิธีสำเร็จการศึกษา และเยี่ยมชมบอร์ดนำเสนอผลงานวิจัยของนักศึกษาและมีกิจกรรมการนำเสนองานวิจัยของนักศึกษา ปธพ.รุ่นที่ 10 จำนวน 10 หัวข้อวิชาการอีกด้วย

ในหัวข้อการเสวนาผลงานวิชาการเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการ กลุ่มที่ 4 : ความรุนแรงภายในสถานพยาบาลต่อบุคลากรทางการแพทย์และข้อเสนอทางมาตรการกฎหมายเพื่อลดความรุนแรง โดย ผศ.พญ.จรินรัตน์ สิริรัฐวรรณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า ในเรื่องของความรุนแรงในสถานพยาบาล เราต้องการศึกษาพฤติกรรมผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ว่าได้รับผลกระทบอย่างไรและผู้บริหารมีการรับรู้เพียงใด ในช่วงที่ทำวิจัยเนื่องจากเป็นช่วงสถานการณ์โควิดทำให้อุบัติการต่ำอยู่ที่ 18.7% ซึ่งที่ผ่านมาอยู่ที่ 40% ซึ่งพฤติกรรมบริการทำให้เราทราบว่าสิ่งที่คนไข้ไม่พึงพอใจในการได้รับบริการ คือ การรอนาน การถูกแซงคิว หรือการใช้วาจาที่ไม่ดี แต่เรื่องมาตรฐานการบริการถือว่าพอใช้ได้ 

ในส่วนของบุคลากรหรือฝ่ายการพยาบาลที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง คือ ผู้ป่วยเกิดการทะเลาะวิวาทกันในโรงพยาบาล เกิดการเมาสุรา รวมถึงผู้ป่วยมีการพกอาวุธเข้ามาในสถานพยาบาลอีกด้วย ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อวัสดุคุรุภัณฑ์ภายในโรงพยาบาล อีกทั้งยังทำให้ผู้รับบริการได้รับบาดเจ็บรวมถึงบุคลากรเองก็โดนทำร้ายเช่นกัน ซึ่งสถานการณ์ต่างๆความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้ผู้ป่วยหวาดกลัวและไม่มีสติในการได้รับบริการและบุคลากรเสียขวัญกำลังใจในการให้บริการ

"สิ่งที่เกิดขึ้นตามกฏหมายนั้นจะต้องรอพิสูจน์ทราบความผิดก่อนถึงจะมีการเยียวยา งานวิจัยนี้จึงมีข้อเสนอในเรื่องของการปรับปรุงการให้บริการทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ"

เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัย"อย่างที่เคยมีเหตุการณ์ต่างชาติเข้ามายึดโรงพยาบาลจับเจ้าหน้าที่และคนไข้ในโรงพยาบาลเป็นตัวประกัน ซึ่งตรงนี้ อาจไม่เกิดความปลอดภัย ฉะนั้น การปรับปรุงต้องมีแผนการซ้อมรับเหตุการณ์กรณีฉุกเฉินที่เกิดขึ้น จะช่วยทำให้ลดความรุนแรงและที่สำคัญเราจะต้องประเมินผู้ป่วยประเมินสถานการณ์และระงับเหตุไม่ให้บานปลาย รวมถึงนโยบายการเยียวยาไม่ทำให้ผู้ที่ทำงานขาดขวัญและกำลังใจเราต้องมีความเชื่อมั่นต่อกันและสร้างวัฒนธรรมในการใช้บริการโรงพยาบาลที่ดี

"โรงพยาบาลควรจะเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนให้ทุกคนเข้าใจและให้อภัยกันไม่ใช้ความรุนแรง" แต่ในขณะเดียวกันผู้บริหารมองว่าจริงๆการกำหนดเขตปลอดภัยโดยการให้รปภ. สามารถเข้ามาดูแลได้อย่างเต็มที่และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เรื่องนี้มองว่า บุคคลที่จงใจพกอาวุธมาโทษควรจะหนักขึ้น ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เร่งการพิจารณาคดีให้รวดเร็ว และนำเสนอผลการตัดสินบทลงโทษผ่านสื่อมวลชนเพื่อป้องปรามเหตุในอนาคต รวมถึงเพิ่มบทลงโทษ หากการดำเนินตามมาตรการข้างต้นยังไม่บรรลุการลดเหตุความรุนแรงในสถานพยาบาล อีกทั้งการรณรงค์ต่อเนื่องจะช่วยกันต่อต้านความรุนแรงได้จะทำให้สังคมปลอดภัยด้วย"

นอกจากนี้ อยากให้บุคลากรในโรงพยาบาลได้ฝึกพฤติกรรมการประเมินสถานการณ์ เข้าใจว่างานหนักมาก ดังนั้นอยากให้เข้าใจคนไข้เข้าใจความเจ็บป่วยและที่สำคัญพยายามใช้การสื่อสารที่ดีใช้กาย วาจาใช้รอยยิ้ม ใช้ใจที่บริสุทธิ์เข้าไปช่วยคนไข้อย่าใช้อารมณ์ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของการฝึกตนจริงๆ ทั้งนี้วันที่ 24 พฤศจิกายน เราจะมีจัดมหกรรมในเรื่องของการลดความรุนแรงในสถานพยาบาล รวมถึงมีการสอนป้องกันตัวและวิธีสื่อสารที่ดี เรามาร่วมมือกันทำอย่างไรให้โรงพยาบาลในประเทศไทย นั้นปลอดภัยทุกโรงพยาบาล ผศ.พญ.จรินรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

“หมอชลน่าน” เผย 9 ปัจจัยมีผลต่ออนาคตสุขภาพปี 2575 ชูนโยบาย 10 Quick Win ครอบคลุมมิติสุขภาพ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง