ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอชลน่าน” ร่วมบรรยายพิเศษ “อนาคตระบบสาธารณสุขไทย” ชู 9 ปัจจัยมีผลต่อมิติสุขภาพ อีก 10 ปีต้องวางแผนดำเนินการป้องกัน ลดอัตราเด็กเกิดน้อย เตรียมพร้อมโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ ขจัด TB ให้หมดในปี 2573 พร้อมสร้างสุขภาพจิตที่ดี ลดปัญหาสังคม ความเครียดทางการเมือง ชูนโยบาย 13 ประเด็น 10 ควิกวินมิติสุขภาพภาพรวม

 

9 ปัจจัยที่ส่งผลต่ออนาคตต่อระบบสุขภาพไทยที่พึงประสงค์

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษแพทยสภา  บรรยายพิเศษเรื่อง “อนาคตระบบสาธารณสุขไทย” ซึ่งจัดโดยแพทยสภา ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลสำหรับผุ้บริหารทางการแพทย์ ซึ่งมีการไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กแพทยสภา

โดยนพ.ชลน่าน กล่าวตอนหนึ่งว่า  ตนขอยกงานวิจัยในโครงการมองไกลวิจัยสุขภาพที่ทำเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการวิจัยแห่งชาติ(สกวช.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.)  ให้ทุนไป โดยประเมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพ พบว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า คือในปี 2575 ซึ่งผ่านมาแล้วครึ่งทางแล้ว โดยพูดถึง 9 ปัจจัยที่ส่งผลต่ออนาคตต่อระบบสุขภาพไทยที่พึงประสงค์

โดยหลักมี 9 ปัจจัยที่มีผลต่ออนาคตสุขภาพ ประกอบด้วย 1.ประชากร สังคมผู้สุงอายุ อัตราการเกิดลดลงเรื่อยๆ โดยปี 2565 น่าหวั่นวิตกมาก เพราะอัตราการเสียชีวิตเท่าๆกับอัตราการเกิดคือ 5 แสนกว่าๆ น้อยกว่าอัตราตายด้วย หากไม่แก้ไขจะยิ่งเกิดปัญหา 2.การเมือง  3.เศรษฐกิจ  4.การขนส่ง รถยนต์เป็นพาหนะที่สำคัญ ปริมาณการขนส่งคนและสินค้าเพิ่มมากขึ้น 5.อาหารและเกษตรกรรม ความต้องการอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์มากขึ้น พืชอาหารถูกนำไปใช้ผลิตพลังงานทางเลือก

6.โรคอุบัติใหม่/โรคอุบัติซ้ำ/โรคระบาด ปัญหาจากเชื้อดื้อยา โรคระบาดใหญ่เกิดขึ้นบ่อย แต่มีความรุนแรงไม่มาก ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้ผลดีต่อการป้องกันและควบคุมโรค 7.เทคโนโลยี นาโนเทคโนโลยีและเทคโนโลยีชีวภาพมีความสำคัญมากขึ้น มีเทคโนโลยีที่เพิ่มความเท่าเทียมของคน มีเทคโนโลยีเฉพาะบุคคล 8.สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และทวีความรุนแรง อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของภาคต่างๆ สูงขึ้น ทรัพยากรธรรมชาติทางน้ำหายไป มลพิษโดยรวมมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองและอุตสาหกรรม และ9.ลักษณะเฉพาะของคนไทย    

“อย่างเรื่องโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำนั้น เราเคยนำเสนอในที่ประชุมยูเอ็น (UN) เกี่ยวกับเรื่องโรควัณโรค หรือทีบี ซึ่งเป็นปัญหามาก โดยเฉพาะในเรือนจำ ซึ่ง TB หากเราสามารถกำจัดวัณโรคได้ภายในปี 2573 จะทำให้ตัวชี้วัดเรื่องการเฝ้าระวังควบคุมโรคขยับขึ้นในระดับโลก ตอนนี้เรายังติดตัวแดง 61 ตัว เป็นเพราะทีบีและอุบัติเหตุจราจร จึงต้องแก้ 2 ตัวนี้จะทำให้เราขึ้นมายืนได้ต่ำกว่าระดับ 5 ของโลก จากปัจจุบันมีศักยภาพระดับ 6 ในการรับมือภาวะคุกคามมิติสุขภาพต่างๆ ดังนั้น  9 ปัจจัยนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อระบบสุขภาพ” นพ.ชลน่าน กล่าว

โซเชียลเฮลธ์ ความเครียดทางการเมือง อีกปัจจัยส่งผลมิติสุขภาพ

นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า ในอนาคต 10 ปีข้างหน้าหากเติมเต็มสิ่งเหล่านี้จะเป็นมิติสุขภาพในอนาคตได้ ยกตัวอย่าง จากงานวิจัยคือ ลักษณะเฉพาะของคนไทย เป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพเชิงสังคม ลักษณะนิสัย วิถีชีวิต ไม่มีวินัย ไม่มีระเบียบ ชอบแหกกฎ นี่เป็นเรื่องสำคัญ อย่างเด็กอายุ 14 ปีไปยิงคนในศูนย์การค้า สะท้อนมิติสุขภาพจิต สติปัญญา โซเชียลเฮลธ์ หากแก้แต่ปลายเหตุคงยาก อย่างเรื่องความเป็นพี่น้อง ความรักกันหายไป

อย่างคนแสดงออกเชิงสัญลัษณะ ชู 3 นิ้วก็โดน ทั้งที่เขาแสดงออกถึงภราดรภาพ ความรักกันฉันพี่น้อง เอื้ออาทร ช่วยเหลือกัน ดังนั้น มิติทางการเมืองมีผลต่อมิติสุขภาพมาก โดยเฉพาะสุขภาพจิต ยิ่งสถานการณ์การเมืองในโซเชียลฯ มีผลต่อพี่น้องคนไทยมหาศาล และการตัดสินการเลือกพรรคไหนก็มีส่วน ยิ่งแพลตฟอร์มโซเซียล

รมว.ชลน่าน ชู10 ควิกวิน(Quickwin) 100 วัน นโยบายมิติสุขภาพ

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในเรื่องฐานะ ความยากจนมีผลสุขภาพเช่นกัน คนชั้นกลาง คนขาดโอกาส กลุ่มเปราะบาง รวมไปถึงปัจจัยที่อยู่ภายในของคน การคิดวิเคราะห์ อย่างเมื่อได้รับสิ่งเร้าเข้ามา โดยเฉพาะคนไทยยุคใหม่ๆ อย่างเด็กรุ่นใหม่เมื่อมีอะไรเข้ามา จะมีปฏิกิริยาตอบสนองก่อนทันที หากเราจัดการประเด็นตรงนี้ได้ จะย่อมส่งผลดีต่อมิติสุขภาพได้

“ในเรื่องมิติสุขภาพหนีไม่พ้นตั้งแต่ในท้อง ก่อนเกิด ขณะเกิด วัยเด็ก วัยทำงาน วัยชรา อย่างนโยบายใหม่ของกระทรวงฯ เราเอาเรื่องมิติสุขภาพมาแปลงเป็นนโยบายกระทรวงสาธารณสุขเป็น 13 ประเด็นนโยบายหลัก และแปลงเป็น 10 ควิกวิน(Quickwin) เพื่อเร่งรัดให้เห็นผล 100 วัน ซึ่งเสนอต่อครม.แล้ว    และต้องขอบคุณท่านปลัดสธ. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ที่ร่วมขับเคลื่อนเรื่องนี้” รมว.สธ.กล่าว