ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แผน 4 ระยะขับเคลื่อน ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ ประชาชนไม่ต้องรอคิวอีกต่อไป ลดภาระบุคลากรไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อน มีบิ๊กดาต้าด้านสุขภาพ จัดระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ พร้อมตั้งศูนย์ติดตามเฝ้าระวังหลังคิกออฟเฟสแรก 4 จังหวัดนำร่อง จัดระบบป้องกันชอปปิ้งยา  ส่วน สปสช.เปิดช่องทางสอบถามสารพัดปัญหาบัตรปชช.ใบเดียว

 

คิกออฟไปแล้วเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา สำหรับการยกระดับ “30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ข้ามทุกเครือข่ายทั้งรัฐและเอกชน ระยะที่ 1  นำร่อง 4 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ด แพร่ เพชรบุรี และนราธิวาส

(อ่านข่าว :  นายกฯ คิกออฟ ’30 บ.รักษาทุกที่ด้วยบัตรปชช.ใบเดียว’  4 จังหวัดนำร่อง)

จุดเปลี่ยนสำคัญ คือ การเชื่อมข้อมูลโครงข่ายการบริการทั้งหมด ทั้งภาครัฐและเอกชน ร้านยา คลินิกต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาการเดินทางของผู้ป่วย ไม่ต้องเดินทางไกลไปรพ.ใหญ่ ไม่ต้องรอคิวนานๆ ที่สำคัญไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัวอีกต่อไป  ซึ่งผู้ป่วยสามารถเลือกรับยาได้ที่หน่วยบริการใกล้บ้าน ทั้งรพ.ชุมชน รพ.สต. หรือคลินิกเอกชน และร้านยา อย่างหากต้องเจาะเลือด ก็สามารถรับบริการที่แลปของคลินิกที่ร่วมโครงการได้ โดยทั้งหมดไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เนื่องจากอยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง

ส่วนระยะที่ 2   เริ่มเดือนมีนาคม 2567  นำร่องใน  8 จังหวัด ได้แก่  เพชรบูรณ์  นครสวรรค์  หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา สิงห์บุรี สระแก้ว และพังงา

ระยะที่ 3 เริ่มเดือนเมษายน 2567 นำร่องใน 4 เขตสุขภาพ ได้แก่  เขตสุขภาพที่ 1 เขตสุขภาพที่ 4 เขตสุขภาพที่ 9 และเขตสุขภาพที่ 12

ระยะที่ 4  ขยายครอบทุกจังหวัดภายในสิ้นปี 2567

จากนโยบายนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำตลอดว่า เป็นการอัปเกรด 30 บาทรักษาทุกโรค ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการมาตลอด กระทั่งรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกฯ จึงหยิบยกนโยบายดังกล่าว มายกระดับชนิดอำนวยความสะดวก ลดปัญหาอุปสรรคจากเดิมที่กระทบต่อผู้รับบริการ คือ การรอคิวนาน ความแออัดในรพ. ขณะที่ผู้ให้บริการก็มีภาระงานมากขึ้น เพราะประชาชนเข้าถึงบริการมาก แต่หลังจากนี้จะลดปัญหาต่างๆ ลง ด้วยการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ 

หลักๆ  ใช้เพียง “บัตรประชาชนใบเดียว” จะเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพประชาชนผ่าน Health ID บนมาตรฐานการพิสูจน์ตัวตนและยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (IAL และ AAL) อำนวยความสะดวกให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นพื้นฐานในการเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับสถานการณ์สุขภาพของประชาชน ข้อมูลทั้งหมดก็จะเชื่อมโยงกันภายใต้ความปลอดภัยทางไซเบอร์

เป้าหมายหลัก เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน-ลดภาระบุคลากร

โดยเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องลำบากเดินทางไกล ด้วยการนัดหมอจากบ้าน นัดคิวออนไลน์ และบริการเทเลเมดิซีน เรียกว่าเป็นการพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิ หรือคนไข้สามารถเลือกรับยาร้านยาใกล้บ้าน หากต้องเจาะเลือดก็ยังสามารถดำเนินการผ่านคลินิกใกล้บ้านที่ร่วมโครงการ  

ขณะที่บุคลากรผู้ให้บริการก็จะช่วยลดภาระงานซ้ำซ้อน เพราะมีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพแบบไร้รอยต่อ ผู้ให้การรักษาสามารถเรียกดูประวัติการรักษาออนไลน์ที่เชื่อมโยงข้อมูลการรักษาจากทุกหน่วยบริการที่ผู้ป่วยเคยเข้ารับการรักษาเพิ่มความถูกต้อง แม่นยำ ทันเวลา เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการดูแลรักา ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลได้ดียิ่งขึ้น

มีระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์

ส่วนเรื่องความปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยนั้น  นพ.ชลน่าน ให้ข้อมูลว่า  เรื่องนี้มี 2 ระบบ คือ 1.ความปลอดภัยเชิงบุคคลนั้น ผู้ที่มายืนยันสิทธิการรับบริการในแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม หรือแอปฯของ รพ. ซึ่งผู้ป่วยเองสามารถเปิดหรือปิดการเข้าถึงข้อมูลได้ หรือปิดเปิดสิทธินั่นเอง  ส่วน 2.ความปลอดภัยเชิงระบบ สธ.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งวางระบบไว้ให้เกิดความปลอดภัยระดับหนึ่ง อย่างการนำร่อง 4 จังหวัดมีการวางความปลอดภัยไว้ถึง 3 ชั้น เพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ โดยจะมีการสำรองข้อมูลผู้ป่วย การตรวจจับแรนซัมแวร์ และแก้ไขปัญหาเมื่อโดนโจมตี เป็นต้น

ตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามนโยบายบัตรปชช.ใบเดียว

“ไม่เพียงแต่เรื่องความปลอดภัยของข้อมูลที่เข้มงวดแล้ว ในเรื่องการรับบริการต่างๆ อย่าง 4 จังหวัดนำร่องนั้น ขณะนี้ ผมได้มอบหมายให้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามนโยบายบัตรประชาชนใบเดียว เพื่อดูว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคใดในการดำเนินงานอย่างไรคาดว่า 1 สัปดาห์ ก็น่าจะเห็นทิศทาง” นพ.ชลน่าน กล่าว

อีกทั้ง โครงการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องใบส่งตัว เพราะมีข้อมูลว่า ผู้ป่วยเป็นใคร ป่วยอะไร มีระบบเชื่อมโยงข้อมูลที่เอื้อต่อการเข้าถึงข้อมูลที่ผู้ป่วยแต่ละคนไปใช้บริการ  จะช่วยลดแรงจูงใจในการชอปปิ้ง รพ. ได้ เช่น ผู้ป่วยไปคลินิกเอกชนมาในช่วงเช้า แล้วมาหาหมอใน รพ. อีกครั้ง ระบบก็จะแจ้งว่าผู้ป่วยคนนี้ได้รับบริการอะไรไปบ้าง ได้ยาอะไรแล้วบ้าง ซึ่งคณะกรรมการก็มีความเห็นถึงเรื่องนี้ว่าในอนาคตอาจต้องมีระบบการตรวจสอบว่าผู้ป่วยมีการเข้ารับบริการมากผิดปกติหรือไม่ ซึ่งอาจจะนำมาสู่การพิจารณาว่า ใน 1 คน 1 โรคจะรับบริการได้กี่ครั้ง หากเกินกว่านั้นนั้นจะต้องจ่ายเอง แต่ย้ำว่า ตรงนี้ยังไม่เกิดขึ้น เป็นเพียงเรื่องสมมติฐานเท่านั้น เพื่อพัฒนาระบบให้เข้มแข็ง แต่หากคนที่ป่วยจริงๆ แล้วรักษาไม่หายจริงๆ ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง ในส่วนนี้ก็ยังได้สิทธิเหมือนเดิม

Digital Health Platform หลักของประเทศ

นโยบายนี้ จึงเป็นการพลิกโฉมระบบสาธารณสุขของไทยอีกครั้ง ทำให้มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า  (Big Data) ด้านสุขภาพของประเทศสามารถยกระดับมาตรฐานการบริการด้วย AI  ทำให้ระบบสุขภาพไทยพัฒนาขึ้นไปอีกระดับ และมี Digital Health Platform หลักของประเทศ ที่ทันสมัย ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านสุขภาพ 1 ใน 3 ของเอเชีย

สอบถามข้อมูล 30 บาทรักษาทุกที่ได้สายด่วน 1330

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจาก นพ.ชลน่าน สั่งการให้กระทรวงฯ ตั้งศูนย์ติดตามประเมินผลโครงการแล้ว ยังมอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จัดช่องทางพิเศษเพื่อบริการประชาชน โทร. 1330 เพื่อสอบถามข้อมูลนโยบาย 30 บาทอัปเกรด พร้อมกันนี้ได้แยกช่องทางสอบถามให้บริการข้อมูล ช่วยเหลือ สอบถามปัญหาการใช้สิทธิ ขั้นตอนการใช้บริการ เข้ารักษาที่ไหนได้บ้าง รายจังหวัดทั้ง 4 จังหวัดนำร่อง ดังนี้ จ.แพร่ โทร. 1330 กด 61, จ.ร้อยเอ็ด โทร. 1330 กด 67, จ.เพชรบุรี โทร. 1330 กด 65 และ จ.นราธิวาส โทร. 1330 กด 612

อย่างไรก็ตาม สำหรับ 4 จังหวัดนำร่อง ประชาชนในพื้นที่สามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการเอกชน  ได้ที่เว็บไซต์ สปสช. หรือคลิกที่นี่

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :  ปี 2567 สปสช.ปรับโฉมใหม่รับ ‘บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่’ จ่ายเงินหน่วยบริการเร็วสุดใน 3 วัน