ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาฯ สภาการสาธารณสุขชุมชน ตัดพ้อรัฐบาลเมิน "วิชาชีพสาธารณสุขชุมชน" ไร้ชื่อใน "บอร์ดพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ" ชี้!ไม่ใช่แค่วิชาชีพสาธารณสุขชุมชนและแพทย์แผนไทยที่ขาดหายไปแต่มีองค์กรอื่นด้วย มั่นใจหากทุกหน่วยงานมีส่วนร่วมจะเสนอปัญหาครบทุกมิติ และมีนโยบายออกมาครอบคลุมได้อย่างแท้จริง

ตามที่มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ’ ลงนามโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา  เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากแวดวงสาธารณสุข โดยเฉพาะสภาการสาธารณสุขชุมชนและสภาการแพทย์แผนไทย ว่า ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่หนึ่งในคกก.พัฒนาระบบสุขภาพฯ  ซึ่งถือเป็นวิชาชีพที่อยู่กับสังคมและคนไทยมาตลอดนั้น

ล่าสุดวันที่ 10 ต.ค. 2566 นายอเนก ทิมทับ เลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ตามที่มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี โดยระบุข้างต้นว่า รัฐบาลมีนโยบายสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีตามความปลอดภัยและนำความภาคภูมิใจสู่ประชาชนไทยทุกคนโดยเฉพาะการสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพสามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่รวมถึงสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในระยะยาวให้เกิดความเท่าเทียมเป็นธรรมของทุกคนทุกกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

หากมองเรื่องของระบบสุขภาพรวมและประโยชน์สูงสุดของประชาชน เกิดคำถามว่าทำไมหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบกับสุขภาพประชาชนโดยตรงถึงไม่ได้เป็นหนึ่งใน คกก.พัฒนาระบบสุขภาพฯ ซึ่งไม่ใช่แค่วิชาชีพสาธารณสุขชุมชนและแพทย์แผนไทยที่ขาดหายไป อาจจะมีองค์กรหรือหน่วยงานอื่นด้วยซ้ำที่น่าจะเกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ แต่โดยส่วนตัวเราเชื่อมั่นว่า “ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ” ท่านมีวิสัยทัศน์ในเรื่องของสุขภาพและมองในทุกวิชาชีพให้เกิดความเท่าเทียมในการทำงาน 

หากมาดูในเรื่องที่ว่า "สามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่" รวมทั้งเกิดความมั่นคงในระบบสุขภาพนั้น มองว่าวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนที่มีหน้าที่ดูแลเรื่อง ชุมชน ครอบครัว บุคคล และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นวิชาชีพที่ตรงที่จะดูเรื่องโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำหรือภัยสุขภาพและภัยธรรมชาติต่างๆที่ได้เกิดกับมนุษย์ อย่างเช่น กรณีเกิดการแพร่ระบาด โควิด-19 มีนักสาธารณสุขที่อยู่ในระดับชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัดหรือระดับประเทศ เราช่วยเหลือกันจนสามารถลดผลกระทบที่ทำให้ไม่เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้นได้ 

เมื่อพูดถึงเรื่องคุณภาพชีวิต มองว่าบุคลากรที่เป็นด่านหน้าจริงๆ อย่างหมออนามัย ที่อยู่ตามชุมชนตามหมู่บ้าน ส่วนใหญ่ทุกคนจะเข้าใจปัญหาจริงๆ อาจไม่ใช่ปัญหาในเชิงวิชาการทั้งหมด ซึ่งคนกลุ่มนี้จะสามารถไปแปลงนโยบายนำไปสู่การปฏิบัติหรือแปลงนโยบายนำไปสู่การแก้ปัญหาให้กับกลุ่มคนรากหญ้าจริงๆ

ถ้าหาก "นักสาธารณสุขชุมชน" ได้เข้าไปมีส่วนร่วม จะสามารถนำเสนอปัญหาหรือสิ่งที่นักวิชาการที่อยู่ระดับสูงขึ้นไปอาจมองไม่เห็นได้ ซึ่งจะเป็นเรื่องดีที่สามารถเข้ามาเติมเต็มกัน เพราะ"ปัญหารากหญ้า" ทุกรัฐบาลก็พูดถึงอยู่ตลอดว่ายังมีปัญหาให้เห็นอยู่ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ควรจะถูกนำเสนออย่างเป็นทางการให้เป็นปัญหาระดับชาติ ซึ่งปัจจุบันเรื่องของความมั่นคงด้านสุขภาพไม่ใช่เป็นเพราะโรคใดโรคหนึ่งแต่รวมไปถึงภัยที่เกิดจากธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและการกระทำของมนุษย์นั่นเอง หรือแม้กระทั่งภัยที่เกิดจากการใช้ชีวิตของตัวเราเองซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมาเช่นกัน

"หากทุกหน่วยเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติด้วยกัน จะสามารถสังเคราะห์ปัญหาต่างๆให้มีครบทุกมิติ และจะสามารถมีนโยบายที่ออกมาครอบคลุมได้อย่างแท้จริง"นายอเนก กล่าวทิ้งท้าย