ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุข เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ เห็นชอบแนวทางทำงานช่วง “เปลี่ยนผ่าน” ถ่ายโอนรพ.สต.ไปอบจ. เพื่อไร้รอยต่อ ลดปัญหาความไม่เข้าใจ  ชู 3 วิธีช่วยบุคลากรไม่ถ่ายโอน “เกลี่ยตำแหน่ง- เออลี่รีไทร์-ช่วยราชการ” พร้อมเสนอ Health Station สร้างสุขภาพดีให้ประชาชนในพื้นที่

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กทม. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ Quick Win (แผนปฏิบัติการเร่งรัด) ยุคเปลี่ยนผ่าน “ก้าวสู่ระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณภาพ 30 บาท รักษาทุกโรคยุคใหม่” โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คณะผู้บริหาร สาธารณสุขอำเภอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม 900 คน

หาทางออกถ่ายโอนรพ.สต.ไม่ให้กระทบประชาชน

นพ.ชลน่าน กล่าวเปิดงานว่า วันนี้เป็นโอกาสที่ดีในการสื่อสารถึงนโยบายควิกวินหรือแผนปฎิบัติการเร่งรัดเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ หลายนโยบายที่เราประกาศภายใน 100 วันผลสัมฤทธิ์ต้องจับต้องได้พี่น้องประชาชนเข้าถึง  โดยนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ 30 บาทพลัสจะมีเรื่องการแพทย์ปฐมภูมิ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการให้บริการประชาชนในชุมชนในพื้นที่นั้นๆ  ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายการดูแลสาธารณสุขมูลฐาน หรือระบบสุขภาพปฐมภูมิ หรือ Primary health care  ยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไปองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) เราจะทำอย่างไรไม่ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ

“ผมได้ข้อมูลมาจากประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย นำข้อมูลของจ.สุพรรณบุรี ที่มีการสรุปการรับบริการผู้ป่วยนอกพบว่าจาก 1.3-1.5แสนราย หลังจากถ่ายโอนรพ.สต. เมื่อช่วงปี 2566  พบว่าตัวเลขผู้ป่วยนอกไปโป่งที่โรงพยาบาลชุมชนสูงขึ้น ตรงนี้จะทำอย่างไร เพราะเมื่อเรามีนโยบายยกระดับการบริการการแพทย์และสาธารณสุข การบริการต้องไร้รอยต่อ แต่ หากการบริการไปกองอยู่สถานบริการจุดใดจุดหนึ่ง คุณภาพการบริการย่อมไม่ดีแน่ ปัญหาระหว่างผู้บริการและผู้ให้บริการเกิดขึ้นแน่นอน " รมว.สธ.กล่าว

จัดกลไกดำเนินการช่วงเปลี่ยนผ่านถ่ายโอน

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สิ่งสำคัญเราต้องหาแนวทางวิธีในการดำเนินการ “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” ขอย้ำว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านเป็นสิ่งที่สำคัญมาก  ที่ผ่านมาพูดถึงประเด็นนี้กันมาก เนื่องจากมีข้อแทรกซ้อนพอสมควร  ตนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยเราจะปฏิบัติตามกฏหมายการกระจายอำนาจ แต่ต้องให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ต้องไม่เอาตัวเรา ตัวสาธารณสุข หรืออบจ.เป็นตัวตั้ง  ไม่เช่นนั้นการถ่ายโอนนอกจากจะไม่สำเร็จยังส่งผลกระทบต่อประชาชน ประชาชนต้องได้รับบริการที่ไม่น้อยกว่าเดิมหรือดีกว่าเดิม หากไม่ดีกว่าเดิมจะถ่ายโอนไปทำไม เราต้องยึดประชาชนเป็นสำคัญนี่คือวิถีประชาธิปไตย

ขอให้มั่นใจกระจายอำนาจจะทำให้ใกล้ชิดประชาชน

ดังนั้น 1.ขอให้มั่นใจในการกระจายอำนาจไปท้องถิ่น เพราะจะไปอยู่ใกล้ชิดกับพี่น้องประชาชน และพวกเขาต้องได้รับประโยชน์จากการบริการสาธารณะ ซึ่งการบริการสาธารณสุขเป็นสาธารณะ เราต้องเอาตัวนี้เป็นตัวตั้ง 

2.เรื่องกระจายอำนาจมีกฎหมายรองรับ เริ่มตั้งแต่ปี 2541 จนถึง 2549  จัดทำแผน 1 ออกมา จากนั้นมีแผน 2 ตั้งแต่ปี 2553 โดย 2 แผนดังกล่าวทำมาร่วม 10 ปีแล้ว แต่มีการถ่ายโอนไปแค่ 86 แห่ง จากนั้นเมื่อปี 2564 ก็มีการพูดถึงการกระจายอำนาจ มีคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ ก.ก.ถ. จากนั้นจึงมีการกระจายอำนาจ มีการถ่ายโอนรพ.สต.ไปอบจ.ในปี 2565 ซึ่งรพ.สต.ถ่ายโอนกว่า 3,600 แห่ง บุคลากร 2.5 หมื่นคน ครึ่งหนึ่งเป็นข้าราชการ และในปี 2567 มีรพ.สต.ถ่ายโอน 930 แห่งอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ มีบุคลากรประสงค์ถ่ายโอนประมาน 8 พันกว่าคน แต่เข้าเกณฑ์ประมาณ 7 พันคน ซึ่งไม่ว่าอย่างไรก็ตามหลักการถ่ายโอนต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ดังนั้น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) เป็นผู้บังคับบัญชา ก็ต้องคำนึงเรื่องนี้

ไม่ได้กำหนดต้องถ่ายโอนแล้วเสร็จเมื่อไหร่ เตรียมเสนอก.ก.ถ.หาทางออกช่วงเปลี่ยนผ่าน

“ภาพใหญ่ตอนนี้ไม่ได้มีกำหนดระยะเวลาว่าต้องถ่ายโอนเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ แต่จะต้องมีการประเมินหลังการถ่ายโอนช่วง ปี 67 และปี 68 สิ่งสำคัญคือเราจะทำยังไงให้ประชาชนได้ประโยชน์ โดยปัจจุบันรพ.สต.ถ่ายโอนไปรวมแล้วราว 4,000 แห่ง ส่วนบุคลากรอีก 60% ไม่ได้แสดงเจตจำนงว่าจะไป เราต้องจัดการให้ดี โดยเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่าน ส่วนปัญหาต่างๆ และข้อเสนออยากให้เสนอมาให้ผม และจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับทางคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ หรือก.ก.ถ.ต่อไป” นพ.ชลน่าน กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า สำหรับคนไม่ไปก็ต้องช่วยเหลือเขาในเรื่องตำแหน่ง และต้องไม่ให้เกิดการแบ่งฝ่าย เราต้องยอมรับว่าตอนนี้เป็นแบบนี้ เพราะยังมีกลุ่มที่อยากไป ซึ่งก็อยากไปเต็มที่ ส่วนอีกกลุ่มที่ยอมรับว่าไม่พร้อมก็ยังมีข้อแม้ตรงนี้อยู่ นอกจากนี้ จะมีกลุ่มที่ต่อต้านมาก ไม่ให้กระจายอำนาจ แต่เมื่อเป็นกฎหมายก็ต้องปฏิบัติ แต่อยากให้คุยให้สื่อสารกันดีๆ  โดยเฉพาะในระยะเปลี่ยนผ่านต้องมีการพูดคุยว่าจะมีการรองรับอย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ มี นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดสธ. ดูแล และจะทำเป็นข้อเสนอว่าระยะเปลี่ยนผ่านจะมีกลไกอะไรมารองรับ เพื่อเสนอต่อที่ประชุม ก.ก.ถ.

“อย่ามองว่าเราไปแย่งการทำงาน มีเสียงบางส่วนบอกว่าสาธารณสุขยื้อ ไม่ยอมให้เปลี่ยนผ่าน จะมีคำพูดแบบนี้ออกมาตลอด แบบไม่ง้อ รพ.สต. มีเสียงในทางลบเข้าหูผมเยอะมาก ซึ่งผมมีหน้าที่ในการดูแลพี่น้องประชาชนโดยกลไกเหล่านี้เป็นแค่การบริหารจัดการ อย่าเอาไปให้ประชาชนเดือดร้อน" นพ.ชลน่านกล่าว

เปิด 3 วิธีช่วยบุคลากรไม่ถ่ายโอน

ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงแนวทางช่วยเหลือกลุ่มบุคลากรที่ไม่ได้ถ่ายโอน ว่า  มี 3 แนวทาง ดังนี้ 1. ต้องหาตำแหน่ง เกลี่ยตำแหน่งให้พวกเขาให้ได้ แต่ตรงนี้จะทำได้น้อย ยังมีข้อจำกัด  2.คนที่ไม่อยากถ่ายโอน แต่มีส่วนหนึ่งต้องการ Early Retire ก่อน และ 3 กลุ่มแสดงเจตจำนงช่วยราชการ คือ ทำงานที่เดิมให้เวลา 1 ปี บวกเพิ่ม 6 เดือน และต่ออีก 6 เดือน รวมได้ 2 ปี จากนั้นค่อยมาประเมิน ตอนแรกคิดว่าวิธีการนี้น่าจะกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด และกระทบกับบุคลากรน้อยที่สุดเช่นกัน เนื่องจากสภาพแวดล้อมต่างๆไม่เปลี่ยน แต่ก็ต้องถามว่า บุคลากรเห็นด้วยหรือไม่ เพราะสิ่งสำคัญต้องสมัครใจ

“ จริงๆผมไม่ได้สนใจว่า จะต้องอยู่กับใคร จะเป็นคนกระทรวงหรือไม่ ขอให้ไปที่ไหนแล้วยังทำประโยชน์ให้ประชาชนได้ก็เป็นสิ่งที่ดีทั้งหมด” รมว.สาธารณสุข กล่าว 

Health Station อีกกลไกสร้างสุขภาพดีแก่ประชาชน

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กลไกช่วงเปลี่ยนผ่าน นอกจากแนวทางช่วยบุคลากรแล้ว ยังต้องมีเรื่องการบริการที่ต้องไร้รอยต่อ การให้ข้อมูลสื่อสารสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญ ยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดทำ Health Station โดยใช้ระบบดิจิทัลมาช่วย มีการเก็บข้อมูลสุขภาพ ส่งขึ้นไปบนคลาวด์เชื่อมต่อกับรพ.ในการดูแลสุขภาพ เป็นวิธีการหนึ่งในการหาแนวทางมาดูแลประชาชน

เสนอ ก.ก.ถ.ออกเป็นมติข้อเสนอแนวทางทำงานช่วงเปลี่ยนผ่านถ่ายโอน

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะนำข้อเสนอเหล่านี้ให้ที่ประชุมก.ก.ถ.เห็นชอบด้วยใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ก.ก.ถ.เป็นผู้ออกหลักเกณฑ์ในการกระจายอำนาจฯ เพียงแต่สิ่งที่ขาดไปคือ ช่วงเปลี่ยนผ่านจะรองรับเรื่องเงิน เรื่องคน เรื่องของอย่างไร เราจึงมองว่าจะนำสิ่งที่ในพื้นที่ได้ทำ ไปเสนอต่อที่ประชุมก.ก.ถ.ว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านสามารถดำเนินการแบบนี้ได้ แต่ต้องมีความคิดเห็น มีมติของก.ก.ถ.ด้วย  ข้อเสนอก็จะเป็นตามที่กล่าวข้างต้น เช่น การจัดบริการที่ต้องลดช่องว่างต่างๆ ทั้งคนที่มีความประสงค์ไม่ไป แต่รพ.สต.ไป เราจะทำอย่างไร ต้องหาแนวทางรองรับทั้งหมด

ขอให้สร้างความเข้าใจลดความขัดแย้ง

เมื่อถามว่าขณะนี้กลายเป็นในระดับพื้นที่สับสน เพราะระดับบริหารยังไม่ชัดเจน และเกิดปัญหาเถียงไปมา จนไม่ได้ก่อประโยชน์กับประชาชน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า  คนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งกระทรวงสาธารณสุข ท้องถิ่น และประชาชน เราต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ ต้องให้ชัดเจน โดยเฉพาะหลักการกระจายอำนาจ ต้องอยู่บนพื้นฐานว่า มีประโยชน์ต่อประชาชน และกลไกต้องเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย แต่อยู่บนพื้นฐานของการหาแนวทางการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด และมีเป้าหมายเดียวกันคือ กระจายอำนาจให้สำเร็จบนความพร้อม และสมัครใจ ดังนั้น ช่วงเปลี่ยนผ่าน ต้องพูดคุยกันให้ชัดเจน ไม่ใช่ฝ่ายนี้จะเอา ฝ่ายนี้บอกไม่ได้ เพราะกติกาไม่ได้ ระดับบริหารต้องคุยให้ชัดก่อน อย่าให้ฝ่ายปฏิบัติรับผลกระทบ