ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ลงพื้นที่ชุมนุมสมัชชาคนจนเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ แก้ปัญหาการใช้สิทธิบัตรทองเข้ารับการรักษา พร้อมแนะนำช่องทางรับบริการ เจ็บป่วยเล็กน้อย สามารถใช้บริการ“บริการระบบการแพทย์ทางไกล” (Telemedicine)  ผ่าน 4 แอบสุขภาพได้ พบแพทย์พร้อมจัดส่งยาให้ผู้ป่วย สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทาง รวมถึงบริการดูแลเจ็บป่วยอาการไม่มากได้ที่ร้านยา ส่วนกรณีต้องการรับบริการผู้ป่วยนอกที่หน่วยบริการ สามารถใช้สิทธิที่ศูนย์บริการสาธารณสุขและคลินิกชุมชนอบอุ่นที่อยู่ใกล้เคียงได้   

วันที่ 20 ต.ค. 66 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจนที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ พบว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งมีภาวะเจ็บป่วยและจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท ที่เดินทางมาจากจังหวัดต่างๆ  สปสช. มีการดูแลให้ประชาชนกลุ่มนี้ได้รับบริการรักษาพยาบาลโดยใช้สิทธิบัตรทองได้  ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยสำนักบริการประชาชน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร ได้ลงพื้นที่จุดชุมนุม โดยการประสานผ่านแกนนำสมัชชาคนจน เพื่อเข้าให้ข้อมูลและแนะนำการใช้สิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม. พร้อมชี้แจงวิธีการและช่องทางการเข้ารับบริการ

ทั้งนี้ เบื้องต้นในกรณีที่ผู้ชุมนุมมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ได้แนะนำใช้สิทธิเข้ารับบริการรักษาพยาบาล “บริการระบบการแพทย์ทางไกล” (Telemedicine) ผ่าน 4 แอปพลิเคชันสุขภาพ ที่มีความสะดวกและรวดเร็ว ไม่ต้องเดินทาง ครอบคลุมการดูแล 42 กลุ่มโรคและอาการ รวมถึงโรคโควิด-19 โดยเป็นการพบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ และมีบริการจัดส่งยาให้กับผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยสามารถเลือกรับบริการกับแอปพลิเคชันกับผู้ให้บริการ ดังนี้

1. แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) ให้บริการโดย บริษัท คลิกนิก เฮลท์จำกัด 
https://forms.gle/hfo2Wr9jdvybn8d57 
2. Totale Telemed (โททอลเล่ เทเลเมด) โดย บริษัท โททอลเล่เทเลเมด 
https://lin.ee/a1lHjXZn 
3. แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) ให้บริการโดย บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด 
https://form.typeform.com/to/cNKqNz3p 
4. แอป Saluber MD โดย บริษัท ซาลูเบอร์เอ็มดี www.telemed.salubermdthai.com 

นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังสามารถรับบริการดูแลโรคทั่วไปหรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illnesses) ในร้านยาได้ ซึ่งครอบคลุมการดูแล 16 กลุ่มอาการ เพียงใช้บัตรประชาชนเข้ารับบริการที่ร้านยาเข้าร่วมโครงการกับ สปสช. โดยดูรายชื่อร้านยาใกล้บ้านที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ สปสช. https://www.nhso.go.th/downloads/204 หรือ สังเกตสติกเกอร์ติดหน้าร้านยา ภายใต้ชื่อ “ร้านยาคุณภาพของฉัน” เบื้องต้นทีม สปสช. ได้ประสานความร่วมมือให้บริการกับร้านยาร่วมระบบที่อยู่ใกล้เคียง

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ผู้ชุมนุมต้องการเข้ารับบริการผู้ป่วยนอกโดยใช้สิทธิบัตรทองที่หน่วยบริการนั้น สามารถเข้ารับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 6 สโมสรวัฒนธรรมหญิง และศูนย์บริการสาธารณสุข 38 จี๊ด - ทองคำ บำเพ็ญ รวมทั้งคลินิกชุมชนอบอุ่น ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ได้ ตามนโยบายบริการปฐมภูมิไปที่ไหนก็ได้ (OP Anywhere) และหากมีอาการที่ต้องรักษาตัวใน
โรงพยาบาล จะมีการส่งต่อตามระบบบริการ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการดูแลสุขภาพให้กับผู้ชุมนุม ทางด้านสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ยังจัดศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ให้บริการตรวจสุขภาพ รักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย หมุนเวียนลงไปในพื้นที่ด้วย 

สำหรับกรณีก่อนหน้านี้มีผู้ชุมชนที่เจ็บป่วยและเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล แต่ไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ โดยถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ทาง สปสช. ได้รับแจ้งข้อมูลไว้เรียบร้อยแล้วและจะรีบดำเนินการ นอกจากนี้ ในส่วนที่ต้องการให้อำนวยความสะดวกจัดรถบริการนำส่งผู้ป่วยนั้น ทาง สปสช.เขต 13 กทม.มีการประสานกับโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่ใกล้เคียงเรียบร้อยแล้ว

“ในพื้นที่การชุมนุมที่มีคนจำนวนมาก ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดภาวะเจ็บป่วยขึ้นได้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก และผู้สูงอายุ สปสช. ยินดีที่จะให้การดูแล โดยอำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิบริการสุขภาพที่เป็นของคนไทยทุกคนแม้จะอยู่ต่างพื้นที่ ซึ่งนอกจากเจ้าหน้าที่ สปสช. จะลงพื้นที่ให้ข้อมูลแล้ว ยังมีการติดป้าย QR Code เพื่อสแกนรับบริการระบบการแพทย์ทางไกลในพื้นที่ เพื่อให้ผู้ชุมนุมสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้อย่างทั่วถึง สะดวก และรวดเร็ว อย่างไรก็ตามหากติดขัดปัญหาการใช้สิทธิหรือการรับบริการ ทาง สปสช. ยังมีการตั้งกลุ่ม Line กับทางแกนนำสมัชชา เพื่อประสานติดต่อโดยตรง พร้อมกันนี้ยังสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลผ่านสายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางออนไลน์ ของ สปสช. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว