ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.ร่วมภาคีลงพื้นที่น่าน หนุน ร.ร.ปลุกจิตสำนึกเด็กรู้ภัย 'เหล้า-บุหรี่" ห่วงนโยบายขยายเปิดผับตี4 กระทบคนทำงาน ด้าน "หมอพงศ์เทพ" เผย จ.น่าน ติดอันดับดื่มเหล้าสูงสุด

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านส้าน อ.เวียงสา จ.น่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน "น่านสร้างสุข Model" ปลูกพลังบวกเด็กปฐมวัยภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง

โดยนายศรีสุวรรณ ควรขจร คณะกรรมการกองทุน สสส. และประธานคณะกรรมการบริหารคณะที่ 1 กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงสุขภาพมีหลายตัวที่ สสส.พยายามขับเคลื่อนควบคุมแก้ไข ทั้งแอลกอฮอล์ ยาสูบ โดยเฉพาะ "บุหรี่ไฟฟ้า" ซึ่งตอนนี้มีปัญหามาก เพราะคนเข้าใจผิดคิดว่าไม่มีอันตราย ทั้งที่มีสารนิโคตินสูงที่มีอานุภาพทำให้เสพติดได้ รวมถึงพนันออนไลน์ 

ขยายเปิดผับตี 4 กระทบคนทำงาน

ส่วนเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สสส.ให้ความสนใจว่า จะทำอย่างไรให้คนทุกวัยรู้เท่าทัน มีความรอบรู้สุขภาวะ รู้พิษของแอลกอฮอล์ โดยทำให้สภาพแวดล้อมให้คนเข้าถึงยาก อย่างทำไมห้ามขายตอนบ่าย ก็เพราะเด็กเลิกเรียนเดินทางกลับบ้าน หากแวะร้านสะดวกซื้อก็จะไม่มีหลักประกันอะไรที่มาควบคุมได้ ส่วนการเสนอให้เปิดผับถึงตี 4 ก็จะทำให้กระทบกับคนไปทำงานตอนเช้า นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการเคร่งครัดการให้ใบอนุญาตมากขึ้น รวมถึงมีการห้ามดื่มในสถานที่ต่างๆ เช่น สถานที่ราชการ สถานศึกษา สถานที่สาธารณะ 

"เด็กปฐมวัยจะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่สลับซับซ้อน โดยจะอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล บ้าน และบ้านใกล้เรือนเคียง หากมีสภาพแวดล้อมที่ดี จะเกิดระบบนิเวศน์สภาพแวดล้อมที่เกื้อกูล ต้องพยายามปลูกฝังให้เด็กเข้าใจตามวัย เพราะเขาเห็นอะไรก็ตามจะจำ เป็นภาพจำตั้งแต่เยาว์วัยว่าการดื่มเป็นเรื่องธรรมดา ต้องเปลี่ยนภาพจำให้ได้ โดยสิ่งที่ สสส.จะทำในอนาคตคือ เมื่อเลยช่วงปฐมวัยไปแล้ว คนกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันมากน้อยแค่ไหน จะต้องไปเพิ่มให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรงเพียงพอ" นายศรีสุวรรณกล่าว 

นายศรีสุวรรณ ควรขจร

ภาคเหนือตอนบนดื่มเหล้าสูงเกิน 28%

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผอ.สำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 พบว่า สถานการณ์การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีความรุนแรง พบคนดื่มสูงสุดเกินกว่า 28% ของประชากรในพื้นที่ และอยู่ใน 10 อันดับสูงสุดของประเทศ ได้แก่ น่าน แพร่ เชียงราย พะเยา ด้วยปัจจัยบริบทสังคมวิถีชีวิต ภูมิเศรษฐศาสตร์ สสส.จึงร่วมกับ สคล. ขับเคลื่อน "น่านสร้างสุข model" ปฏิบัติการงดเหล้า ลดปัจจัยเสี่ยง 360 องศา เริ่มตั้งแต่ปฐมวัย เยาวชน และประชาชน ปลูกพลังบวกเด็กปฐมวัย 3-5 ปี เพราะเป็นช่วงโอกาสทองของการพัฒนาด้านสมองและการเรียนรู้ เป็นวัยที่กระตือรือร้นมีความสามารถในการเรียนรู้ทุกสิ่ง เน้นพัฒนาทักษะชีวิตแก่เด็กปฐมวัย ปลูกฝังให้ความรู้อันตรายโทษของบุหรี่ แอลกอฮอล์ พัฒนาทักษะการสอนของครู ผู้ดูแลเด็กให้มีนวัตกรรมสื่อสารสอนที่เหมาะสมกับเด็กเล็กใน 4 จังหวัด คือ น่าน ศรีสะเกษ ราชบุรี และชุมพร ปัจจุบันมีสถานศึกษาเข้าร่วม 2,800 แห่งทุกสังกัดการศึกษา จากากรสังเกตหลังเข้าโครงการ พบว่าเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 3 ปี ผ่านเกณฑ์ประเมินมีทักษะชีวิต 95.77% เด็กชั้นอนุบาล 1-2 อายุ 3-5 ปี ผ่านเกณฑ์ 94.68% อนุบาล 3 อายุ 5-6 ปี ผ่านเกณฑ์ 95.06% เตรียมขยายดำเนินการทั่วประเทศ 

ปลุกจิตสำนึกเด็ก รู้ภัยเหล้า บุหรี่

"ในฐานะแพทย์พบว่า ความรู้ไม่ใช่ตัวกำหนดพฤติกรรม สิ่งที่กำหนดคือจิตใต้สำนึกเป็นตัวบัญชาการการใช้ชีวิตมากกว่า 90% ซึ่งมีงานวิจัยจิตวิทยาพบว่า ส่วนใหญ่การปลูกฝังจิตสำนึกอยู่ที่ก่อนอายุ 7 ปี ดังนั้น หากเราดื่มหรือสูบบุหรี่ ก็คงไม่อยากให้ลูกหลานเข้าสู่วงจรนี้ จึงต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก เสมือนการรับวัคซีนเข็มแรก ป้องกันไม่ให้คนมาชักชวนโน้มน้าวไปในทางเสียสุขภาพได้ โดยวิธีการคือปลูกฝังให้ความรู้ผ่านนิทาน เรื่องเล่า การเล่มเกม จะซึมซับการปลูกฝังเด็กโดยไม่รู้สึกถูกบังคับ มีความสุข สนุกสนานไปด้วย ดังนั้น จะต้องฉีดวัคซีนเข็มแรกในทุกๆ ด้าน เป็นภูมิคุ้มกันเชิงบวก สร้าง Growth Mindset หรือความคิดเชิงเติบโต จึงฝากนายก อบต. เริ่มจาก ต.ส้าน และขยายใน อ.เวียงสา ให้เด็กรับวัคซีนเข็มแรก เพื่อมีสุขภาวะที่ดีตลอดชีวิต" นพ.พงศ์เทพกล่าว 

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์

 

นายนพพร เรืองสว่าง นายอำเภอเวียงสา จ.น่าน กล่าวว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่จะเน้นกิจกรรมสำหรับสมาชิกในครอบครัวทั้งหมด ในการลดละเลิก ตลอดจนมีการ MOU ร่วมกันในจังหวัด กำหนดว่ากิจกรรมเชิงประเพณีจะต้องปลอดเหล้าและอบายมุข รวมถึงมีมิติการสร้างสภาวะเชิงบวกได้ และร่วมกับ อปท.ที่กำกับดูแลศูนย์เด็กเล็ก จะต้องสอนให้เด็กมีพลังบวก คิดบวก ซึ่งขณะนี้มี 16 แห่งที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ ขณะเดียวกันเรายังได้รับนโยบายมาจากกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนหมู่บ้านศีลธรรม เพื่อเป็นการสร้างรากฐานที่ยั่งยืน ขณะนี้มีการ MOU แล้ว จะหารือเพื่อขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม 

 

รณรงค์ลดดื่มเหล้า 15 ปีอัตราดื่มในผู้ใหญ่ลดน้อยเพียง 1% เหตุเพราะเริ่มดื่มตั้งแต่เด็ก

 

น.ส.มาลัย มินศรี ผู้จัดการโครงการปลูกพลังบวก เพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยง สำหรับเด็กปฐมวัย กล่าวว่า จากการที่เรารณรงค์งดเหล้ามาประมาณ 15 ปี พบว่า อัตราการลดของการดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์สำหรับผู้ใหญ่ลดลงในอัตราที่น้อยมาก คือ 1% เท่านั้น เลยมาดูสาเหตุ พบว่า เด็ก 15 ปีก็เริ่มดื่มแล้ว จึงวิจัยและค้นหาข้อมูลจากทั่วโลกว่า ทำไมถึงไม่ลด พบว่า จริงๆ แล้วเด็กๆ มีการดื่มแต่เด็กเลย โดยเป็นการสัมผัสผ่านการเรียนรู้ผ่านอายตนะ 6 คือ ตา หู จมูก ผ่านจากสื่อ พฤติกรรมพ่อแม่และคนในครอบครัว มีผลให้เด็กดื่มไปในจิตใจแล้ว เลยมีการค้นหาว่าจะทำสื่ออะไรเพื่อมาสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยงนี้ให้แก่เด็กปฐมวัย