ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองนายกฯ ยันกำหนดถือครองยาบ้า 10 เม็ด ถือเป็นผู้เสพต้องรักษา ยันไม่เป็นช่องว่างให้ผู้ค้า ยึดหลักแยกพฤติกรรม หากพบแค่ 2 เม็ด แต่เพื่อการค้าก็ไม่รอดคุก พร้อมขับเคลื่อนการบำบัดผู้เสพยาแบบบูรณาการมีป.ป.ส.เป็นเลขาฯ ส่วนจะนำเรื่องโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองสมัยรัฐบาลทักษิณมาใช้หรือไม่ ต้องหลายๆด้าน

 

ถือครองยาบ้าต่ำกว่า 10 เม็ดถือเป็นผู้เสพ

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม  ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์  เทพสุทิน  รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวถึงกรณี ที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมออกกฎกระทรวงเรื่อง กำหนดจำนวนผู้ถือครองยาบ้าต่ำกว่า 10 เม็ดให้ถือเถือเป็น “ผู้เสพ” ต้องบำบัดรักษา  ว่า คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดปริมาณสารบริสุทธิ์ในเม็ดยา  ซึ่งประกอบไปด้วย 4  หน่วยงานคือ กรมการปกครอง ตำรวจ  ป.ป.ส. และกระทรวงสาธารณสุข มีการหารือและสรุปความเห็น ซึ่งดูตามหลักการ จัดูตามพฤติกรรมของผู้ขายและผู้เสพ และปริมาณสารเสพติดในเม็ดยา  ซึ่งปัจจุบันยาบ้า 1 เม็ด มีปริมาณสารบริสุทธิ์ 10- 20 มิลลิกรัม  ขณะที่พฤติกรรมของผู้เสพในหนึ่งวันจะเสพหนึ่งถึง 3 เม็ด และพกไม่เกิน 10 เม็ด  แต่พฤติกรรมของคนขายหนึ่งแพคจะมี 10 เม็ด

มีข้อมูลชัดเพราะอะไรถึงกำหนด 10 เม็ด

ดังนั้น ถ้าดูรวมๆ ถึงอันตรายในหนึ่งคนหากมีการบริโภคประมาณ 50 มิลลิกรัมต่อวัน  จะทำให้เกิดอาการหลอนเหมือนคนบ้า และถ้าเสพถึง 120 มิลลิกรัมจะทำให้เสียชีวิตได้  ดังนั้นจึงเห็นว่าในจำนวน 10 เม็ด จะมีปริมาณสารเท่ากับ  150 มิลลิกรัม ที่ประชุมจึงพิจารณาว่า ตัวเลขการถือครองของผู้เสพจึงน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10 เม็ด จึงส่งข้อสรุปให้กระทรวงสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม สำหรับคณะกรรมการ ป.ป.ส. ไม่ได้มีปัญหาอะไรเพราะทำงานร่วมกันอยู่แล้ว ถ้าถามว่า หากมีการพกพามากกว่า 1 เม็ด จะเป็นการนำมาเพื่อจำหน่าย จริงๆ แล้ว ยังไม่ได้มีตรงนี้ เป็นเพียงการพูดคุยออกอากาศ เพราะปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 15 เม็ด  

 

สิ่งสำคัญดูพฤติกรรมแยก “ผู้เสพและผู้ค้า”  

เมื่อถามว่าการออกประกาศกำหนด การถือครองต่ำกว่า 10 เม็ดถือเป็นผู้เสพ จะกลายเป็นช่องว่างให้กับผู้ค้าหรือไม่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ดูจากพฤติกรรมของผู้ขาย ในหนึ่งหลอดจะมีประมาณ 10 เม็ด แต่ตามพฤติกรรมไม่ใช่ว่า ถ้าพบเกิน 10 เม็ดถึงจะถือว่ามีความผิด เพราะการดำเนินคดีตามกฎหมายจะดูที่พฤติกรรม จะพก 1 เม็ด 2 เม็ดก็เป็นผู้ขายได้  แต่ที่เรากำหนดตรงนี้เอาไว้ก็เพื่อให้โอกาสกับคนที่เป็นผู้เสพจริงๆ ได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ไม่เป็นโทษจำคุก แต่ถ้าพบ 2 เม็ด 3 เม็ด แต่มีพฤติกรรมเป็นผู้จำหน่ายก็ต้องมีโทษจำคุกอยู่ดี  

ชูร้อยเอ็ด ตัวอย่างบริหารจัดการเน้นบำบัดรักษาดี

นายสมศักดิ์  ยังกล่าวว่า ในส่วนของการบำบัดรักษา มีทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย  ยก ตัวอย่างที่จังหวัดร้อยเอ็ดที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางลงพื้นที่ไปดู เป็นเรื่องของประชาชน อบต. มหาดไทย  ที่ช่วยกันดำเนินการได้ผลดีถือเป็นโมเดลตัวอย่าง 

การทำงานบำบัดต้องบูรณาการ มีป.ป.ส.เป็นเลขาฯ

เมื่อถามถึงการบำบัดผู้ติดยาเสพติดจะมีการนำเรื่องโรงเรียนวิวัฒน์พลเมืองสมัยรัฐบาลทักษิณกลับมาใช้หรือไม่  นายสมศักดิ์ กล่าวว่า  มีหลากหลาย เพราะการทำงานดูแลบำบัดจะเป็นเรื่องของการบูรณาการ ดูจากงบบูรณาการที่มีหลายหน่วยงาน ปีละ 7-8 พันล้านบาท โดยมี ป.ป.ส. เป็นหน่วยเลขาฯ ซึ่งมี 5 มาตราการเดิม อาทิ  การบริหาร การปราบปราม การป้องกัน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  และที่เพิ่มมาคือมาตรฐานที่ 6  คือการยึดทรัพย์ เพราะในคดียาเสพติด จะมีผู้ให้การสนับสนุน ผู้สมคบคิด  ผู้วางแผนอยู่เบื้องหลัง จะไม่ดำชัดเจนจะเป็นลักษณะเทาๆ  หากการดำเนินการล้วงลึกไปไม่ถึงกับผู้เกี่ยวข้องเหล่านั้นซึ่งเป็นตัวการใหญ่ ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้  ทั้งนี้ล่าสุด ตนเห็นบอร์ดใหญ่ของศาลฎีกา ให้มีการเพิ่มแผนกยาเสพติดในศาลฎีกา  ในส่วนของรัฐบาลก็พร้อมที่จะสนับสนุนในชั้นกฎหมายของศาลอุทธรณ์