ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สรุปมติ ก.ก.ถ.ให้บุคลากร 222 คน จาก “5 หน่วยสังกัดสธ.” สามารถโอนย้ายไปอบจ. ส่วนกลุ่มรายงานตัวก่อนหน้านี้ให้ปฏิบัติตามแนวทาง ใครรายงานตัวอบจ.และปฏิบัติงานแล้วให้ทำต่อไป แต่ใครกลับไปสังกัดเดิมให้รอหนังสือเวียนแจ้งความชัดเจน ส่วนกรณีสธ.ขอขยายเวลาส่งชื่อสมัครใจถ่ายโอนปีงบ 68  ฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณาเห็นควรทำตามมติคณะอนุกรรมการฯ  

ตามที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฯ ได้มีการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครั้งที่ 4/2566  เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล มีวาระพิจารณาในเรื่องถ่ายโอน คือ ปัญหาอุปสรรคในการรับถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และการถ่ายโอนบุคลากรสาธารณสุขที่ไม่ตรงตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามแนวทางการถ่ายโอน รพ.สต.ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการฯ ที่ร่วมประชุม ให้ข้อมูลกับ Hfocus ถึงผลการประชุมดังกล่าว ว่า จากการประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) สรุปมติ ดังนี้

1. กลุ่มบุคลากรที่สมัครใจถ่ายโอนปีงบประมาณ 2567 นั้น มีจำนวน 766 คน ได้ถ่ายโอนทุกคน

2.กลุ่มบุคลากรปฏิบัติงาน 5 หน่วยงานสังกัดสธ. 222 คน (สสอ.สสจ.รพช.รพท.รพศ.)  จะได้โอนย้ายทุกคน โดยให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ไปจัดทำหลักเกณฑ์ใหม่ โดยไปเอาเลขตำแหน่งว่าง  (ถ.)  ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งได้สิทธิเหมือนถ่ายโอน (ตามแผนฯ 2) โดยให้ช่วยราชการจนกว่า อ.กพ.สธ. ตัดโอนตำแหน่งให้ อบจ.  

3. ให้สำนักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณให้แก่ อบจ. เพื่อจ่ายเป็นเงินเดือนและค่าตอบแทน สิทธิต่างๆ

โดยให้บุคลากรถ่ายโอน/โอนปฏิบัติดังนี้

1. ใครไปรายงานตัวปฏิบัติงานอยู่ รพ สต. ในสังกัด อบจ. แล้ว เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ให้ปฏิบัติงาน อบจ. ต่อไป

2. ใครไปรายงานตัวปฏิบัติราชการ อบจ. แล้วเมื่อ 2 ต.ค. 66  แต่ได้กลับไป สธ. ให้รอหนังสือแจ้งเวียนการปฏิบัติจาก สปน. โดย สกถ. เพื่อสั่งส่วนราชการให้ส่งตัวไปรายงานตัว อบจ. ต่อไป

3. ใครไปรายงานตัวปฏิบัติปฏิบัติราชการ อบจ. แล้ว เมื่อ 2 ต.ค. 66 แต่มีหนังสือเรียกตัวกลับ สสจ. และยังไม่ได้กลับ ให้อยู่ปฏิบัติงาน รพ.สต. สังกัด อบจ. ต่อไป

4. ใครยังไม่ไปรายงานตัว อบจ. ให้รอหนังสือ สปน. แจ้งเวียนมติ สั่งให้ส่วนราชการส่งตัวไปรายงานตัว อบจ. ต่อไป

นายเลอพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่มีการพูดคุยกันว่า กระทรวงสาธารณสุข อาจขอให้บุคลากรจาก 5 หน่วยที่ถ่ายโอนไปแล้วกลับคืนสังกัดเดิมนั้น ตัวเลขบุคลากรจำนวน 1,300 คนที่รับถ่ายโอนมาจบไปแล้ว เพราะทำอะไรไม่ได้แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาก็ดำเนินการตามกฎหมาย รองปลัดสธ. ก็ให้ถ่ายโอนมาแล้วด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะมีการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ ในวันที่ 13 พ.ย. 2566 โดยจะมีการสอบถามถึงแนวทางและความคืบหน้าของหลักเกณฑ์ใหม่ ที่ สธ. ดำเนินการปรับใหม่ตามมติของ ก.ก.ถ. ทั้งนี้คาดว่าในวันดังกล่าวน่าจะมีความคืบหน้า

นอกจากนี้ นายเลอพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงท้ายของการประชุม "ท่านรองนายกฯสมศักดิ์" ยังได้ให้ข้อเสนอว่า ต่อไปถ้ามีปัญหาอยากให้เชิญหน่วยงานราชการเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลก่อน เพื่อให้ปัญหาจบในชั้นคณะอนุกรรมการฯ แล้วค่อยมารายงานในที่ประชุม ก.ก.ถ. อย่างปัญหานี้ที่เกิดขึ้น ก็ต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงสำนักงบประมาณมาให้ข้อมูล เพื่อร่วมกันหารือทางออกก่อน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สรุปคือ 222 คนสังกัด 5 หน่วยงานสธ. คือ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) สามารถโอนย้ายได้ ซึ่งเป็นกระบวนการตามขั้นตอน โดยระหว่างนี้หากปฏิบัติงานที่รพ.สต.สังกัดอบจ.ให้เป็นการช่วยราชการ จนกว่าจะได้เลขตำแหน่งของทาง อบจ. เป็นต้น

ส่วนกรณีที่สธ.ขอเสนอให้ขยายระยะเวลาการส่งรายชื่อผู้ที่สมัครใจและมีความประสงค์ต้องการถ่ายโอนในปีงบประมาณ 2568 จนกว่าจะมีการแก้ไขแนวทางและหลักเกณฑ์การถ่ายโอนบุคลากรเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะดำเนินการตามขั้นตอนการถ่ายโอนต่อไปนั้น

ฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณาแล้ว เห็นสมควรดำเนินการตามมติคณะอนุกรรมการฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 8/2566 เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566