ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อนุกรรมการบริหารจัดการกองทุน สปสช. ลงพื้นที่เขต 8 จ.อุดรธานี เก็บข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดทำข้อเสนอพัฒนาการบริหารจัดการ “กองทุนบัตรทอง” ทั้งด้านบริการผู้ป่วยโรคไต บริการโครงการ LTC บริการสร้างเสริมป้องกันฯ ในการดูแลกลุ่มเปราะบางพระสงฆ์ พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นหน่วยบริการเอกชน ทั้ง รพ. ร้านยา และคลินิกกายภาพบำบัดในพื้นที่ ร่วมรุกบริการในระบบบัตรทอง

วันที่ 7 พ.ย. 2566 นางดวงตา ตันโช กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท กล่าวว่า เมื่อวันที 29 - 31 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา คณะอนุรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ฯ

โดยมี พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร  นพ.สุวิทย์ วิบูลยผลประเสริฐ  พลเอกเอกจิต ช่างหล่อ  นายนริศ กิจอุดม  นพ.สุรพจน์ สุวรรณพานิช  นายนิมิตร์ เทียนอุดม และ นพ.ณรงค์ฤทธิ์ มัศยาอานนท์ พร้อมด้ว รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง ผู้แทนสภาการพยาบาล และ ภก.ดร.อนันตชัย อัศวเมฆิน กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ คณะกรรมการ อปสข.เขต 8 นอกจากนี้ยังมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และทพ.กวี วีระเศษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 8 อุดรธานี ได้ร่วมลงพื้นที่ จ.สกลนคร และ จ.นครพนม เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและรับทราบปัญหาอุปสรรคการทำงาน พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นในการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์บริหารกองทุนบัตรทอง 30 บาท 

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ฯ เป็นคณะอนุกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากบอร์ด สปสช. มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนายุทธศาสตร์ด้านการเงินการคลังของระบบบัตรทอง ซึ่งในการลงพื้นที่ครั้งนี้มีจุดประสงค์สำคัญ เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับฟังมาประกอบการพิจารณา “จัดทำข้อเสนอการพัฒนาปรับปรุงแนวทางของหลักเกณฑ์การจัดสรรและแนวทางการบริหารจัดการกองทุนฯ” ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และนโยบายกองทุนฯ เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานทางการแพทย์ และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ

โครงการดูแลระยะยาวในผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long term care : LTC)

นางดวงตา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ คณะอนุกรรมการฯ ได้เยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านในพื้นที่ จ.นครพนม เป็นผู้ป่วยที่ต้องรับการดูแลต่อเนื่อง รายแรกเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รับบริการด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ (APD.) สิทธิประโยชน์ใหม่ของการดูแลผู้ป่วยบำบัดทดแทนไตในระบบ ติดตามดูแลโดย รพ.สต.บ้านนามล พบว่าเป็นบริการที่ตอบโจทย์และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยอย่างมาก ซึ่งเป็นทางเลือกวิธีการล้างไตที่ผู้ป่วยสามารถทำในช่วงเวลากลางคืนได้ 

พร้อมกันนี้ได้เข้าเยี่ยมผู้ป่วยอีก 2 ราย ในโครงการดูแลระยะยาวในผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long term care : LTC) ของ รพ.สต.หนองญาติ ซึ่งช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นผู้ป่วยรักษาที่ รพ.นครพนม ที่ผู้ป่วยจะได้รับเป็นการดูแลโดยทีมสหวิชาชีพทั้งจากหน่วยบริการปฐมภูมิของ รพ.นครพนม และ รพ.สต. พร้อมแนะนำญาติในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งจะมีการจัดทำแผนการดูแล ทั้งนี้พบว่า LTC ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับบริการต่อเนื่อง และจากการมีทีมเยี่ยมบ้านยังทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี  

ติดตามบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกลุ่มเปราะบาง

นางดวงตา กล่าวว่า ในครั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ ยังติดตามบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกลุ่มเปราะบางในกลุ่มของพระภิกษุและสามเณร ณ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ซึ่งได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลจากพระธรรมวชิรโสภณ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร และประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของพระสงฆ์ในพื้นที่เขต 8 อุดรธานี ตามที่ สปสช. เขต 8 อุดรธานี ได้ถวายความรู้เรื่องการฉันอาหารจากญาติโยมอย่างไรมีผลดีต่อสุขภาพ และสิทธิการเข้าถึงบริการเมื่อเจ็บป่วย ทำให้คณะสงฆ์ในพื้นที่มีความรู้และเข้าใจในปฏิบัติตัวเพื่อดูแลสุภาพได้ถูกต้องมากขึ้น เลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม เป็นต้น โดยเฉพาะการรับบริการตรวจคัดกรองสุขภาพของพระสงฆ์ที่ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูแลสุขภาพไม่ให้เป็นผู้ป่วยรายใหม่ ซึ่งทำให้ปัจจุบันสุขภาพพระสงฆ์-สามเณรในพื้นที่มีสุขภาพดีขึ้นมาก เหลือไม่กี่รูปที่กำลังอยู่ในระหว่างการบำบัดรักษา ซึ่งได้รับเสียงสะท้อนอยากให้มีการให้บริการด้านสร้างเสริมป้องกันฯ ในระบบต่อไป    

  
 
ขณะเดียวกัน คณะอนุกรรมการฯ ยังรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นเพิ่มเติมการเข้าถึงบริการและกำกับติดตามคุณภาพบริการเครือข่ายบริการโรคไตวายเรื้อรัง (CKD) ในพื้นที่ของ จ.นครพนม จาก รพ.นครพนม และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม โดยมี แพทย์หญิงจุฬารัตน์ บุญทศ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ อายุรแพทย์โรคไต รพ.นครพนม นำเสนอข้อมูล รวมถึงได้มีการการติดตามประเด็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการ โดยความร่วมมือจากเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่และบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยมีการประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินงานที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ สกลนคร จ.สกลนคร ซึ่งมี นพ.สมโภช ธีระกุลภักดี ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และ พญ.ศิริลักษณ์ แก้วอุ่นเรือน ผู้ช่วยผู้อำนวยการและผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ รพ.รักษ์สกล รวมถึงมีตัวแทนหน่วยบริการนวัตกรรม อาทิ คลินิกกายภาพชุมชนอบอุ่น รพ.สกลนคร และร้านยาคุณภาพที่เข้าร่วมโครงการกับ สปสช. ให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความเห็น  
 
“ในการลงพื้นที่คณะอนุกรรมการฯ ได้รับทราบปัญหาและอุปสรรคจากพื้นที่ ทั้งจากผู้รับบริการและหน่วยบริการแล้ว ซึ่งได้รับความร่วมมืออันดี โดยพบว่ายังมีส่วนที่ต้องดำเนินการปรับปรุงในเรื่องการเบิกจ่ายให้มีความรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงประเด็นปัญหาของ รพ.นครพนม ที่ได้มีการหารือในห้องประชุมเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะในการจัดทำแนวทางหลักเกณฑ์และการบริหารจัดการกองทุนต่อไป” ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ฯ กล่าว