ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช. รับทราบความคืบหน้า “การพัฒนาระบบสารสนเทศทะเบียนหน่วยบริการครบวงจร” เผยลดระยะเวลาตั้งแต่สมัครจนถึงการประกาศขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ ใช้เวลาไม่เกิน 5 วัน จากเดิม 30 วัน ขั้นต่อไปเตรียมพัฒนาระบบนิติกรรมสัญญาแบบอัตโนมัติ

ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) วันที่ 6 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมฯ ได้รับทราบความคืบหน้า “การพัฒนาระบบสารสนเทศทะเบียนหน่วยบริการครบวงจรรองรับการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566” 

นพ.ดุสิต ขำชัยภูมิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การพัฒนาระบบสารสนเทศทะเบียนหน่วยบริการครบวงจร มีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระของหน่วยบริการในการจัดทำเอกสารการสมัครขึ้นทะเบียนหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ลดระยะเวลาในการตรวจประเมินและประกาศขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ โดยปรับประสิทธิภาพกระบวนการรับสมัครและขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ ซึ่งเมื่อการพัฒนาสำเร็จแล้วจะทำให้ สปสช.มีฐานข้อมูลหน่วยบริการที่รองรับการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพที่ครบถ้วน ตลอดจนเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับประชาชน หน่วยบริการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อีกด้วย

นพ.ดุสิต กล่าวต่อไปว่า ขั้นตอนในการพัฒนาระบบจะมี 3 ระยะ ประกอบด้วยระยะที่ 1 พัฒนาระบบสมัครขึ้นทะเบียน โดยเชื่อมต่อฐานข้อมูลเข้ากับระบบ ThaID รวมทั้งหน่วยงานที่รับรองภายนอกและสภาวิชาชีพต่างๆ นอกจากนี้ยังมีระบบประเมินผลหน่วยบริการซึ่งเริ่มเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยได้พัฒนาาแบบประเมินให้อยู่ในรูปแบบอิเลคทรอนิกส์ รวมทั้งประมวลผลและประกาศขึ้นทะเบียนจากระบบโดยอัตโนมัติ

"สิ่งที่เปลี่ยนแปลงในระยะที่ 1 จากเดิมหน่วยบริการต้องสแกนเอกสาร ทั้งแบบฟอร์มสมัคร ใบรับรองจากกรมพัฒนาการค้า ใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาล ใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล ใบประกอบวิชาชีพ แล้วส่งเข้าระบบ ก็สามารถแจ้งความประสงค์ในระบบผ่านระบบThaID  แล้วเราจะเชื่อมโยงข้อมูลไปยังหน่วยงานรับรองโดยตรง หรือการตรวจเอกสารที่ทำโดยเจ้าหน้าที่ก็จะเปลี่ยนเป็นการตรวจโดยโปรแกรม ทำให้ระยะเวลาการสมัครจนถึงขั้นประกาศขึ้นทะเบียนลดลงจาก 30 วัน เป็นไม่เกิน 5 วัน"นายดุสิต กล่าว

ส่วนระยะที่ 2 จะเป็นการพัฒนาระบบนิติกรรมสัญญา โดยเชื่อมโยงกับธนาคารเพื่อตรวจสอบความถูกต้องบัญชี และหลักประกันสัญญา และมีการจัดทำและลงนามสัญญาในระบบ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียน โดยปรับปรุงระบบฐานข้อมูลหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแบบอัตโนมัติ และการพัฒนาระบบข้อมูลพื้นฐานหน่วยบริการให้รองรับการนําไปใช้เพื่อการบริหารจัดการกองทุน รวมทั้งเปิดให้หน่วยบริการตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลของตนเองและนำไปใช้งานต่อได้

และสุดท้ายระยะที่ 3 จะเป็นการพัฒนาระบบเครือข่ายหน่วยบริการ เช่น ปรับปรุงระบบการจัดเครือข่ายหน่วยบริการเพื่อการลงทะเบียนประชาชน พัฒนารองรับการจัดเครือข่ายระบบบริการ และพัฒนาระบบรายงานสำหรับประชาชน หน่วยบริการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ มีการพัฒนาระบบบริหารจัดการผู้เข้าใช้งานโปรแกรมต่างๆของ สปสช.โดยหน่วยบริการอีกด้วย