ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุข ชี้ร่างกฎกระทรวงฯถือครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดไม่ติดคุก ทำได้บนเงื่อนไข 3 ข้อ ขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ ที่สำคัญผู้เสพต้องสมัครใจรักษา ขณะนี้ยังอยู่ขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นก่อนเสอครม.พิจารณา ชี้มีสถาบบำบัดฯ “มินิธัญญารักษ์” ทุกจังหวัดภายในธ.ค.นี้ เป็นไปตามนโยบาย QuickWin 100 วัน ขณะที่ข้อมูลปี 66 สบยช.บำบัดผู้เสพยากว่า 1.8 แสนคน “ยาบ้า” มากสุด

 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน  ที่อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดการประชุมวิชาการยาเสพติดแห่งชาติ ครั้งที่ 23 “ทิศทางการบำบัดยาเสพติดในอนาคต : ประมวลกฎหมายยาเสพติดสู่การปฏิบัติ” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 พฤศจิกายน 2566 พร้อมมอบรางวัลมินิธัญญารักษ์/คู่มือมินิธัญญารักษ์ และมอบนโยบายด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของกระทรวงสาธารณสุข ตามแผนปฏิบัติการเร่งรัด (Quick Win)

นพ.ชลน่านกล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยยึดหลักการ “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” ให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดและฟื้นฟู ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้มีความเข้มแข็ง ที่จะให้โอกาสผู้เสพยาเสพติดเป็นผู้ป่วย เพื่อกลับมาใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข มาตรการเดิมๆ ที่เราใช้กันอยู่ไม่ว่าจะเป็นการจับกุม คุมขัง เอาโทษหนัก เป็นวิธีการที่ใช้ไม่ได้ผลแถมเป็นการซ้ำเติมให้เกิดปัญหามากขึ้น เราจึงมีความเชื่อว่าถ้าเราให้โอกาสให้เขา กลับคืนสู่สังคมได้โดยผ่านกระบวนการบำบัดรักษาจะเป็นการแก้ปัญหายาเสพติดที่น่าจะได้ผล

ปัญหายาเสพติดต้องแก้ 3 อย่างร่วมกัน

ทั้งนี้ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาระดับชาติ ดังนั้นการใช้เพียงมาตรการใดมาตรการหนึ่ง จะไม่ได้ผล  ต้องใช้ร่วมกันทุกมาตรการไม่ว่าจะเป็นป้องกันที่เข้มข้น บำบัดรักษาฟื้นฟูอย่างเข้มข้น และที่สำคัญคือมาตรการบังคับใช้กฎหมายในการปราบปราม ไม่ว่าจะเป็นตัวยาหรือสารตั้งต้น จะมาหวังเรื่องการบำบัดยาเสพติดอย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ เราเห็นว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาเร่งด่วนจึงกำหนดไว้เป็นนโยบายเร่งด่วนเพื่อเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 100 วัน หมายถึง การเริ่มกระบวนการทำงาน เพื่อรอให้สิ่งที่เราทำออกดอก ออกผล เช่น ผู้ผ่านการบำบัดรักษา ผู้ที่คืนกลับสู่สังคมได้ซึ่งตรงนี้ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ  

ถือครองยาบ้า 5 เม็ดไม่ติดคุก แต่ต้องอยู่บน 3 เงื่อนไข

“โซเชียลมีเดียมักโจมตีว่า หมอชลน่าน กำหนดยาบ้าถือครองต่ำกว่า 5 เม็ดไม่ผิดกฎหมาย พูดสั้นไป เพราะจริงๆ ต้องมีเงื่อนไข 3 ข้อ หากไม่มียังไงก็ติดคุก  คือ 1.สมัครใจรักษา 2.เข้าสู่กระบวนการรักษาจนครบ และ3.ได้รับการรับรอง” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า  แนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นนโยบายรัฐบาลประกอบด้วย 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ การป้องกัน การปราบปรามและการบำบัดรักษาฟื้นฟู ส่วนที่ 3 เป็นการรับผิดชอบของสาธารณสุข  ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ที่กำหนดการถือครองยาบ้านั้น เพื่อต้องการแยกผู้เสพออกจากผู้ค้า ให้ผู้เสพได้รักษา ตัดตอนผู้ค้า ไม่ให้ผู้เสพกลายเป็นผู้ค้า จึงเขียนกฎหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกกฎกระทรวงในการกำหนดปริมาณของสารเสพติดในปริมาณที่สันนิษฐานเบื้องต้นว่าครอบครองไว้เพื่อเสพ กำหนดเป็นกฎกระทรวง ซึ่งตนในฐานะเป็นรมว.สธ.ก็ทำหน้าที่นี้อยู่ มีคณะกรรมการจากทุกฝ่ายร่วมพิจารณา ซึ่งไม่ได้มีแต่ยาบ้า โดยกรณียาบ้ากำหนดไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 5 เม็ด คือหน่วยการใช้ หรือ 500 มิลลิกรัมของน้ำหนักสุทธิ

รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า  ทั้งหมดจะเป็นไปตามนี้หรือไม่ ยังอยู่ขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนี้จะเข้าสู่ครม.เพื่อเห็นชอบ จึงจะออกประกาศได้ และนำสู่การปฏิบัติเพื่อให้โอกาสคนที่เสพมีไว้ครอบครอง

ย้ำ! 3 ขั้นตอนสำคัญถือครองยาบ้าไม่ติดคุก ขาดขั้นตอนใดไม่ได้

“ขั้นตอนที่สำคัญต้องเรียนข้อกฎหมายให้ชัดว่า คนถือครองหรือผู้เสพผิดกฎหมาย แต่หากเขาสมัครใจสู่การบำบัดรักษา 2.ต้องผ่านกระบวนการบำบัดรักษาตามขั้นตอนทุกอย่าง และ3.ผู้อำนวยการหรือหัวหน้าสถานบำบัดรักษาพิจารณาว่าผ่านการบำบัดจนได้รับหนังสือรับรอง ถ้าครบ 3 กรณีถือว่าไม่ผิดกฎหมาย  คือ 1.สมัครใจรักษา 2.เข้าสู่กระบวนการรักษาจนครบ และ3.ได้หนังสือรับรอง หากผ่านแค่ 2 ข้อแรก แต่ไม่มีหนังสือรับรองถือว่ามีความผิดอยู่จนกว่าจะได้หนังสือรับรองถึงจะไม่ผิด” นพ.ชลน่าน กล่าว

เมื่อถามย้ำกรณีหากอยู่ในชั้นศาลแล้วและผู้เสพขอสมัครใจรักษา คดีถือว่าสิ้นสุดหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า หลักเกณฑ์ที่เขียนในกฎหมายชัดเจน การเข้าสู่การบำบัดรักษาทำได้ 3 กรณี ดังนี้

1.ก่อนถูกจับ หากรู้ตัวเองว่า มีไว้ครอบครองเพื่อเสพ เช่น มี 4-5 เม็ดแต่สมัครใจบำบัดรักษาก็เข้าขั้นตอนได้

2.ขณะที่ถูกจับ เช่น ตำรวจจับครอบครอง 5 เม็ดและไม่มีพฤติกรรมการการค้า เพราะค้าเพียง 1 เม็ดก็ถือว่าผิด ซึ่งกลุ่มนี้แจ้งกับตำรวจ แจ้งกับป.ป.ส.ว่าขอสมัครใจเข้าบำบัดรักษา ทางเจ้าหน้าที่ก็มีดุลยพินิจให้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้จนผ่านกระบวนการจนรับหนังสือรับรอง  

3.เข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว มียาบ้า 5 เม็ดไม่มีพฤติกรรมการค้า ศาลมีดุลยพินิจภายใต้ความคิดเห็นของอัยการก็สามารถส่งไปบำบัดรักษาได้เช่นกัน ซึ่งผู้เสพต้องสมัครใจ และเมื่อเข้าสู่กระบวนการจนครบ ศาลสามารถสั่งยุติคดีได้ แต่หากบำบัดไป 2 สัปดาห์แล้วเกิดหนี ศาลสามารถนำคดีมาพิจารณาใหม่ได้ หรือบำบัดไม่ผ่านก็นำมาพิจารณาคดีใหม่ได้ ทั้งหมดเป็นโอกาสให้ผู้เสพกลับคืนสู่สังคม ตัดวงจรการค้า

มั่นใจนโยบายควิกวิน 100 วันยาเสพติดเดินหน้าได้ตามกำหนด

เมื่อถามว่าสถานบำบัดเพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะมินิธัญญารักษ์ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า นโยบายนี้ทำเป็นควิกวิน 100 วัน ตั้งใจว่าสถานบำบัดจะต้องกระจายให้ทั่วถึงมากที่สุด โดยต้องครบทุกจังหวัดภายในธันวาคมนี้

ผู้สื่อข่าวถามถึงนโยบาย QuickWin 100 วันในเรื่องผู้ป่วยยาเสพติดและจิตเวช จะสามารถทำได้ทันตามกำหนดเวลาหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า 1.เชิงโครงสร้างสถานบริการมั่นใจว่าประกาศภายในควิกวินได้  2.ส่วนเนื้อหาสาระในการบำบัดรักษานั้นก็สามารถดำเนินการได้ เช่น กฎกระทรวงที่ต้องยึดถือปฏิบัติก็สามารถทำได้ภายในกำหนดเวลา และ3.ผลการปฏิบัติการดูแลก็จะเป็นไปตามระยะเวลา

ปลัดสธ.รับลูกเดินหน้า “1 จังหวัด 1 มินิธัญญารักษ์”

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ.กล่าวว่า การติดยาและสารเสพติดมักพบร่วมกับปัญหาทางจิตเวชได้บ่อย โดยปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น พบว่า ร้อยละ 60 มักเกิดจากผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยยาเสพติดรวมทั่วประเทศไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ กรมการแพทย์ โดย สบยช.และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง จึงร่วมกันพัฒนารูปแบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูฯ ชื่อ “มินิธัญญารักษ์” เพื่อ เพิ่มการเข้าถึงบริการในผู้ป่วยติดยาและสารเสพติด ให้ได้รับการบำบัดอย่างต่อเนื่อง ไร้รอยต่อ ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่มีความพร้อมและศักยภาพในการบำบัดรักษาและฟื้นฟู ทั้งระยะเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน การดูแลระยะกลาง และการบำบัดฟื้นฟูระยะยาว ช่วยลดอันตรายจากการใช้ยาและสารเสพติด โดยมีเป้าหมาย “1 จังหวัด 1 มินิธัญญารักษ์” ตามนโยบาย Quick Win 100 วันของรัฐบาล 

เปิดข้อมูลปี 66 บำบัดผู้เสพยารวมกว่า 1.8 แสนคน ใช้ยาบ้ามากสุด

นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการ สบยช. กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2566 มีการบำบัดผู้ติดยาเสพติดทั้งประเทศรวม 186,104 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย 168,369 คน เพศหญิง 17,735 คน  ช่วงอายุที่พบมากที่สุด คือ มากกว่า 39 ปี จำนวน 57,048 คน คิดเป็นร้อยละ 30.65 รองลงมาคือ วัยรุ่นอายุ 18-24 ปี จำนวน 31,667 คน คิดเป็นร้อยละ 17.02 และอายุ 25-29 ปี จำนวน 31,581 คน คิดเป็นร้อยละ 16.97 ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ว่างงาน และการเกษตร โดยเป็นการใช้ยาบ้ามากที่สุด ร้อยละ 84.54 ตามด้วยเฮโรอีน ร้อยละ 4.05 และกัญชา ร้อยละ 3.46 แยกเป็น เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ร้อยละ 57.29 ผู้ป่วยในระยะบำบัดด้วยยา ร้อยละ 5.74 ผู้ป่วยในระยะฟื้นฟูสมรรถภาพ ร้อยละ 0.6 ฟื้นฟูสมรรถภาพในชุมชน ร้อยละ 8.41 และ อื่นๆ ร้อยละ 27.96 ทั้งนี้ สบยช. และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาค ทั้ง 6 แห่ง มีผู้เข้ารับการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ ที่มีความยุ่งยากซับซ้อน จำนวน 11,080 คน จำแนกเป็นผู้ป่วยนอก จำนวน 5,630 คน คิดเป็นร้อยละ 50.81 ผู้ป่วยใน จำนวน 5,424 คน คิดเป็นร้อยละ 49.19