ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ส่องผลงาน “มะเร็งครบวงจร” นโยบายควิกวินใน 100 วัน “หมอชลน่าน”  ระยะเวลา 2 เดือนอะไรคืบหน้าบ้าง ทั้งบริการฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกหญิงไทย 11-20 ปีจำนวน 1 ล้านโดสฟรี!   และจัดตั้งนักรบสู้มะเร็ง “Cancer Warrior”  ต่อสู้มะเร็ง 5 ชนิดในทุกจังหวัด   

 

หลังจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถูกนักวิชาการตั้งคำถามถึงผลงานตลอด 2 เดือนนับตั้งแต่รับตำแหน่งว่า เป็นหนึ่งใน รมต.โลกลืม กระทั่งเจ้ากระทรวงฯ ชี้แจงถึงผลการดำเนินการต่างๆนั้น 

(อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : ‘ชลน่าน’ แจงถูกติง "รมต.โลกลืม" ชี้ผลงานเห็นชัด ทั้งปัญหาบุคลากร-กม.กัญชา (ชมคลิป))

 

ล่าสุดสำนักข่าวออนไลน์ Hfocus พามาติดตามหนึ่งในนโยบายควิกวิน (QuickWin) ภายใน 100 วัน กับ "มะเร็งครบวงจร"  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ตั้งเป้าดูแลประชาชนเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างครบวงจร ทั้งการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคมะเร็ง การดูแลรักษาบำบัดฟื้นฟู

มะเร็งครบวงจร เป็นอีกนโยบายยกระดับ 30 บาทพลัสเพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชนใน 13 ประเด็นที่ประกาศนโยบายออกไป ซึ่งมีคณะอนุกรรมการในการขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ โดยเรื่องมะเร็งครบวงจรจะมุ่งเน้น 5 โรคที่พบบ่อย คือ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก  โดยสถานการณ์โรคมะเร็ง 5 ชนิด จากสถาบันโรคมะเร็ง กรมการแพทย์ ประกอบด้วย

มะเร็งตับ และมะเร็งท่อน้ำดี

-พบอันดับหนึ่งของชายไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ 22,000 รายต่อปี และเสียชีวิต 16,000 รายต่อปี (อันดับ 1 ในชายและอันดับ 2 ในหญิง) สาเหตุหลักเกิดจากตับอักเสบโดยสาเหตุต่างๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบบีและซี และแอลกอฮอล์ เป็นสาเหตุนำไปสู่การเกิดภาวะตับแข็ง และมะเร็งตับ

มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง  

-ข้อมูลที่ผ่านมาพบคนไทย 15 คนเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเป็นมะเร็งที่พบสูงอันดับ 3 เสียชีวิต 5,500 คนต่อปี รายใหม่พบ 16,000 คนต่อปี

มะเร็งเต้านม

-พบมากเป็นอันดับ 1 ของมะเร็งในผู้หญิงไทยอายุ 40-70 ปี มีอุบัติการณ์คือ 34.2ต่อประชากรแสนคน โดยปี 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่ 17,742 คน หรือวันละ 49 คน

มะเร็งปากมดลูก  

-จัดอยู่ในอันดับ 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย มีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 15 ราย หรือ 5,422 คนต่อปี (Cancer in Thailand Vol.X 2016-2018 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข) และเสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 6 ราย หรือ 2,238 คนต่อปี (สถิติสาธารณสุข พ.ศ.2562 กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข)

อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งจัดเป็นกลุ่มโรคที่เป็นปัญหาสุขภาพอันดับต้นๆ ของคนไทย พบผู้ป่วยรายใหม่ปีละ 140,000 คนและเสียชีวิต 84,000 คนต่อปี นโยบายดังกล่าวจึงมุ่งเน้นจัดบริการด้านโรคมะเร็งที่ครบวงจร ครอบคลุมทั้งระบบ ตั้งแต่การส่งเสริมป้องกัน การคัดกรอง การตรวจวินิจฉัย การรักษา จนถึงการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย เป้าหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้ง 5 ชนิด

5 มาตรการสำคัญขับเคลื่อน มะเร็งครบวงจร

มาตรการสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อตอบรับนโยบายมะเร็งครบวงจร ให้สำเร็จตามควิกวิน 100 วัน จึงประกอบด้วยหลากหลายบริการ ทั้ง จัดตั้งทีม Cancer Warrior ในโรคมะเร็งสำคัญ ระดับกระทรวง ระดับเขตสุขภาพ และจังหวัด จัดบริการด้านโรคมะเร็งครบวงจร ตั้ง Primary prevention จนถึงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ดังนี้

1.ป้องกันการเกิดโรค และต้นเหตุการเกิดโรค เช่น การให้วัคซีนป้องกันHPV ตัดวงจรพยาธิใบไม้ตับ

2.ใช้เทคโนโลยีใหม่ในการคัดกรองกลุ่มเป้าหมาย/กลุ่มเสี่ยง เช่น การตรวจยีน

3.เพิ่มการเข้าถึงการวินิจฉัย ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ

4.การรักษา ได้แก่ การให้ยาเคมีบำบัด และ Targeted therapy รังสีรักษา รังสีร่วมรักษาครอบคลุมทุกพื้นที่

5.การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างมีคุณภาพในสถานชีวาภิบาล

 

คืบหน้าฉีดวัคซีน HPV แล้วกว่า 1.6 แสนโดสตั้งแต่ 8 พ.ย.66

การบริการที่เริ่มไปแล้ว คือ การให้วัคซีน HPV ในกลุ่มผู้หญิงป.5 ถึงมหาวิทยาลัยปี 2 (11-20ปี) จำนวน 1 ล้านโดส ซึ่งรัฐมนตรีว่าการสธ. "นพ.ชลน่าน"  ได้คิกออฟเปิดการรณรงค์ฉีดวัคซีนไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 มียอดการฉีดสะสมแล้ว 163,160 โดส โดย 10 จังหวัดที่มีอัตราการฉีดวัคซีนตามเป้าหมายสูงสุด ได้แก่ เพชรบุรี แม่ฮ่องสอน มุกดาหาร นครพนม ตราด ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ พังงา และอำนาจเจริญ ตามลำดับ สำหรับวัคซีน HPV ได้ทยอยส่งลงถึงพื้นที่ครบ 1 ล้านโดสแล้ว

นพ.ชลน่าน ยังให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ โดยกำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัด ช่วยกันรณรงค์เชิญชวนหญิงไทยอายุตั้งแต่ 11 – 20 ปีในพื้นที่ เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV โดยในเดือนพฤศจิกายนได้เร่งจัดบริการฉีดในสถานศึกษาและในเดือนธันวาคมจะมีการจัดบริการฉีดครอบคลุมเพิ่มเติมในสถานประกอบการและสถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นไปตามเป้าหมาย

เดินหน้าสร้างทีม Cancer Warriors สู้มะเร็ง 5 ชนิด

นอกจากนี้ นโยบาย “มะเร็งครบวงจร” ยังมีทีมที่เรียกว่า  “Cancer Warriors” หรือทีมต่อสู้มะเร็ง ซึ่งทีมนี้จะมีการอบรมหลักสูตรเฉพาะเพื่อให้ความรู้ในการส่งเสริมป้องกัน บำบัดรักษาฟื้นฟูในกลุ่มมะเร็งที่พบบ่อย 5 ชนิด   โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน “นพ.ชลน่าน” ยังเป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตร Cancer Warriors ตอบสนองนโยบายมะเร็งครบวงจร ในทิศทางบทบาทกรมการแพทย์ รุ่นที่ 1 ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ  มี พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข   นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกรมการแพทย์ ประธาน Service plan สาขาโรคมะเร็ง ระดับเขตสุขภาพและระดับจังหวัด Cancer Warriors ระดับเขตสุขภาพ และระดับจังหวัด ผู้ประสานงานด้านโรคมะเร็ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานจำนวนมาก

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า โรคมะเร็งถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ที่สำคัญคือ สูญเสียทรัพยากรบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดให้ “มะเร็งครบวงจร” เป็น 1 ในนโยบายการดำเนินงาน ปี 2567 เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการส่งเสริมป้องกัน คัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รักษา ดูแลฟื้นฟูกายใจอย่างเป็นระบบ โดยมี Quick Win ที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การสร้างทีมต่อสู้โรคมะเร็ง (Cancer Warriors) ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับกระทรวง ระดับเขตสุขภาพ และระดับจังหวัด เพื่อเป็นเครือข่ายการทำงานด้านโรคมะเร็งให้เกิดการดูแลแบบครบวงจร โดยจัดตั้งเป็นทีมเชิงรุกเกี่ยวกับมะเร็งสำคัญ 5 ชนิด คือ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก

สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ จึงร่วมกับกองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดอบรม “หลักสูตร Cancer Warriors” ให้กับแพทย์ พยาบาล สหวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการดำเนินงาน บทบาทหน้าที่ การเตรียมความพร้อมในการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (service plan) สาขาโรคมะเร็ง ในการจัดการด้านโรคมะเร็งที่ครบวงจร สอดคล้องกับแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งจะช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดโรคและการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายทีม Cancer Warriors ทุกระดับในการร่วมมือกันดูแลประชาชนให้มีความรอบรู้และมีพฤติกรรมการป้องกันมะเร็งที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ การอบรมฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 17 พฤศจิกายน 2566 กิจกรรมประกอบด้วย การบรรยายหัวข้อ นโยบายมะเร็งครบวงจร ภายใต้กรอบ National Caner Control Programmer, สถานการณ์มะเร็งในประเทศไทย, แผนการขับเคลื่อนโรคมะเร็ง และแบ่งกลุ่ม Workshop ขับเคลื่อนแผนงาน Cancer Warriors จากทั้ง 12 เขตสุขภาพ

"จริงๆ มะเร็งครบวงจร ไม่ได้มีเท่านี้ ขณะนี้กำลังหารือในเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆในการตรวจวินิจฉัยมะเร็ง อย่างการตรวจแมมโมแกรม เป็นต้น" นพ.ชลน่านกล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “หมอชลน่าน” เล็งเพิ่มสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองมะเร็งด้วย “แมมโมแกรม” ตามนโยบายมะเร็งครบวงจร)

กรมการแพทย์ร่วมเครือข่ายขับเคลื่อนมะเร็งครบวงจร

ด้านพญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากนโยบายมะเร็งครบวงจร ของนพ.ชลน่าน ทางกรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และศูนย์มะเร็งอีก 7 แห่งทั่วประเทศผนึกกำลังในการสนับสนุนเครือข่ายทั้งกรมควบคุมโรค กรมอนามัย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปูพรมในการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน การคัดกรองโรคให้รู้ตั้งแต่มีความเสี่ยง หรือเริ่มเป็น เพื่อให้รักษาตั้งแต่ระยะแรก รวมไปถึงด้วยกรมการแพทย์ มีสถาบันบำบัดระดับตติยภูมิ มีความเป็นเฉพาะทาง ซึ่งการบำบัดรักษาเป็นภารกิจโดยตรง ซึ่งเราได้มีการส่งเสริมและกระจายการบริการให้ทั่วถึงทั่วประเทศ 

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่มีอาการรุนแรง เรามีกลไกในการดูแลแบบประคับประคอง โดยมีสถานชีวาภิบาลดูแลเช่นเดียวกับการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะโรคเรื้อรัง หรือติดเตียง รวมไปแนวทางการดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care ซึ่งกรมการแพทย์มีทีมในการดูแล  นอกจากนี้ เรายังดูแลกลุ่มพระภิกษุสงฆ์ที่อาพาธ รวมไปถึงโรคมะเร็งด้วยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้เรามี Cancer Warriors หรือนักรบสู้มะเร็ง  โดยเรามีกลไกผ่านเขตสุขภาพในการดำเนินการเรื่องนี้ มีอาจารย์แพทย์เฉพาะทางทั้งสังกัดสำนักงานปลัดฯ ตามโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป และยังมีความร่วมมือยังโรงพยาบาลชุมชน ไปทุกระดับ โดยการอบรมหลักสูตร Cancer Warriors ก็เป็นการบูรณาการร่วมกันทุกฝ่ายเพื่อให้ดูแลประชาชนอย่างครบวงจรในทุกพื้นที่มากขึ้น ดังนั้น การอบรมหลักสูตรรุ่นที่ 1 ในครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มปลุกพลังนักรบสู้มะเร็งในแต่ละเขตสุขภาพ และขยายไปยังจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่

นี่เป็นเพียงตัวอย่างแผนการดำเนินการบางส่วนในการขับเคลื่อน “มะเร็งครบวงจร” ให้ได้ภายใน 100 วัน ซึ่งเริ่มมีการดำเนินการแล้วในแต่ละพื้นที่ ทั้งการฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก การจัดตั้งทีมนักรบสู้มะเร็ง หลังจากนี้เมื่อครบ 100 วันตามควิกวันก็จะมีการประเมินว่า ผลการดำเนินการเป็นอย่างไรต่อไป

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : หนึ่งในพยาบาลวิชาชีพ หวังโครงการอบรม "Cancer Warriors" ช่วยให้ประชาชนสนใจคัดกรองมะเร็งเพิ่มขึ้น)