ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หนึ่งในพยาบาลวิชาชีพ หวังโครงการอบรม "Cancer Warriors" ทำให้เจ้าหน้าที่และประชาชนสนใจคัดกรองมะเร็งเพิ่มขึ้น ชี้ "จังหวัดน่าน" ไม่พบปัญหาการตรวจคัดกรองและรักษา เว้นแต่ผู้ป่วยปฏิเสธการรักษาเอง

ตามที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข อนุมัติแผน Quick Win 13 ประเด็น ให้เห็นผลใน 100 วัน  "มะเร็งครบวงจร" ถือเป็นนึ่งในนโยบายที่ต้องขับเคลื่อน โดยมุ่งเน้น 5 โรคที่พบบ่อย คือ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 ที่ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิด การอบรมหลักสูตร Cancer Warriors ตอบสนองนโยบายมะเร็งครบวงจร ในทิศทางบทบาทกรมการแพทย์ รุ่นที่ 1

โดยมี แพทย์หญิงนวลสกุล บำรุงพงษ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกรมการแพทย์ ประธาน Service plan สาขาโรคมะเร็ง ระดับเขตสุขภาพและระดับจังหวัด Cancer Warriors ระดับเขตสุขภาพ และระดับจังหวัด ผู้ประสานงานด้านโรคมะเร็ง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน นั้น

ทั้งนี้ นางวิภารัตน์ ผิวอ่อน พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ รพ.น่าน ให้สัมภาษณ์กับ Hfocus ว่า ตนรับผิดชอบโครงการมะเร็งมาตั้งแต่ปี 2557 และทำงานเกี่ยวกับด้านมะเร็งมา 9 ปี โดยรับผิดชอบทั้งหมดในเรื่องของมะเร็งจังหวัดน่าน ตั้งแต่คัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รักษา รวมถึงการส่งต่อ โดยตอนนี้เราทำเรื่อง Cancer Anywhere (มะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อม) จริงๆปัญหามะเร็งเป็นเกือบทุกพื้นที่ อย่างจังหวัดน่านเอง มะเร็งตับและท่อน้ำดี มีอัตราการเกิดสูงที่สุด โดยเฉพาะในเพศชาย รองลงมามะเร็งเต้านม ซึ่งเจอในเพศหญิงเป็นอันดับหนึ่ง

ปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็ง

ส่วนการดำรงค์ชีวิตของประชาชนจะมีการปลูกข้าวโพด ปลูกข้าว ซึ่งเป็นการใช้สารเคมี เชื่อกันว่าสารเคมีที่ไหลไปในแม่น้ำจะทำให้เกิดมะเร็งตับและท่อน้ำดี ซึ่งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้มีการทำวิจัยแต่ยังไม่สรุปข้อมูลอย่างแท้จริงว่าจะเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งตับและท่อน้ำดีจริงหรือไม่ นอกจากนี้ชนเผ่าที่อยู่พื้นที่ราบสูงยังมีการประกอบอาหารในบ้านซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดตามมาด้วยเช่นกัน 

เรื่องนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ลงไปทำวิจัยที่จังหวัดน่าน เกี่ยวกับปัจจัยของการเป็นมะเร็งปอดว่า การเผาปลา การทำอาหารในบ้าน จะส่งผลให้คนในจังหวัดน่านเป็นมะเร็งปอดได้หรือไม่ ซึ่งมีการทำวิจัยไปแล้วยังไม่สามารถสรุปผลได้แน่ชัดว่าเป็นสาเหตุจริงหรือไม่ "เพราะจริงๆแล้วคนจังหวัดน่านที่เป็นมะเร็งปอดไม่ใช่แค่คนในพื้นที่ราบสูงเท่านั้น แต่เป็นคนที่อาศัยอยู่ในเมืองด้วยเช่นกัน" 

โครงการอบรมหลักสูตร "Cancer Warriors"

สำหรับโครงการ Cancer Warriors จริงๆแล้วไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ เพราะเรามีการดำเนินการมานานแล้ว แต่ทั้งนี้ทำให้เจ้าหน้าที่และประชาชนเกิดการตื่นตัวมากขึ้น คาดว่าประชาชนและเจ้าหน้าที่สนใจที่จะมาคัดกรองมะเร็งเพิ่มขึ้นกว่าเดิม  ตนไม่คิดว่าเป็นการเพิ่มภาระงานเพราะทำอยู่แล้ว แต่เป็นการที่ต้องทำเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่น ผู้บริหารอาจมีการติดตามว่าได้ผลลัพธ์มากน้อยแค่ไหน  

นางวิภารัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จริงๆการคัดกรองที่ใช้เทคโนโลยี อย่าง การอัลตราซาวด์ การตรวจ ‘HPV DNA Testing’ ค่อนข้างใช้เวลาในการคัดกรอง เพราะฉะนั้นการเข้าถึงของประชาชนจะค่อนข้างน้อย แต่อันไหนที่ประชาชนต้องทำด้วยตนเองได้ อย่าง การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง  น่าจะทำให้ประชาชนเข้าถึงการคัดกรองได้มากขึ้น 

ตนในฐานะหัวหน้าหน่วยเคมีบำบัดและ Nurse Coordinator คือ ให้คำปรึกษาข้อมูลด้านสุขภาพเรื่องโรค ประสานงานกับแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพในการดูแลรักษาคนไข้ผู้ป่วย เราจึงต้องทำทุกอย่าง เราถือว่าเป็นหน่วยตั้งรับผู้ป่วยมะเร็ง รวมถึงการคัดกรองเชิงรุก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีการตรวจยีนส์ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เราต้องไปค้นหาในเครือญาติ และแนะนำผู้ป่วยว่าหากมีญาติที่เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมจะต้องเข้ามาตรวจคัดกรองด้วย วิภารัตน์ กล่าว 

ส่วนคัดกรองอย่างอื่น เช่น มะเร็งลำไส้เราจะทำอยู่ในเครือข่ายโรงพยาบาลน่าน ถ้าหากคนไข้วอล์คอินเข้ามาเพื่อต้องการตรวจโดยวิธีการตรวจเลือดหรืออุจจาระเราต้องมีการเพิ่มจุดบริการ และเมื่อผลตรวจออกแล้ว ถ้าหากพบว่าเป็นผลบวกต้องมีการติดตามว่า ผู้ป่วยจะต้องเข้าสู่กระบวนการใดต่อไปหรือจะต้องเข้ารักษาโดยวิธีไหน ซึ่งโรงพยาบาลมีการวางระบบไว้รองรับอยู่แล้ว  แต่ส่วนใหญ่ที่ทำมาคือ เราทำเป็นโครงการให้ทุกพื้นที่ในจังหวัดน่านตรวจคัดกรองก่อนแล้วค่อยมาส่องกล้องอีกที ขณะนี้มีโรงพยาบาลปัวและโรงพยาบาลน่าน มีแนวทางในการทำเรื่องนี้มาตลอด ฉะนั้นการคัดกรองและการรักษาผู้ป่วยไม่ค่อยมีปัญหาอุปสรรคมากนัก นอกเหนือจากว่าผู้ป่วยปฏิเสธการรักษา

สถานการณ์โรคมะเร็งปอดในประเทศไทย มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่คนทั่วโลกป่วย และเสียชีวิตมากที่สุด สําหรับประเทศไทยเป็นมะเร็งที่พบ มากเป็นอันดับ 2 ในเพศชายและ อันดับ 5 ในเพศหญิง

-พบผู้ป่วยรายใหม่ ประมาณ 17,222 ราย/ปี (เพศชาย 10,766 ราย และเพศหญิง 6,456 ราย)

-มีผู้เสียชีวิตประมาณ 14,728 ราย/ปี หรือคิดเป็น 40 รายต่อวัน 

สำหรับผลงานบริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรง มีดังนี้ ร้อยละผู้มารับบริการแยกรายสิทธิ

- หลักประกันสุขภาพ 1,148 คน ร้อยละ 98.88 

- ประกันสังคม  4 คน  ร้อยละ 0.34

- ข้าราชการ 9 คน ร้อยละ 0.78

- อปท. 0   คน  ร้อยละ 0.00

รวมทั้งสิ้น 1,161 คน

ส่วนเป้าหมายจํานวนผู้ที่ได้รับบริการ คือ 2,713 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2566)  รวมทั้งผลงาน จํานวนผู้ที่ได้รับบริการตรวจยีน 1,161 คน (42.79 %)  และ เขต 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 9, 11, และ เขต 12 มีผลงานน้อยกว่า 50%  ส่วนเขต 8 เขต 10 และ เขต 13 มีผลงาน 167.65%, 154.23% และ 89.83% ตามลําดับ ควรถอดบทเรียนความสําเร็จจาก ทั้ง 3 เขต

 

 

 

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

ส่องผลงาน 2 เดือน “หมอชลน่าน” กับนโยบายควิกวิน “มะเร็งครบวงจร” ใน 100 วัน  

-  “หมอชลน่าน” เล็งเพิ่มสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองมะเร็งด้วย “แมมโมแกรม” ตามนโยบายมะเร็งครบวงจร