ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช. เห็นชอบแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” โดยมี ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานอนุฯ ทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการ “ระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ”

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม โดยมีมติเห็นชอบ “ข้อเสนอการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” ที่ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ สปสช.

สำหรับ “หลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” เป็นนวัตกรรมทางสังคมที่สำคัญในระบบสุขภาพของประเทศไทย ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของประชาชนจากหลายภาคส่วนในสังคม โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการประสานหน่วยงาน องค์กร และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ให้เข้ามาร่วมค้นหาปัญหาและความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน ร่วมวางแผนและส่งเสริมให้เกิดการร่วมดำเนินกิจกรรมด้านสุขภาพ ติดตามประเมินผลการดำเนินงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมกับประชาชน โดยเป็นไปตามมาตรา 47 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 

คณะอนุกรรมการชุดนี้จะมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน โดยมีรองหรือผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. เป็นเลขานุการ และรองอธิบดีกรมการปกครองท้องถิ่น เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ขณะที่อนุกรรมการจะประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงบประมาณ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรภาคเอกชน ฯลฯ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ศ.บรรเจิด สิงคเนติ เป็นต้น

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวจะทำหน้าที่จัดทำหรือทบทวนกฎว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงาน ตลอดจนสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกําไรเป็นผู้ดำเนินการและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมตามความพร้อม ความเหมาะสมและความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นเพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพให้แก่บุคคลในพื้นที่ตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 
นอกจากนี้จะจัดทำข้อเสนอด้านสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ตลอดจนการติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ และจัดทำข้อเสนอการพัฒนาที่ต่อเนื่อง 

“หลังจากที่ บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวนี้แล้ว ขั้นตอนต่อไป บอร์ด สปสช. ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายพิจารณาร่างคำสั่งและเสนอให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ต่อไป ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการขับคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นที่กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศให้บรรลุผลสำเร็จ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว