ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย. ร่วมสภาองค์กรของผู้บริโภค จับมือเฝ้าระวังเตือนภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ผู้บริโภค   ส่วนปัญหาโฆษณาเกินจริงทางสื่อออนไลน์ ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมนำส่งเบาะแสให้ อย. ดำเนินการ

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  ร่วมประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ กับ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ประธานอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ และคณะ เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว สร้างความเข้มแข็งของระบบการคุ้มครองผู้บริโภค ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทั้ง อย. และสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อปกป้อง คุ้มครอง ให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยยึดประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ซึ่ง อย. เป็นองค์กรภาครัฐหลักในการดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภค ขณะเดียวกันมุ่งส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญก้าวหน้า โดย อย. นำกลไก 5S มาขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว (Speed) สร้างความรอบรู้ มีระบบการเฝ้าระวัง เพื่อให้ผู้บริโภคปลอดภัย (Safety) โดยเน้นความพึงพอใจของผู้รับบริการ โปร่งใส ตรวจสอบได้ (Satisfaction) สนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Supporter) และสร้างความมั่นคงทางยา เวชภัณฑ์ ในภาวะฉุกเฉินต่าง ๆ (Sustainability) รวมทั้งใช้นโยบาย FDA Care D+ ทีมประสานใจ เข้ามาขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ อย. ให้ความสำคัญกับเครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค ยินดีรับฟังความคิดเห็น และประสานการปฏิบัติงานร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งจะทำให้ระบบการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงเป็นนิมิตหมายอันดีที่ อย. และสภาองค์กรของผู้บริโภค จะร่วมมือกันอย่างจริงจังเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้เกิดมาตรการในการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม รวดเร็ว

 “อย. และสภาองค์กรของผู้บริโภค มีข้อสรุปร่วมกันในการเฝ้าระวังเตือนภัยโดยทีม อย. และสภาองค์กรของผู้บริโภค จะร่วมดำเนินการในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างครอบคลุมทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ส่วนในประเด็นการจัดการกับปัญหาการโฆษณาเกินจริงทางสื่อออนไลน์ ทางสภาองค์กรของผู้บริโภคจะนำส่งเบาะแส เพื่อให้ อย. ดำเนินการ โดย อย. จะให้การสนับสนุนข้อมูลของประเภทผลิตภัณฑ์สุขภาพ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกัน สร้างระบบการให้ความรู้และสื่อสารเตือนภัย เพื่อให้ระบบการสร้างความรอบรู้แก่ผู้บริโภคมีประสิทธิภาพและเข้มแข็ง”