ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ชลน่าน” ลั่น 4 จังหวัดพร้อมคิกออฟ 8 ม.ค. “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” ข้ามทุกเครือข่ายเป็นของขวัญปีใหม่ ไม่กังวลหลังรพ.อุดรธานีถูกแฮก! เพราะมีระบบฟื้นคืนรวดเร็ว ล่าสุดกำชับเพิ่มทุกจังหวัดจัดระบบป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ เตรียมดูความพร้อมบัตรปชช. 14-15 ธ.ค.นี้ที่แพร่

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการคิกออฟการใช้ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” ว่า ขณะนี้มีความพร้อมใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่  แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส คิกออฟวันที่ 8 มกราคม2567 เป็นของขวัญปีใหม่ โดยใช้จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นสถานที่เปิดเป็นออนไซต์ที่นั่น และออนไลน์รวม 4 จังหวัดเปิดใช้บริการครบวงจรทุกสังกัดพร้อมกัน ซึ่งตัวระบบไม่ต้องกังวล มีการเตรียมพร้อมทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลผู้ป่วย

ผู้สื่อข่าวถามกรณีบางส่วนเกิดคำถามว่าการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และเครือข่ายอื่นๆ พร้อมแล้วใช่หรือไม่ เนื่องจากระบบอาจแตกต่างกัน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่มีปัญหาอะไร ราบรื่น อย่างสปสช. ดูแลเรื่องสิทธิของกลุ่มเป้าหมาย ค่าใช้จ่ายที่ใช้ และระบบที่เราเชื่อมก็สามารถตอบโจทย์ในมุมของ สปสช.ได้ทั้งหมด อย่างสปสช. จะมีระบบแสดงสิทธิของการรักษา ระบบการจ่ายเงิน เป็นต้น

เมื่อถามว่าจะสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยข้อมูลผู้ป่วยอย่างไร เพราะที่ผ่านมา รพ.อุดรธานี ยังถูกแฮกข้อมูล อาจกระทบความเชื่อมั่นบัตรประชาชนใบเดียวหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า  มั่นใจว่าไม่กระทบ เพราะยิ่งเรารู้ว่ามีRansome ware แฮกข้อมูลทำลายเชิงระบบของเรา แต่ทราบข้อมูลเร็วสามารถรีเทคและแก้ไขอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป้าหมายการแก้ไข คือ 1.ต้องดูแลไม่ให้กระทบการบริการประชาชน ทางรพ.จะใช้ระบบอะไรมารองรับก็ได้ ขอเพียงอย่ากระทบประชาชน ซึ่งรพ.อุดรธานีจัดการดีมาก และได้ประสานศูนย์เฝ้าระวังภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์และความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็มาช่วยดูแล

“เราได้เตรียมพร้อมกับจังหวัดต่างๆ อย่างใน 4 จังหวัดก็เช่นกัน ในการจัดระบบป้องกันต่างๆ โดยเฉพาะการนำเข้าข้อมูลสู่ระบบ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวขเอง เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องระวังมาก ยิ่งการนำข้อมูลแปลกๆ หรือข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องเลยจะนำไปสู่การแฮกข้อมูล หรือการติดต่อระบบอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น ระบบไฟฟ้า หรือระบบแสงสว่าง ที่จำเป็นต้องเชื่อมข้อมูลก็ต้องระวัง” รมว.สาธารณสุข กล่าว

2.กรณีเกิดเหตุการณ์ต้องมีระบบเตรียมพร้อม สำรองข้อมูลอย่างไร ระบบปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยอย่างไร และ3.การแก้ปัญหาเชิงระบบในระยะกลาง อย่างรพ.ที่มีการรับรองเรื่องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาล (HAIT : Healthcare Accreditation Information Technology) ถ้ารพ.ไหนผ่านขั้นที่ 2 ขึ้นไปก็จะเป็นหลักประกันสร้างความมั่นเรื่อง  Cyber security 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 14-15 ธันวาคมนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมความพร้อมการใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ที่จ.แพร่ จากนั้นจะมีกำหนดการเดินทางไปดูความพร้อมที่ จ.นราธิวาส ช่วงกลางเดือนธันวาคม  และต้นเดือนมกราคม 2567 ดูความพร้อมที่ จ.เพชรบุรี 

วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 6/2566 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารเข้าร่วมประชุม และกล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขและ Quick Win  

โดยเรื่องดิจิทัลสุขภาพ เรื่องนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ มีความคืบหน้าใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ มีการยืนยันตัวตน (Health ID) แล้ว 1 แสนคน เพชรบุรี 1.8 แสนคน ร้อยเอ็ด 3.41 แสนคน และนราธิวาส 1.51 แสนคน บุคลากรที่มีลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 4 จังหวัด รวมกว่า 5 พันคน ได้แก่ แพทย์ 4,058 คน ทันตแพทย์ 227 คน เภสัชกร 489 คน และเทคนิคการแพทย์ 424 คน โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนของทั้ง 4 จังหวัด นำร่อง ครบ 100% แล้ว พร้อมทั้งพัฒนาระบบรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ทั้งระบบแจ้งเตือนเมื่อพบภัยคุกคาม การให้คำปรึกษาเมื่อเกิดเหตุ ระบบเฝ้าระวัง และการกู้คืนระบบ