ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอเชิดชัย" เผย ทำอย่างไร...ระบบหลักประกันสุขภาพฯจะมั่นคงและยั่งยืน  ชี้! สิ่งสำคัญคือบุคลากรด้านสาธารณสุข ต้องมีค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม พร้อมตั้งเป้าประเทศไทยเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” คาดปี 70 มีแพทย์ประจำอยู่ รพ.สต.

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2566  ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์  รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ปี 2566 พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ “ทบทวนอดีตและแถลงการณ์สู่อนาคต” โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 250 คน จากหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ รวมถึง หน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ เป็นต้น 

ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้ โดยไม่ต้องกังวลค่ารักษาพยาบาล

รศ.นพ.เชิดชัย กล่าวว่า การดำเนินการนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ทำให้ประชาชนไทยทั้งประเทศสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ โดยไม่ต้องกังวลถึงค่ารักษาพยาบาล โดยประเทศไทยสามารถบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนด้านโครงสร้างและพัฒนารากฐานระบบสุขภาพไทยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี ซึ่งการบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ ส่งผลให้จำนวนครัวเรือนที่ต้องมีหนี้สินและยากจนจากค่ารักษาพยาบาลลดลง จากปี 2543 ที่มีจำนวนกว่าสามแสนครัวเรือน ปี 2564 เหลือเพียงสี่หมื่นครัวเรือน 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ทำให้ประชาชนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ สามารถเข้าถึงและรับบริการสุขภาพที่จำเป็นได้ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตั้งแต่แรกเกิด โดยขณะนี้รัฐบาลได้มีนโยบายยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทอัพเกรด เพื่อมุ่งพัฒนาระบบบริการสุขภาพ แก้ปัญหา วางรากฐาน และสร้างเศรษฐกิจ

รศ.นพ.เชิดชัย กล่าวต่อว่า เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพฯ ต้องยกเครดิตให้ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตเลขาธิการ สปสช. ที่เป็นนักคิดเรื่องหลักประกันสุขภาพฯ แต่ที่สำเร็จได้ต้องยกความดีให้ "นักการเมือง" ที่วางนโยบาย พร้อมที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อน เพราะต้องไปหาเสียง ไปให้นโยบายต่อสภา และสามารถทำได้จริง ส่วนแนวทางเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพฯ ต้องให้เครดิต นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่คิดออกมาในหลักการของ SAFE คือ Sustainability ความยั่งยืนของการคลังสุขภาพ  Adequacy งบประมาณที่เพียงพอสำหรับการจัดบริการสุขภาพถ้วนหน้า Fairness ความเป็นธรรมของระบบสุขภาพ และ Efficiency ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร  

"ผมเป็นหมอผ่าตัดหัวใจ ก่อนจะมีระบบสุขภาพ คนไข้มารักษาผ่าตัดหัวใจปฏิเสธเกือบทุกรายเพราะไม่มีเงินจ่าย เป็นหนี้ยืมสิน ขายบ้าน ขายวัวขายควาย ไม่พอ เราผ่าตัดที่ขอนแก่น อย่างการผ่าตัดหัวใจ ผมต้องขออนุมัติค่าลิ้นหัวใจกับคณบดีเดือนละครั้งปีละ 12 ลิ้น พอปีที่สองขอเพิ่มอีกสองเท่า ก็เถียงกันแทบตาย ค่อยอนุมัติ แต่พอมีบัตรทอง ผ่าตัดหัวใจคนอีสานเยอะอยู่แล้ว เราสามารถผ่าตัดหัวใจขึ้นมาระดับต้นๆ ของประเทศ ขึ้นมาเป็นที่หนึ่งของประเทศ และผลิตบุคลากรด้านโรคหัวใจออกมาทั้งทีม" รศ.นพ.เชิดชัยกล่าว 

ผลการทำงานหนักทำให้เราได้รับคำชื่นชมจากนานาชาติ ที่ผ่านมาทำให้มีผู้แทนกว่า 30 ประเทศ ทั้งในภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา อเมริกา และยุโรปเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปสู่การพัฒนานโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศตนเอง ดังนั้นในอนาคตประเทศไทยจึงมีเป้าหมายเป็น “ศูนย์การเรียนรู้ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” (UHC Learning Hub) อีกด้วย” รศ.นพ.เชิดชัยกล่าว

ยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย

นอกจากนี้ ผลจากการที่ไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพฯ ตัวชี้วัดคือ ทำให้เด็กไทยที่เกิดมารอด อัตราตายลดลง ทำให้คนไทยอายุยืนขึ้น ตอนนี้เฉลี่ยประมาณ 74 ปีแล้ว  เราต้องช่วยกันเติมเต็มยกระดับหลักประกันสุขภาพฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนเพิ่มขึ้น เพราะโลกเปลี่ยนไป ความเจริญทางวัตถุเพิ่มขึ้น ทุกคนมีสื่อ ทำอย่างไรให้มีการพัฒนาต่อยอดระบบหลักประกันฯ ของไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ.ระบุว่า น่าจะเอามาร่วมสร้าง Wealth คือ ความมั่งคั่งของไทยด้วย ขณะที นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. บอกว่าถือเป็นซอฟต์เพาเวอร์ เป็นเรื่องจำเป็น และฝากเรียนท่านนายกฯ ตนก็จะรับไปฝากด้วย ว่าเป็นเรื่องจำเป็น ซอฟต์เพาเวอร์การศึกษาเป็นเรื่องจำเป็น เป็นไปได้อย่างไร ทั่วโลกมาเรียนที่เมืองไทย  ทั้งนี้ การวิจัยอย่างเป็นระบบเรื่องนโยบายสุขภาพเป็นเรื่องจำเป็นต้องทำต่อเนื่อง อย่างการประชุมในครั้งนี้ 

"สิ่งสำคัญคือบุคลากรด้านสาธารณสุขต่างๆ ที่ช่วยกันทำ ซึ่งต้องการขวัญกำลังใจ ค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานพยาบาลทุกแห่ง โดยเฉพาะปัจจุบัน พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ มีหมอเวชศาสตร์ครอบครัว ก็กำลังทำในอีกไม่กี่เดือน จะมีนำร่องใน 10 จังหวัดในเชิงวิจัยด้วย ถ้าเป็นไปได้ในปี 2570 รพ.สต.ต่างๆ ก็น่าจะมีแพทย์อย่างน้อยอยู่หรืออยู่ทางเทเลเมดให้ได้ รัฐบาลปัจจุบันก็ย้ำว่าต้องยกระดับหลักประกันสุขภาพฯ ให้ดียิ่งขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน ก็รอฟังคำแถลงจากการประชุมครั้งนี้ว่า จะวางเป้าหมายอย่างไร ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ UHC Learning Hub ของโลก จะเพิ่มชื่อเสียงประเทศไทย รายได้ก็เข้ามา" รศ.นพ.เชิดชัยกล่าว