ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

2 ทศวรรษในหลักประกันสุขภาพฯ ที่ผ่านมา สำเร็จจริงหรือไม่... เพราะสิ่งสำคัญคือ ไม่ใช่แค่การเข้าถึงและได้รับความคุ้มครองจากสิทธิ แต่สถานพยาบาลต้องมีคุณภาพ ระบบต้องดูแลทุกคนในประเทศไทย ย้ำ! ไม่ใช่เฉพาะคนไทย  

ตามที่มีการจัดประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย พ.ศ.2566 (National UHC Conference 2023) และมีการปาฐกถาพิเศษ ในประเด็น “ความสำเร็จ 2 ทศวรรษในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย” ระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) และ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ที่ปรึกษาผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ร่วมเสวนาด้วย

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ ว่า หนึ่งในแผนปฏิบัติราชการของสปสช.ฉบับที่ 5 พ.ศ.2566-2570 มีการระบุถึงการทบทวน ปรับชุดสิทธิประโยชน์ เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการและปกป้องการล้มละลายได้จริง ซึ่งประชาชนที่มีสิทธินั้นแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ประชาชนที่ได้รับบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นประจำ มีราว 40 % 2. คนที่เคยเข้ารับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพฯ นานๆมาทีไม่ได้มาต่อเนื่อง ราว 20 % 3. คนที่ไม่เคยเข้ารับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพฯราว 40 %

ส่วนแนวทางพัฒนาสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมี 8 กลไก คือ 1. เสนอผ่านช่องทาง Green Chanel ที่เป็นปัญหาสุขภาพเร่งด่วน อาทิ โรคระบาด โรคอุบัติใหม่ หรือนโยบายที่สำคัญของรัฐ 2. เป็นข้อเสนอที่ใช้แทนของเดิม แต่ประสิทธิผลดีขึ้น และมีราคาถูกลงและเท่าเดิม ซึ่งสามารถเป็นสิทธิประโยชน์ได้เลยโดยไม่ต้องผ่าน คณะกรรมการ สปสช. 3. การประเมินแบบรวดเร็ว 4. ผ่านกระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ตามปกติ 5. โรคหายาก 6. กระบวนการเจรจากับผู้ผลิตโดยใช้งบประมาณเท่าเดิม หรือถูกลง 7. การใช้กระบวนการคัดเลือกยา หรือเทคโนโลยีใหม่เป็นสิทธิประโยชน์ และ 8. การแพทยขั้นสูงสุด เพื่อยกระดับความเป็นเลิศด้านบริการ 

ด้านพญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศต้นๆ สำหรับการสร้างความคุ้มครองในการเข้าถึงบริการ แต่ระบบสุขภาพไม่ใช่แค่การเข้าถึงและได้รับความคุ้มครองจากสิทธิ แต่ยังหมายถึงการเข้ารับบริการที่มีคุณภาพ และปลอดภัยด้วย ซึ่งตั้งแต่เกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สรพ. ก็มีการพัฒนาการรับรองมาตรฐานสถานพยาบาลมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกสำคัญที่ช่วยผดุงไว้ซึ่งความปลอดภัยของผู้ป่วย อย่าง Healthcare Accreditation (HA) หรือการรับรองตามมาตฐาน จนที่สุดแล้วได้กลายมาเป็นองค์กรมหาชนที่ถูกกำหนดเพื่อเป็นหลักประกันให้กับประชาชนในการเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขว่าจะได้ไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน

นอกจากนี้ เมื่อปี 56-57 ยังได้มีงานวิจัยที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ช่วยยืนยันเกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัยจากการรับรองมาตรฐาน ใน 4 ประเด็นสำคัญที่ได้จากการศึกษาจากการประเมินผลในแง่ประสบการณ์ของโรงพยาบาล ได้แก่ ระบบบริการจัดการความเสี่ยง ระบบการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาล ความปลอดภัยด้านยา และสภาพแวดล้อมปลอดภัย ซึ่งเหล่านี้เป็นระบบบริการที่มอบต่อไปยังประชาชน 

“มีงานสำรวจเก็บข้อมูลเทียบระหว่างโรงพยาบาลจังหวัดที่ได้รับ HA กับโรงพยาบาลที่ไม่ได้รับ ซึ่งจากข้อมูลเห็นผลชัดในโรคสำคัญและต้องมีการเชื่อมต่อเป็นเครือข่าย พบว่า HA เป็นกลกไกที่เข้ามาช่วยยจัดการใหโรงพยาบาลมีความปลอดภัย และมีคุณภาพ ซึ่งขณะนี้เรากำลังขยับ เพื่อสร้างระบบบริการสุขภาพที่มีมาตรฐาน และความปลอดภัยสำหรับทุกคน” พญ.ปิยวรรณ กล่าว

ขณะที่นายนิมิตร์ เทียนอุดม ที่ปรึกษาผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวในบางช่วงว่า สิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วนมีอยู่ 4 เรื่องใหญ่  คือ 1. ต้องเกิดระบบหลักประกันสุขภาพระบบเดียวในประเทศไทย ด้วยการให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคมรวมกัน จะเกิดความเป็นธรรม ประหยัดในเชิงงบประมาณ พัฒนาเรื่องคุณภาพและลดความเหลื่อมล้ำได้ 2. ต้องทำให้ระบบบริการ หน่วยบริการทุกแห่งได้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าใปรับบริการที่ไหนก็เหมือนกัน 

3. ระบบต้องดูแลทุกคนในประเทศไทย ไม่เฉพาะคนไทย  ด้วยการแก้มาตรา 5 ในพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ระบุให้อำนาจระบบหลักประกันฯดูแลทุกคนที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ไม่เฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ส่วนจะมีการดูแลแบบไหนจะต้องมีการสมทบเงินหรือไม่ เป็นสิ่งที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)กำหนด และ 4. ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพฯมีอำนาจบริหารจัดการ ต่อรองราคายา ซื้อยาได้ด้วยกองทุนเอง เป็นกลไกสำคัญการันตีว่าเมื่อป่วยจะได้ยาที่สำคัญ จำเป็นและทันเวลา เมื่อมีงบประมาณที่จำกัดสามารถซื้อยาที่สำคัญและจำเป็นได้ในงบฯที่จำกัด

และมากไปกว่านั้น ควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ใน มาตรา 5 เพื่อให้ สปสช. สามารถดูแลผู้ที่พำนักอยู่ในประเทศไทยได้โดยไม่ต้องดูสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลหรือร่วมจ่ายตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กำหนด หากทำได้ก็จะเกิดความเป็นธรรมสำหรับทุกคน