ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ชลน่าน” สั่ง กพฉ.แก้ปัญหา Response Time ระยะเวลาตั้งแต่รับแจ้งเหตุจนถึงที่เกิดเหตุหรือถึงผู้ป่วยภายใน 8 นาที  ลดลง ขณะที่เสียชีวิตก่อนทีมไปถึงเพิ่มขึ้น เร่ง Workshop แก้ปัญหาด่วน! ด้านเลขาฯสพฉ. ชี้สาเหตุหนึ่งมาจากหลายตำบลยังขาดหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ บางหน่วยมีแต่ไม่วิ่ง ขาดเงิน ขาดของ ขาดคน มีใช้ได้จริง 45%

 

เปิดสถิติตัวเลขสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ  ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายนโยบายและทิศทางการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้มีสุขภาวะที่ดีและยั่งยืน ภายในการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 15 ประจำปี 2566 ว่า สถานการณ์ประเทศไทยเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน พบว่าสถิติปริมาณการเรียกเข้าเลขหมายฉุกเฉินของประเทศไทย 1669,191 และ 199 ตั้งแต่เดือนมกราคม - ตุลาคม 2566  แบ่งดังนี้ หมายเลขฉุกเฉิน 1669 ปี 2565 มีคนโทรเข้ามา 6 ล้านCall และในปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 8,180,908 Call  ซึ่งคาดว่าสิ้นเดือนธันวาคมนี้จะเพิ่มเป็น 10 ล้านCall ส่วนหมายเลข 191 มีคนโทรเข้ามา 5,815,970 Callในปี 2566  ส่วนหมายเลข 199 เรื่องดับเพลิงมีคนโทรรวมปี 2566 อยู่ที่ 158,832 Call  

ปัญหา Response Time ถึงที่เกิดเหตุภายใน 8 นาที

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวอีกว่า ดังนั้น เบอร์ 1669 ประชาชนเริ่มรู้จักและคาดหวังมากขึ้น หมายความว่า มีความคาดหวังคุณภาพ มาตรฐานการบริการที่ดี ซึ่งตนได้มอบทีมงานทำการศึกษาค่าดัชนีประเมินสมรรถนะของระบบการแพทย์ฉุกเฉินระดับจังหวัด หรือ PEPSI (Provincial Emergency Medical Service Performance Scoring Index) โดยย้อนหลังข้อมูลไป 2560-2566 พบว่าแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะประเด็น Response Time  ระยะเวลาตั้งแต่รับแจ้งเหตุจนถึงที่เกิดเหตุหรือถึงผู้ป่วยภายใน 8 นาที

โดยข้อมูลปี 2555 ใน 100 เคสไปถึงผู้ป่วยใน 8 นาที 47 เคส และปี 2565 ใน 100 เคสไปถึงผู้ป่วย 8 นาทีจำนวน 32 เคส และปี 2566 มีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ระหว่างเก็บข้อมูลเพิ่มเติม  แต่ข้อมูลที่น่าสนใจคือ แนวโน้มเสียชีวิตขณะรักษาและนำส่งไม่มาก แต่เสียชีวิตก่อนทีมไปถึงเพิ่มขึ้น ซึ่งตรงนี้สัมพันธ์กัน ความหมายคือ เมื่อหน่วยแพทย์ขั้นสูงไปถึงจุดเกิดเหตุภายใน 8 นาทีกลับลดลง แต่การเสียชีวิตก่อนทีมไปถึงกลับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับอัตราการรอดชีวิจจากระบบการแพทย์ฉุกเฉินค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 93%  

“ท่านนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทราบปัญหาดังกล่าว และมอบให้คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) ไปทำ Workshop ว่าจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร” เลขาธิการสพฉ.กล่าว

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวอีกว่า  Response Time  ลดลง ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเสียชีวิตก่อนทีมไปถึงเพิ่มขึ้น เสียชีวิตนอกรพ.เพิ่มขึ้น มองว่าส่วนหนึ่งจากหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ไม่เพิ่ม  หน่วยบริการไม่เพิ่ม โดยโรงพยาบาลทั่วประเทศ 1,000 แห่ง เป็นรพ.ชุมชน 800 แห่ง และรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป หรือรพ.ขนาดใหญ่ระดับมหาวิทยาลัยประมาณ 200 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเมือง  แต่ในต่างจังหวัด ต่างอำเภอพื้นที่ห่างไกล หน่วยบริการไม่เพิ่ม  สาเหตุอาจมาจากงบฯ รถ บุคลากรไม่เพียงพอ พบว่า  7 พันตำบลประมาณ 2,253 แห่ง หรือ 31% ไม่มีหน่วยปฏิบัติการแพทย์ ขณะที่ตำบลที่มีหน่วยปฏิบัติการแพทย์แต่ไม่วิ่งมี 1,745 แห่ง หรือ 24%  ส่วนตำบลที่มีหน่วยปฏิบัติการทำงานจริง  3,293 แห่ง หรือ 45%  จึงเป็นความท้าทายของการแพทย์ฉุกเฉินต้องเพิ่มจำนวนมากขึ้น

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเรามีพ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551  โดยมีกฎหมายต่างๆมารองรับ รวมไปถึงมีอำนาจปรับการปกครอง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย โดยไม่ได้ขู่ใคร แต่เป็นหน้าที่ ซึ่งตามกฎหมาย หากใครไม่ทำตามมาตรฐานก็ย่อมมีโทษปรับสูงสุด 1 แสนบาท ที่ผ่านมาเราเน้นการสร้างองค์ความรู้ มีแผนการดำเนินการต่างๆ สื่อสารความรู้ความเข้าใจมาตลอด