ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

อาเซียนตื่นตัวรับภัยพิบัติ ร่วมพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ตั้งศูนย์ AHA CENTER ประสานความช่วยเหลือ เชื่อมข้อมูลระหว่างอาเซียนขณะที่ไทยเตรียมทีมแพทย์เคลื่อนที่เร็วพร้อมรับมือ ด้านพม่าเล็งพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ชูไทยเป็นต้นแบบที่ดี ด้านผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นย้ำต้องเน้นพัฒนาศักยภาพบุคลากร นำระบบมาใช้ให้เหมาะกับสภาวะประเทศ

ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้มีการจัดการประชุมแลกเปลี่ยนระหว่าง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และทีม Japan International Cooperation Agency (JICA) ซึ่งประกอบไปด้วยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศพม่าที่เข้ารวมแลกเปลี่ยนการทำงานกันในครั้งนี้ด้วย เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในไทย รวมทั้งการแพทย์ฉุกเฉินในอาเซียน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ในปัจจุบันภัยพิบัติเป็นสิ่งที่ทุกประเทศตระหนัก และในระดับอาเซียนก็เช่นกัน จึงมีการร่วมกันพัฒนาและประยุกต์ใช้ความร่วมมือจากข้อตกลงอาเซียน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติหรือที่เรียกว่า AADMER โดยจัดตั้งหน่วยงานกลางคือ AHA CENTER หรือ ศูนย์ประสานงานสำหรับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมการจัดการภัยพิบัติ ตั้งอยู่ที่สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการประสานงาน เพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวสาร ติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ และประสานความช่วยเหลือระหว่างกันของประเทศอาเซียน สำหรับประเทศไทยเตรียมความพร้อมโดยพัฒนาทีมแพทย์ฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วในการรับมือภัยพิบัติ อบรมเพิ่มทักษะความรู้ จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อการช่วยเหลือตัวเอง และพร้อมให้ความช่วยเหลือเมื่อมีการร้องขอด้วย

รองเลขาธิการสพฉ. กล่าวต่อถึงการเตรียมรับมือภัยพิบัติในประเทศไทยว่า ปัจจุบันประเทศไทยตระหนักและเตรียมพร้อมมากขึ้น โดยมีการพัฒนาทีมผู้ปฎิบัติการให้มีความพร้อม และได้พัฒนาทีมผู้ปฎิบัติการฉุกเฉินเคลื่อนที่เร็วขึ้น ซึ่งได้นำจุดดี จุดเด่น ของทีมลักษณะเดียวกันของประเทศต่างๆมาปรับใช้ ทั้งในเรื่องความคล่องตัวในการช่วยเหลือ จำนวนผู้เชี่ยวชาญในทีม เป็นต้น

นอกจากนี้ สพฉ .ยังเล็งเห็นว่าระบบบัญชาการในภาวะภัยพิบัติหรือ ICS จะทำให้การทำงาน การสั่งการ การประสานระหว่างกันดียิ่งขึ้น จึงจัดอบรมให้กับผู้ปฏิบัติงานรวมถึงมีการประยุกต์นำการบัญชาการมาใช้ร่วมกับการจัดการทางการแพทย์ในภัยขนาดใหญ่หรือ MIMMS ด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังจัดให้มีซ้อมการเผชิญเหตุภัยพิบัติอย่างสม่ำเสมอเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้ผู้ปฎิบัติและเพื่อให้เกิดความชำนาญการหากต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติจริง

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญระบบการแพทย์ฉุกเฉินจากประเทศพม่า Dr. Toe Thiri แพทย์จากโรงพยาบาลย่างกุ้ง Aung Assistant Director Central Epidemiology Unit Department of Health Ministry of health กล่าวว่า ถึงแม้ที่พม่าจะมีการพัฒนาระบบของการรักษาพยาบาลให้ดีขึ้นตามลำดับแล้ว แต่ทุกๆ โรงพยาบาลก็จะมีข้อจำกัด คือมีจำนวนของบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในจำนวนที่จำกัด โดยโรงพยาบาลหนึ่งแห่งจะมีรถที่คอยรับส่งผู้ป่วยเพียงแค่หนึ่งคัน ซึ่งสิ่งที่เราขาดเป็นอย่างมากคือการฝึกอบรมบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญใน เรื่องของการช่วยเหลือชีวิตผู้คนในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ก่อนที่เราจะมาดูงานที่ประเทศไทยเราได้ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว ซึ่งระบบการแพทย์ฉุกเฉินประเทศญี่ปุ่นนั้นจะมีความแตกต่างจากประเทศไทยอยู่มากพอสมควร แต่สำหรับพม่าระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทยน่าจะเป็นต้นแบบที่ดี เพราะมีปัจจัยและสภาวะแวดล้อมหลายด้านที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ สิ่งที่ประทับใจกับการทำงานของสพฉ. และระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทยคือความมุ่งมั่นใน การทำงานเพื่อที่จะช่วยเหลือประชาชนที่ประสบเหตุภัยพิบัติ โดยเริ่มจากการจัดตั้งหน่วยเล็กๆ ลงไปในพื้นที่ และหน่วยเล็กๆ เหล่านั้นสามารถปรับเปลี่ยนการทำงานให้ขยายใหญ่ขึ้นและประสานการทำงานกับหลายฝ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนในประเทศตนเองได้ นอกจากนี้การที่องค์กรที่ทำงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินนั้นแยกออกมาเป็นองค์กรอิสระ และทำงานโดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ระบบมาก ทำงานด้วยความเป็นอิสระ ก็จะยิ่งทำให้การช่วยเหลือคนเป็นไปอย่างคล่องตัว ซึ่งต่างกับพม่าก่อนที่จะทำการช่วยเหลือผู้คนได้เราต้องปรึกษากันกับหลายหน่วยงาน ซึ่งประเด็นนี้เราจะนำไปปรับปรุงและนำเสนอให้เกิดการพัฒนาในประเทศของเราต่อไป

ด้าน Mr. Makoto Yamashita Director General,JICA Headquaters ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นกล่าวแนะนำถึงการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทยและอาเซียนว่าสิ่งสำคัญของการพัฒนาคือต้องพัฒนาคุณภาพของบุคลากรให้มีศักยภาพมาก ซึ่งเมื่อพร้อมมากก็จะยิ่งช่วยชีวิตผู้ป่วยได้มาก อย่างไรก็ตามในการพัฒนาเรื่องการแพทย์แพทย์ฉุกเฉินเราไม่ควรจะเปรียบเทียบว่าระบบการแพทย์ฉุกเฉินประเทศใดพัฒนากว่ากัน เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือการปรับระบบให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและสภาวะในประเทศนั้นๆ เพื่อการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ

ที่มา: http://www.thanonline.com