ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กทม. เปิดหน้าสู้ PM2.5 ทุกมิติ ปลื้มเครือข่ายพร้อมร่วม Work From Home รวมกันแล้ว 133 แห่ง ซึ่งมีพนักงานรวมกันกว่า 50,000 คน พบฝุ่นที่เกิดขึ้นใน กทม. มากกว่า 50% เกิดจากการเผาไหม้ของรถยนต์ดีเซล

วันที่ 18 ธ.ค. 2566 นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงปัญหา PM2.5 ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นมีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้น โดยปัจจัยที่ทำให้สภาพปัญหาของ PM2.5 รุนแรงขึ้นเกี่ยวเนื่องกับ 2 ปัจจัย ปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ คือ เพดานการลอยตัวของอากาศ และสภาพอัตราการระบายตัวของอากาศ และปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ อันได้แก่ การควบคุมการเผาชีวมวล การเผาไหม้ของเครื่องยนต์สันดาป เป็นต้น 

ในส่วนปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ กรุงเทพมหานครได้มีการดำเนินการตรวจสอบเชิงรุกและควบคุมอย่างต่อเนื่อง โดยในปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้มีการดำเนินการตรวจสอบโรงงานที่มีจำนวน 350 แห่ง รวมกว่า 12,023 ครั้ง แพลนท์ปูนที่มีจำนวน 119 แห่ง ได้มีการตรวจสอบรวมกว่า 1,586 ครั้ง และไซต์ก่อสร้างที่มีจำนวน 525 แห่ง ได้มีการตรวจสอบกว่า 4,516 ครั้ง 

และยังได้มีการตรวจสอบในส่วนของรถควันดำรวมกว่า 279,204 ครั้ง และพบว่ามีรถยนต์ควันดำ 2,898 คัน ขณะเดียวกันได้มีการเปิดตัวโครงการเชิญชวนประชาชนมาเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไส้กรองในราคาพิเศษกับภาคเอกชน พร้อมส่วนลดสูงสุด 55% การดำเนินนโนบายดังกล่าวเนื่องจากต้นตอปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้นใน กทม. มากกว่า 50% เกิดจากการเผาไหม้ของรถยนต์ดีเซล 

@Traffy Fondue ชี้พบร้องเรียน ปิ้งย่างกว่า 1.3 พันเคส 

นายเอกวรัญญู กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังได้ใช้ Traffy Fondue เป็นหนึ่งในเครื่องมือหลักในการแก้ไขปัญหา PM2.5 โดยปัจจุบันมีการร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue ในประเด็นปัญหาฝุ่น PM2.5 และควันรวมกันกว่า 6,749 เคส 

ที่น่าสนใจอีกหนึ่งประเด็นสำหรับการร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue คือ มีการร้องเรียนปัญหาจากควันของร้านอาหารและร้านปิ้งย่างรวมกันถึง 1,318 เคส ซึ่งสำนักงานเขตได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการสร้างความเข้าใจกับผู้ค้า สำหรับการควบคุมปัญหาควันจากร้านปิ้งย่าง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มีแนวคิดให้สำนักสิ่งแวดล้อมออกแบบนวัตกรรมเพื่อดักควันจากร้านเหล่านี้ เพื่อลดปัญหาดังกล่าวด้วย นอกจากปัญหาเรื่องกลิ่นและความเดือดร้อนอื่น ๆ อันเกิดจากควันจากร้านค้าปิ้งย่างแล้ว ฝุ่นที่เกิดจากการเผาไหม้ดังกล่าวยังสามารถแปรสภาพเป็นฝุ่นทุติยภูมิที่เปลี่ยนจากฝุ่นขนาดใหญ่เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ด้วย 

@กทม.ปลื้ม พนักงานภาคีกว่าครึ่งแสนพร้อมร่วม WFH

นายเอกวรัญญู ยังกล่าวต่อด้วยว่า ตัวเลขล่าสุดเครือข่ายที่แสดงความจำนงพร้อมร่วม Work From Home รวมกันแล้ว 133 แห่ง ซึ่งมีพนักงานรวมกันกว่า 50,000 คน  โดยกรุงเทพมหานครได้วางกรอบในการประกาศใช้มาตรการ Work From Home โดยมีหลักเกณฑ์ คือ ปริมาณฝุ่น PM2.5 เกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่ร้อยละ 30 ของพื้นที่ขึ้นไป หรือ 15 เขตขึ้นไป และเฉพาะในกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออกมีปริมาณฝุ่น PM2.5 เกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรกินพื้นที่ 3 ใน 4 ของพื้นที่กลุ่มเขตเนื่องจากเป็นพื้นที่ต้นลม

สำหรับบุคลากรของกรุงเทพมหานครนั้นจะเริ่มมีการประกาศใช้มาตรการนี้เมื่อมีปริมาณฝุ่น PM2.5 เกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรใน 15 เขตขึ้นไป อย่างไรก็ดีกรุงเทพมหานครขอยืนยันว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริการต่อพี่น้องประชาชนอย่างแน่นอน 

โดยการขอความร่วมมือ Work From Home นี้ ส่งผลต่อการจัดการปริมาณฝุ่น PM2.5 ใน 2 มิติ คือ มิติแรกเมื่อมีการมาตรการนี้แล้ว จะทำให้การเดินทางของประชาชนลดลง ส่งผลให้ค่าฝุ่นที่มีต้นเหตุมาจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์สันดาปลดลงไปด้วย และการ Work From Home ยังช่วยลดปัญหาสุขภาพจากการปะทะกับ PM2.5 จากการเดินทางโดยตรงอีกด้วย