ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค แนะวิธีป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วมหรือน้ำป่าไหลหลาก ได้แก่ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ และกลุ่มโรคที่มักเกิดตามมากับน้ำท่วม ย้ำ! ติดตามข่าวสารจากทางราชการ และเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ

วันนี้ (28 ธันวาคม 2566) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากสถานการณ์มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมเฉียบพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 22 - 27 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา น้ำเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชน โดยเฉพาะ 5 จังหวัดในภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบในหลายพื้นที่ กรมควบคุมโรค มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ระมัดระวัง ติดตามข่าวสารจากทางราชการ และเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ สำหรับโรคและภัยสุขภาพที่ต้องระมัดระวังในช่วงน้ำท่วม  มีดังนี้ 
1.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ คือ โรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวม 
2.กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ คือ โรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วง 
3.กลุ่มโรคที่มักเกิดตามมากับน้ำท่วม คือ โรคไข้ฉี่หนู โรคตาแดง และโรคไข้เลือดออก 

ส่วนภัยสุขภาพที่ต้องระวัง คือสัตว์แมลงมีพิษกัด/ต่อย เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ เป็นต้น  รวมถึงต้องระวังการจมน้ำ การขับขี่ยานพาหนะบริเวณน้ำไหลผ่านเส้นทางด้วย  

สำหรับวิธีป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วมหรือน้ำป่าไหลหลาก สามารถปฏิบัติได้โดย 
1.อย่าทิ้งขยะทุกชนิด หรือขับถ่ายของเสียลงน้ำท่วมขัง ให้ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูลลงในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้แน่นแล้วเก็บไว้ในที่แห้ง 
2.หากน้ำท่วมขังกระเด็นเข้าตาหรือมีฝุ่นละอองเข้าไปในตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างหน้าและดวงตาให้สะอาด  
3.รับประทานอาหารที่ปรุงสุก ร้อน สะอาด เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษและโรคอุจจาระร่วง 
4.หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำเป็นเวลานาน ควรใส่รองเท้าบูททุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคที่มักเกิดตามมากับน้ำท่วม รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและเช็ดให้แห้งทันที 
5. หากต้องโดยสารเรือหรือเดินทางทางน้ำ ต้องสวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง กรณีถ้าไม่มีให้ใช้อุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝาผูกเชือก ขนาด 5 ลิตร สะพายแล่งแทน

ด้าน นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้กำชับไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กองระบาดวิทยา กองโรคติดต่อทั่วไป กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ เป็นต้น จัดเตรียมแผนเผชิญเหตุ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วม โดยจัดทีมตระหนักรู้สถานการณ์ ตรวจจับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมพร้อมสนับสนุนทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว ร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานในพื้นที่ กรณีเกิดการระบาดของโรค รวมถึงเร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการป้องกันโรคแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาดังกล่าว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร.1422