ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชู สธ.บริหารงบดีกว่าก.ศึกษาธิการ เหตุโครงการ30บาทรักษาทุกโรค ไม่ใช่แค่สวัสดิการรักษาพยาบาล แต่เป็นการปฏิรูปงบประมาณด้านสาธารณสุข ทุกบางต้องเกิดประโยชน์ต่อสุขภาพประชาชน และไม่เพิ่มภาระหมอ พยาบาล บุคลากร เหตุทุกวันนี้หมอก็น้อยแล้ว สวนทางการจัดสรรงบฯก.ศึกษา  

 

เมื่อวันที่ 5 มกราคม ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  อภิปรายตอนหนึ่งเกี่ยวกับงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ที่น้อยกว่ากระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ในการประชุมสภา วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วันที่สาม โดยมีการพูดถึงผลการการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ซึ่งของไทยถดถอย ขณะที่หลักสูตรการเรียนการสอนของไทยกลับไม่ตอบโจทย์

ที่สำคัญมีข้อมูลว่า การบูลลี่ในโรงเรียนของไทย ส่งผลเสียต่อผลสอบ PISA ในวิชาวิทยาศาสตร์  แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้มีการแก้ไขอย่างชัดเจน และเมื่อมาดูงบประมาณปี 2567 ไม่เห็นให้ความสำคัญกับการจัดการแก้ปัญหาอำนาจนิยม และบูลลี่ในโรงเรียนเลย หนำซ้ำเด็กไทยมีเวลาเรียนเยอะมากวันละ 8 ชั่วโมงหรือ 56 ชั่วโมง/สัปดาห์ แต่ผลการสอบ PISA ตกต่ำ แสดงว่าเวลาเรียนไม่มีคุณภาพ แทนที่โรงเรียนจะเอาเวลามาสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ แต่กลับเอามาทำโครงการต่างๆ เพื่อเป็นภาระการศึกษา สิ้นเปลืองงบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่น

ชูก.สาธารณสุขบริหารงบประมาณดีกว่า ก.ศึกษา

เรื่องงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ไม่ต้องเทียบกับใคร เทียบกับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จะเห็นปัญหาชัดเจน ทุกวันนี้ทุกคนรู้จักโครงการ30บาทรักษาทุกโรคเป็นอย่างดี โครงการนี้ไม่ใช่แค่สวัสดิการรักษาพยาบาลเท่านั้น  แต่เป็นการปฏิรูประบบงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นให้เงินทุกบางทุกสตางค์ถูกจัดสรรให้เกิดประโยชน์ทางตรงด้านสุขภาพต่อประชาชนมากที่สุด ทั้งการป้องกันโรค รักษาพยาบาล ฟื้นฟูสุขภาพ

โดยงบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่นๆของกระทรวงสาธารณสุข จะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งอยู่ในกรอบภารกิจ 3 เรื่อง คือ 1.ส่งเสริมการป้องกันโรค 2.เพิ่มศักยภาพทักษะทางวิชาชีพ 3.ยกระดับมาตรฐานของสถานพยาบาล เพื่อไม่ให้มีโครงการอื่นๆ อะไรก็ไม่รู้ มาดึงเวลาของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ ออกจากสถานพยาบาล เพราะหมอก็มีน้อยอยู่แล้ว จึงไม่ว่างพอจะมาทำโครงการอะไรเละตุ้มเป๊ะแบบนี้ ทำให้การบริหารงบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่น  มีประสิทธิภาพมากกว่ากระทรวงศึกษาฯอย่างมาก

เห็นได้ชัดว่า งบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่นของกระทรวงศึกษาธิการ มีสัดส่วนงบฯ ไม่รวมงบบุคลากร ที่สูงมาก เมื่อเทียบกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งศธ.มีโครงการที่เต็มไปด้วยงานสร้างภาระให้แก่ครู เต็มไปด้วยโครงการที่ดึงเด็กออกจากห้องเรียน เต็มไปด้วยโครงการซ้ำซ้อนที่สามารถบูรณาการในวิชาเรียนได้ อย่างปีงบประมาณ 2567 ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 13.41% จากปี2566 อยู่ถึง 17.93% แต่เมื่อเทียบกับ สธ. อยู่ที่ระดับ 6.48%ของปี2567  ดังนั้น  งบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่นของกระทรวงศึกษาธิการสามารถปรับลดได้อีก โดยเฉพาะโครงการซ้ำซ้อน และอื่นๆอีกมากมาย รวมๆกันตนวิเคราะห์เองยังลดได้กว่า 2 พันล้านบาท   ด้วยเหตุนี้จึงไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้