ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ. เผยผล 3 วัน “30บ.รักษาทุกที่”ด้วยบัตร ปชช.ใบเดียว 4 จังหวัดไร้ปัญหา เตรียมเวิร์กชอปก่อนขยายเฟสสอง 8 จังหวัด 25-26 ม.ค.นี้ ชี้โครงการยังเป็นไปตามนโยบายสร้างขวัญกำลังใจ ลดภาระงานบุคลากร ชู รพ.ร้อยเอ็ดไร้ห้องบัตร รพ.ยี่งอฯ หมุนเวียนบุคลากรช่วยงานอื่นได้  พร้อมมอบรพศ.รพท.ใน 4 จ.นำร่องเก็บข้อมูลลดความแออัด  

 

เมื่อวันที่ 10 มกราคม นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินหน้า 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว หลังคิกออฟ 4 จังหวัดนำร่อง แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ. ว่า ที่ประชุมได้รายงานการดำเนินการเฟสแรก ที่คิกออฟ 4 จังหวัดเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งมีการติดตามผลการดำเนินงาน  เช่น พบปัญหาอุปสรรคอย่างไร นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รองปลัด สธ.ที่รับผิดชอบก็รายงานว่า เรามีคณะทำงานติดตาม (วอร์รูม) โดยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. ได้ให้ติดตามทุกจังหวัดเป็นการเฉพาะ เพื่อติดตามปัญหาอุปสรรคและผลการดำเนินงานหลังคิกออฟ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานที่บ่งชี้ว่า เป็นอุปสรรคใดๆ แต่เราเฝ้าระวังตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์

เตรียมเวิร์กชอปก่อนขยายเฟสสอง บัตรปชช.ใบเดียว

อีกเรื่องคือรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานในเฟส 2 จำนวน 8 จังหวัดในเขตสุขภาพที่เหลือ คือ เขตสุขภาพที่ 2 เพชรบูรณ์ เขตสุขภาพที่ 3 นครสวรรค์ เขตสุขภาพที่ 4 สิงห์บุรี เขตสุขภาพที่ 6 สระแก้ว เขตสุขภาพที่ 8 หนองบัวลำภู เขตสุขภาพที่ 9 นครราชสีมา เขตสุขภาพที่ 10 อำนาจเจริญ และเขตสุขภาพที่ 11 พังงา ก็เริ่มเตรียมความพร้อมและจะนัดหมายประชุมเวิร์กชอปร่วมกันใน 8 จังหวัดนี้ วันที่ 25-26 ม.ค.นี้ เพื่อเริ่มเข้าสู่กระบวนการเตรียมพร้อมและจัดบริการ ถ้าพื้นที่ไหนดำเนินการถึงขั้นจัดบริการได้จะให้เริ่มเลย และตรวจสอบความพร้อมทั้ง 8 จังหวัด และจะประกาซวันคิกออฟรอบ 2 ในเดือน มี.ค.

 ถามว่าการคิกออฟมา 3 วันมีการรายงานอุปสรรคอะไรหรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ยังไม่มี โดยเฉพาะการใช้บริการจากภาคประชาชน แต่ที่เราให้ความสำคัญต้องไปทำต่อคือ วิธีการเบิกจ่ายระบบการเงิน ต้องไปดูในพื้นที่ว่าวิธีการที่วางไว้สอดคล้องเหมาะสมไหม ต้องปรับเปลี่ยนหรือไม่ อย่างในคลินิกเราให้เหมาจ่ายต่อครั้งเหมาะหรือไม่ เช่น ให้ไป 320 บาท หรือ 240 บาทต่อคนต่อครั้งก็ต้องไปดู  รวมถึงเรื่องสิทธิอื่นที่จะเข้ามารักษาด้วยระบบนี้ เราก็ให้แนวทางว่าให้ สธ. สปสช. ไปคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมบัญชีกลาง ซึ่งสนใจมากติดต่อประสานมาที่เราอยากจะพูดคุยกันว่าจะเชื่อมระบบอย่างไ รรวมถึงประกันสังคมจะพูดคุยรายละเอียดว่าจะนำสิทธิเหล่านั้นมาใช้ระบบบริการเครือข่ายทุกเครือข่ายเหมือนบัตรทองอย่างไร

มอบรพศ.รพท.ใน 4 จ.นำร่องเก็บข้อมูลลดความแออัด

ถามต่อว่าประชาชนไปใช้บริการได้ตามเป้าหมายและลดความแออัดของ รพ.หรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ผลการดำเนินการในมุมของการลดความแออัด ภาพจากการไปกอง รพ.ใหญ่ๆ มันหายไป เพราะประชาชนไปใช้บริการสถานที่ใกล้บ้านได้ สิ่งที่เรามีคำตอบคือ ไม่ว่าอยู่จุดไหนภาพที่คนเห็นรับบริการเบื้องต้นจะเหมือนกันทุกที่ เสมือนเป็น 1 รพ. เลยมั่นใจว่าไม่ต้องเดินทางไป รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป สะดวกตรงไหนไปใช้บริการตรงนั้น เมื่อจำเป็นต้องส่งต่อ แพทย์จะเชื่อมข้อมูลส่งต่อไป ส่วน รพ.ศูนย์/ทั่วไปทั้ง 4 จังหวัดนำร่องว่าลดความแออัดมากน้อยแค่ไหน อยู่ระหว่างเก็บข้อมูลอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการตรวจสอบความซ้ำซ้อนการรับบริการทั้งที่ รพ. และ 8 นวัตกรรมหน่วยบริการ เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม ร้านขายยา อย่างไร  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ถ้าอยู่ในระบบสามารถตรวจสอบได้เลย เพราะเป็น personal Health Record ในการเข้าไปรับบริการแต่ละคัร้งจะถูกบันทึกประวัติการรักษาทั้งหมด และไม่ว่าจะไปหน่วยบริการใดก้ตามใน 8 นวัตกรรม เมื่อเสียบบัตรประชาชนได้รับการอนุญาต แพทย์ผู้รักษาที่รับอนุญาตก็เสียบบัตร ประวัติจะขึ้นเหมือนกันหมด จะรู้หมดว่าคนไข้ไปรักษาที่ไหน ดรคอะไร ยิ่งโรคเดียวกันจะรู้ทันที จะเป็นการจัดการในตัวระบบได้

เดินหน้าบัตรปชช.ใบเดียว ลดภาระบุคลากรเยอะมาก  

ถามถึงบัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ หลังเดินหน้าแล้วช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์อย่างไร นพ.ชลน่านกล่าวว่า ช่วยลดได้เยอะมกา อย่างเชิงโครงสร้าง เดินเข้าไป รพ.จะไม่เห็นห้องบัตรแล้ว เมื่อก่อนจะต้องมีห้องทำบัตร ห้องเวชระเบียน มีโอพีดีการ์ดกองเต็มไปหมด อย่างรพ.ร้อยเอ็ด ยกออกไปหมดเลย  ห้องสี่เหลี่ยมนั้นกลับมาเป็น One Stop Service ให้แก่หน่วยบริการอื่นที่เข้ามาดูแล เป็นหน่วยบรการที่เรียกว่า ศูนย์ราชการสะดวก (Government Easy Contact Center : GECC) ได้รับรางวัลระดับทอง มีประกันสังคม มีเทศบาล มาจดแจ้งเกิดแจ้งตาย มีเรื่องสิทธิประโยชน์ประสบภัยจากรถมาอยู่ตรงนั้นหมดเลย คนไข้มา รพ.ทีเดียว สามารถรับบริการเหล่านั้นครบวงจร

“ฉะนั้น ภาระงานเดิมมีคนในห้องบัตร รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป ที่มีเป็นสิบๆ คน เหลือเพียงคนเดียว กลายเป็นเครื่องคีออสแทน ระบบงานที่เชื่อมทุกจุดที่เดิมใช้คนเยอะก็ลดลงไป จะเหลือคนที่จำเป็น เช่น พยาบาลซักประวัติ หมอที่ต้องตรวจ คนเดินส่งต่างๆ หายหมด ลดงานได้เยอะมาก” รมว.สาธารณสุขกล่าว

 

สามารถหมุนเวียนบุคลากรไปช่วยงานอื่นแทน

ถามต่อว่าทำให้สามารถหมุนเวียนบุคลากรไปช่วยงานตรงอื่นได้ใช่หรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ถูกต้อง ยกตัวอย่าง รพ.ยี่งอฯ จ.นราธิวาส ผอ.รพ.ปวดหัว ต้องเอาคนกลุ่มนี้ไปฝึกอาชีพ เป็นบาริสตาเปิดร้านกาแฟขาย เพราะว่างานห้องบัตรไม่มีแล้ว ตรงนี้เป็นตัวอย่าง

เมื่อถามถึง รพ.เอกชนที่เข้าร่วมใน 4 จังหวัดนำร่องอาจยังไม่มาก แต่พอขยาย 8 จังหวัด จะมี รพ.เอกชนข้าร่วมมากขึ้นหรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราเปิดให้ รพ.เอกชนสมัครมาเข้าร่วมเครือข่าย เราไปบังคับไม่ได้ แต่เชิญชวนให้สมัครใจมาร่วมโครงข่าย ถ้าเขาเห็นระบบเราอย่างนี้เชื่อว่าจะเข้ามา แต่อาจกังวลเรื่องการเบิกจ่ายก็จะไปปรับตรงนี้ให้ ถ้าระบบเสถียรแบบนี้แล้วมันใจ รพ.เอกชนได้ประโยชน์

ถามย้ำว่าต้องเป็น รพ.เอกชนที่ขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบบัตรทองด้วยหรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไม่เป้นการขึ้นทะเบียนบัตรทอง ขึ้นทะเบียนโดยระบบอยู่แล้ว เพราะขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แต่เมื่อจะร่วมโครงข่ายเราจะถูกเชื่อมด้วยระบบของมันว่า ผู้ให้บิรการต้องยืนยันตัวตน สถานบริการต้องยืนยันว่าเป็นสถานบริการในระบบ ผู้ให้บริการหรือ Provider ID ก้ต้องยืนนยันตัวเองว่าเป็นแพทย์ พยาบาลในระบบ จะเชื่อมกันทั้งหมดอยู่แล้ว

ถามว่า รพ.เอกชนค่อนข้างกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล  นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราคำนึงถึงปัญหานี้ ข้อมูลบางอย่างเราสามารถวางระบบที่เปิดปิดได้ เอาเฉพาะข้อมูลที่สำคัญจำเป็นกับการบริการ