ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ชลน่าน”  เปิดศูนย์ Tele consult ทุกเขตสุขภาพ มอบเป็นของขวัญวันเด็กแห่งชาติ 2567  ให้คำปรึกษาผ่านระบบการแพทย์ทางไกลที่ทันสมัยและมีมาตรฐาน เพื่อให้เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าได้เข้ารับการวินิจฉัยรักษาทันท่วงที  ลดปัญหาพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนบุคลากรเชี่ยวชาญ  พร้อมมอบสธ.เป็นต้นแบบตั้งศูนย์เด็กเล็ก

 

สธ.มอบของขวัญวันเด็ก เพื่อพัฒนาการสมวัย

เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีมอบของขวัญวันเด็ก 2567 กระทรวงสาธารณสุข   “การแพทย์ทางไกล เพื่อพัฒนาการสมวัยของเด็กไทยทุกคน” ภายใต้ความร่วมมือ กรมการแพทย์ กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พร้อมเปิดการประชุมวิชาการพัฒนาการเด็กแห่งชาติ และเปิดศูนย์ Tele consult ด้านพัฒนาการเด็กระดับชาติ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ร่วมกับเขตสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ ผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กไทยทุกคนเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะด้านพัฒนาการตามวัย มีเป้าหมายให้เกิดบริการที่เท่าเทียมกันทุกพื้นที่ มีการยกระดับคุณภาพชีวิต และเพิ่มอัตราการเกิดของเด็กคุณภาพ ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาระบบเฝ้าระวังและคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัยด้วยคู่มือ DSPM ลดภาวะความผิดปกติ ความพิการได้ 20% หากไม่ทำอะไรเลย จะมีปัญหา 30% แต่ข้อมูลปี 2561 -2565 มีเด็กเข้าถึงการคัดกรองเพียง 7 พันคน เรียกว่าปัจจุบันนอกจากเด็กเกิดน้อย เกิดยากแล้ว แถมยังมีปัญหาอีก ซึ่งเหตุที่เข้าไม่ถึงเนื่องจากพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนบุคลากร ระบบการส่งต่อมีช่องว่างทำให้ใช้ระยะเวลานานและมีค่าใช้จ่าย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานในสังกัดจึงร่วมกัน จัดตั้งศูนย์ Tele consult ด้านพัฒนาการเด็กระดับชาติ เพื่อให้เด็กพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงการแพทย์ที่ทันสมัยและมีมาตรฐาน 

มอบสธ.ต้นแบบตั้งศูนย์เด็กเล็ก

"ที่เราเรียก Tele consult เป็นของขวัญวันเด็กเพราะเมื่อก่อนอาจจะมีปัญหา แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าสามารถทำให้ทุกที่บนผืนแผ่นดินนั้นสามารถใกล้กันได้ อย่างแนวคิดบัตรประชาชนใบเดียวเลยเป็นจริงได้ ดังนั้นการดูแลเด็กก็เช่นกันที่เราเอาเทคโนโลยีนี้เข้ามาช่วยลดช่องว่าง เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ ขอเพียงพวกเราใส่ใจสนใจ ที่จะดูแลเด็กเหล่านั้น" นพ.ชลน่าน กล่าว และว่า นอกจากนี้ ตนยังมีแนวคิดในการผลักดันให้มีเดย์แคร์ เซ็นเตอร์ ซึ่งจะเป็นศูนย์ที่ส่งเสริมการกินนมแม่ถึง 3 ปีให้ได้ โดยจะให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นต้นแบบในเรื่องนี้

พัฒนาระบบเฝ้าระวังคัดกรองโรคเด็กปฐมวัย

รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาระบบเฝ้าระวังและคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัยด้วยคู่มือ  DSPM  แต่ก็พบว่ามีเด็กจำนวนหนึ่งที่คัดกรองพัฒนาการแล้ว สงสัยว่าเด็กมีพัฒนาการที่ล่าช้าแต่ไม่สามารถเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษาตามมาตรฐานได้ในเวลาที่เหมาะสม เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานในสังกัด อาทิ กรมการแพทย์ กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จึงได้ร่วมกัน จัดตั้งศูนย์ Tele consult ด้านพัฒนาการเด็กระดับชาติ เพื่อให้เด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีมาตรฐาน ได้รับการวินิจฉัยและเข้าสู่กระบวนการรักษาทันท่วงทีด้วยการแพทย์ทางไกลและมีระบบส่งต่อที่ดีหากมีความจำเป็นต้องส่งตัวเด็กมารักษาในรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.จังหวัด ต่อไป

สธ.จัดระบบใหม่ใช้ Tele consult ลดปัญหาพื้นที่ห่างไกล ช่วยเด็กเข้าถึงบริการ  

นพ.โอภาส กล่าวว่า จากข้อมูล Health Data Center ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ระบบเฝ้าระวังและคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัย ในปี 2561 ถึง 2565 มีเด็กที่ได้รับการคัดกรองพัฒนาการสงสัยล่าช้า แต่ยังคงไม่สามารถเข้าถึงการวินิจฉัยและการรักษาตามมาตรฐาน เฉลี่ยมากกว่า 7,000 คนต่อปี เนื่องจากพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กและการวินิจฉัย ตลอดจนระบบการส่งต่อมีช่องว่างทำให้ใช้ระยะเวลานานและมีค่าใช้จ่าย ซึ่งศูนย์ฯ นี้ จะเข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาขีดความสามารถด้านการให้บริการทางการแพทย์ที่ซับซ้อนแก่โรงพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ห่างไกล ด้วยระบบบริการที่ไร้รอยต่อ

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เล็งเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดูแลรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล ผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (Tele consult) เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการด้านสาธารณสุขจากบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม รวมทั้งเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษา และติดตามผลการรักษา ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ซึ่งได้บูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเครือข่ายสุขภาพ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมและเกิดความยั่งยืน