ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์ห่วงสุขภาพประชาชน มอบรพ.ในสังกัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น พร้อมสื่อสารความเสี่ยง PM 2.5 และจัดตั้งคลินิกมลพิษออนไลน์ ให้ข้อมูลและประเมินสภาวะสุขภาพประชาชน

วันที่ 19 ม.ค. 2567 นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์มลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ส่งผลกระทบสุขภาพประชาชน จึงมอบหมายให้โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์จัดพื้นที่ป้องกันฝุ่น PM2.5 โดยไม่ให้เกิน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เพื่อให้บริการผู้ป่วยซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางให้ได้รับบริการที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ โดยให้ดำเนินการ ดังนี้

1. จัดทำพื้นที่ให้บริการผู้ป่วยมีฝุ่น PM2.5 ไม่เกิน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร  

- มีการตรวจวัดปริมาณฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ที่มีการนั่งรอ การพักนอน ให้ครอบคลุมทั้งโรงพยาบาลในวันที่อากาศภายนอกอาคารมากกว่า 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร  

- กรณีที่การตรวจวัดพื้นที่มีปริมาณฝุ่น PM2.5 เกิน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ให้มีการปรับแก้ตาม แนวทาง วิธีการทำห้องปลอดฝุ่น PM 2.5 ในสถานที่สาธารณะ (Community Clean Air Shelter) โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1foz8RHxa37dut8axfAtVffDFemmv_7sU/view?usp=  พร้อมทั้งทำการตรวจวัดซ้ำเป็นระยะ 

- ติดป้ายรับรองพื้นที่ที่มีการตรวจวัดปริมาณฝุ่น PM2.5 ไม่เกิน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร โดยใช้ข้อความว่า พื้นที่นี้มีฝุ่นน้อยกว่า 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ทำกิจกรรมได้ตามปกติ โดยติดให้มองเห็นชัดเจน 

- ทำการขึ้นทะเบียนห้องปลอดฝุ่นกับกรมอนามัย ตาม LINK https://podfoon.anamai.moph.go.th 

2. โรงพยาบาลควรจัดทำสื่อเกี่ยวกับข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่ แนะนำการเดินทางมาที่โรงพยาบาลเพื่อลดการสัมผัสฝุ่น PM2.5 ได้แก่ การใช้บริการ Telemedicine การใช้หน้ากากอนามัย แว่นตา เสื้อและกางเกงขายาว เมื่อต้องเดินทางโดยรถประจำทาง

3. โรงพยาบาลต้องสื่อสารและสร้างความตระหนักต่อการหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นให้กับผู้ใช้บริการ ได้แก่ การจัดบ้านให้เป็นห้องปลอดฝุ่น ไม่ทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นรอบบ้าน เลี่ยงการออกจากบ้าน และใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน 

นอกจากนี้ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรมการแพทย์ มีสถาบันอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม ได้มีการจัดประชุมเครือข่ายมลพิษออนไลน์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาการดำเนินงานคลินิกมลพิษร่วมกัน รวมทั้งมีการพัฒนารูปแบบคลินิกมลพิษ online เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์เบื้องต้น และเข้าถึงข้อมูลฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลความรู้ในการเลี่ยงหรือลดการสัมผัสฝุ่น PM 2.5  ทั้งนี้ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีได้จัดตั้งคลินิกมลพิษออนไลน์เป็นแห่งแรกของประเทศ  และปัจจุบันมีคลินิกมลพิษ จำนวน 72 แห่ง ทั่วประเทศ