ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สสส.-โคแฟค เปิดเวทีนักคิดดิจิทัล ใช้ AI มุมสร้างสรรค์-ปลอดภัย สร้างพลเมืองมีสติ เตือน! ผู้ไม่หวังดีใช้ AI ปลอมเสียง ปลอมภาพ สวมรอยหลอกเหยื่อ ปชช.ต้องมีทักษะเท่าทันสื่อ มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและสื่อสารข้อมูล 

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในพิธีเปิดเวทีนักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum ครั้งที่ 26 เราจะใช้ AI อย่างไร ให้สร้างสรรค์และปลอดภัย ว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เทคโนโลยีที่ออกแบบให้มีระบบการทำงานเหมือนสมองมนุษย์ หลากหลายธุรกิจมีการปรับตัวขับเคลื่อนด้วยระบบ AI เพื่อสร้างเนื้อหา ภาพ ตอบโต้แทนมนุษย์ ในทางกลับกันผู้ไม่หวังดีใช้โอกาสนี้ ปลอมเสียง ปลอมภาพ สวมรอยหลอกเหยื่อ หากประชาชนไม่มีทักษะเท่าทันสื่อ ป้องกันข้อมูลปลอมที่ AI สร้างขึ้น มีโอกาสที่จะถูกหลอก รวมถึงสร้างความเข้าใจผิด เกิดความเกลียดชัง ความแตกแยกในสังคม นำไปสู่อัตราความเสี่ยงและความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะ

“เวที Digital Thinkers Forum ครั้งนี้ สสส. สานพลัง โคแฟค และภาคีเครือข่าย มุ่งพัฒนานิเวศสื่อสุขภาวะ สร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ ควบคู่กับการพัฒนาคนให้เป็นพลเมืองเท่าทันสื่อ เท่าทันตนเอง มีจิตสำนึก ค่านิยมและพฤติกรรมที่ส่งเสริมระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและสื่อสารข้อมูลอย่างสร้างสรรค์ เตรียมพร้อมรับมือกับ AI บางส่วนที่เผยแพร่ข้อมูลผิดๆ และร่วมป้องกันอย่างรู้เท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่ที่จะเข้ามาในอนาคต” นางเบญจมาภรณ์ กล่าว

น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค กล่าวว่า ผลกระทบของข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีที่มีต่อพลเมืองในยุคดิจิทัล มีทั้งในแง่สุขภาวะ ความรู้ ความเข้าใจ ความถูกต้อง ไม่ถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร เนื้อหาที่ส่งผลกระทบในด้านลบ ซึ่งวิธีการจัดการรับมือกับข่าวลวง โดยเฉพาะในยุคที่ต้องเรียนรู้ร่วมกับ AI ทั้งด้านบวกและด้านลบ ต้องสร้างการมีส่วนร่วมกระตุ้นให้สังคมได้เห็นความสำคัญกับการป้องกันและสร้างทักษะรู้เท่าทันอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายแก้ไขปัญหาตรงจุด

นายสุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ผู้วิจัยเรื่อง AI กับข้อมูลข่าวสาร กล่าวว่า มีผู้ใช้ซอฟแวร์ AI เพื่อสร้างข่าวลวงหรือข้อมูลที่ไม่จริงเพื่อกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึก รวมถึงภาพ และวิดีโอปลอมที่ได้รับความสนใจมากกว่าข่าวจริง ซึ่งความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจาก AI 1.การขยายตัวของปริมาณและคุณภาพของเนื้อหาลวงรวดเร็ว ต้นทุนต่ำ และสามารถชักจูงให้เชื่อได้มากขึ้น 2.คนมีความเชื่อถือต่อสื่อและข้อมูลลดลง 3.ปรากฏการณ์เอื้อประโยชน์ให้คนโกหก 4.สร้างความเกลียดชังในสังคม 5.เกิดปรากฏการณ์ AI หลอนหรือมโน ทั้งข้อมูลไม่ถูกต้อง อันตรายต่อชื่อเสียงคนดัง หรือตบทรัพย์ ปัจจุบันนอกจากบริษัทแล้ว รัฐบาลทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีนเห็นความสำคัญ พยายามพัฒนากลไกและกฎหมายระบบตรวจสอบการใช้งานของ AI ว่าเหมาะสม โปร่งใส ปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ