ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขขานรับนโยบาย”เศรษฐา”เดินหน้าใช้เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย "หมอชลน่าน" สั่งการเร่งรัดอบรม Sky Doctor ให้ทีมแพทย์ พยาบาลทั่วประเทศ  หนุนจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการแพทย์ระดับเฉพาะทางสาขาการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ

 

เมื่อวันที่ 28 มกราคม น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขพร้อมขานรับนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีที่ประกาศผ่านการแถลงของนายชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาลหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีที่จังหวัดพังงาเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมาที่แจ้งว่า รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมระบบรับแจ้งเหตุและสั่งการที่มีมาตรฐานในระดับสากล เพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วย สร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวและผู้ป่วย โดยผลักดันการจัดตั้งแพทย์ฉุกเฉิน  เพิ่มความรวดเร็วในการขนส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน

น.ส.ตรีชฎากล่าวว่า หลังนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวสาธารณสุขเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งรัดพร้อมสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กองสาธารณสุขฉุกเฉิน สสจ.ทั่วประเทศ และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการแพทย์ระดับเฉพาะทาง สาขาการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศหรือที่เรียกว่า สกาย ดอกเตอร์( Sky Doctor) ให้ครบทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ โดยกำหนดให้เป็น 1 ใน 13 ควิกวิน 13 ประเด็นใน 100 วัน

โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมืองระบุ ว่า เพื่อเร่งรัดให้นโยบายดังกล่าวเดินหน้าตอบสนองนโยบายของนายกรัฐมนตรี ได้ให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินเปิดรับสมัครผู้เข้าอบรมหลักสูตร Basic HEMS ให้กับผู้ให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินของหน่วยปฏิบัติการแพทย์ระดับเฉพาะทางสาขาฉุกเฉินการแพทย์ทางอากาศ เพื่อเตรียมพร้อมด้านบุคลากรที่จะเข้ามาช่วยให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินในหน่วยดังกล่าว เพราะหัวใจของการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน คือ การเข้าถึงการรักษาเฉพาะทางได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเฮลิคอปเตอร์จะเป็นยานพาหนะที่สามารถช่วยนำผู้ป่วยฉุกเฉินมาถึงโรงพยาบาลได้

น.ส.ตรีชฎา กล่าวว่า ทีมการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ หรือ สกาย ด็อกเตอร์ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานาน 15 ปี จึงจำเป็นต้องมีการยกระดับ ปรับระบบ ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ทั้งด้านความรู้ ทักษะ และการใช้เครื่องมือใหม่ๆที่ทันสมัยมากขึ้น โดยตั้งเป้าจัดทีมแพทย์ฉุกเฉินในระดับสากล ในเขตสุขภาพทั้งหมด 13 เขต 20 หน่วยทั่วประเทศ

"ในการดำเนินการ เราได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งทหาร ตำรวจ และภาคีเครือข่ายให้บริการอากาศยาน จัดระบบรับแจ้งเหตุ   และระบบปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนมีประสิทธิภาพมากที่สุด" น.ส. ตรีชฎา

โฆษกฯ กล่าวว่า นพ.ชลน่าน ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน ให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างมีคุณภาพทั่วถึง และเท่าเทียม มีเครือข่าย เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกระทันหัน อยู่ในภาวะอันตรายให้ได้รับการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงที ป้องกันการเสียชีวิต หรือรุนแรงขึ้นจากการบาดเจ็บหรือการป่วยนั้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในทุกด้านที่จะการทำงานเพื่อประชาชน