ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันโรคทรวงอกชี้ฝุ่น PM2.5 เสี่ยงกระทบระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคร่วม ทั้งปอดอักเสบ ถุงลมโป่งพอง ฯลฯ เสี่ยงอาการกำเริบได้ พบช่วงเดือน ก.พ. 66 ที่ผ่านมา ค่าฝุ่นสูง คนไข้มีอาการเพิ่มขึ้น มีความเป็นไปได้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 สูง  ส่วนคนทั่วไปยังไม่มีตัวบ่งชี้แยกชัดว่ามาจากฝุ่นพิษ เว้นแต่หากมีไข้ร่วมโอกาสจากการติดเชื้อโรคสูง  

จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่กระจายไปในพื้นที่ต่างๆ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ เช่น แสบจมูก น้ำมูกไหล จาม ไอ ฯลฯ หลายคนสงสัยว่าจะสามารถแยกอาการเหล่านี้ว่า เกิดจากฝุ่น PM2.5 หรือจากกลุ่มโรคทางเดินหายใจ ได้อย่างไรนั้น

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์  นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม หัวหน้ากลุ่มงานอายุรกรรมปอด สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ ว่า ไม่มีตัวแยกหรือบ่งชี้ได้อย่างชัดเจน ยิ่งช่วงฤดูหนาว อากาศเย็นๆ ก็จะมีกลุ่มไวรัสร่วมด้วย บางครั้งก็อาจเป็นไวรัสกระตุ้น  แต่หากเป็นแบคทีเรียกระตุ้น ส่วนมากจะมีอาการร่วม เช่น มีไข้ร่วมด้วย เป็นตัวช่วยสังเกตได้ แต่จะบอกว่ามาจากฝุ่น 100% อันนี้ยังบอกไม่ได้ รู้เพียงว่า หากแนวโน้มค่าฝุ่นสูงมากๆ ก็จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน  เช่น หากสัปดาห์นี้ค่าฝุ่น PM2.5 สูงจริงขึ้นมา 60-70 ก็น่าจะเกี่ยวข้องกัน 

“หากมีอาการไอ แสบจมูก น้ำมูกไหล จามตลอด ก็ต้องมาดูว่า ช่วงนั้นค่าฝุ่นเยอะหรือไม่ หากใช่ก็อาจเกี่ยวกัน แต่หากสัมพันธ์เชื้อโรค อาจมีอาการอื่น มีไข้ร่วมด้วย” พญ.เปี่ยมลาภ กล่าว

เมื่อถามว่าอย่างที่สถาบันโรคทรวงอก มีแยกกลุ่มอาการที่คนไข้มารักษาหรือไม่ ว่ามาจากฝุ่น หรือจากโรค พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวว่า  สถาบันทรวงอกจะตรวจวินิจฉัยคนไข้ที่มารักษา ด้วยการซักถามประวัติว่า อยู่ที่ไหน บริเวณใด ก็จะไปดูว่า พื้นที่นั้นๆมีค่า PM2.5 อยู่ระดับเท่าไหร่ อย่างค่าอยู่ที่ 40-50 ก็อาจเกี่ยวเนื่องได้ แต่เรื่องของการกำเริบกรณีของคนที่ป่วยเป็นโรคอยู่แล้ว เช่น โรคปอดอุดกั้น หรือ COPD  โรคถุงลมโป่งพอง  โรคหอบหืด บางครั้งอยู่ในพื้นที่ที่ค่าฝุ่นสูงๆ แต่อาการจะไม่เกิดในวันเดียวกัน เพราะจะต้องมีการกระตุ้นการอักเสบของหลอดลม บางคนจะเกิดอาการในวันที่สอง วันที่สาม ดังนั้น การดูความสัมพันธ์ต้องดูทั้งสัปดาห์ และต้องดูปัจจัยอื่นๆร่วม อย่างการพิจารณาค่าฝุ่นของพื้นที่ที่เราอยู่ ซึ่งสามารถดูได้ผ่านแอปพลิเคชัน Air4Thai หรือ เว็บไซต์ http://air4thai.pcd.go.th ของกรมควบคุมมลพิษ

พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถาบันโรคทรวงอกจะเจอคนไข้เข้าข่าย ก็จะเป็นช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 สูงจริงๆ เพราะคนไข้จะมาด้วยอาการ ไอเยอะ เหนื่อยเหมือนกัน อย่างเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา มีช่วงหนึ่งตลอดสัปดาห์ที่ค่าฝุ่นพีเอ็มเกิน 50 ประกอบกับคนไข้มีอาการเพิ่มขึ้น จึงคิดว่าเกี่ยวเนื่องกัน แต่หากค่าพีเอ็มไม่สูง อันนี้แยกยาก 

เมื่อถามว่าประชาชนจะสังเกตเบื้องต้นอย่างไรว่า อาการที่เกิดขึ้นอาจมีผลจากฝุ่น PM2.5 พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวว่า จริงๆไม่ได้มีมาร์คเกอร์ว่า อันนี้สัมพันธ์กันหรือไม่ แต่คำถามแรก ที่เราต้องตอบคือ วันนั้นเราอยู่ที่ไหน อยู่ในพื้นที่ค่าฝุ่นสูงหรือไม่ หรือเราอยู่ในห้อง และไม่ได้ออกกลางแจ้งเลย ซึ่งหากไม่ได้ไปไหนก็อาจไม่เกี่ยวข้องกัน เมื่อเราแยกแล้ว หากเกี่ยวข้อง ก็ต้องมาดูว่าอาการรุนแรงหรือไม่ หรือเราป่วยโรคเกี่ยวกับปอดอยู่แล้ว และกำเริบขึ้น ทั้งเหนื่อย มีเสลดมากขึ้น ก็ควรมาโรงพยาบาล แต่กรณีที่มีอาการเล็กน้อย เช่น เจ็บคอ แสบจมูก หากมียาก็ทานก่อนได้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้แจ้งเตือนขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่จากแอปพลิเคชัน Air4Thai พร้อมกับปรับกิจกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน หากค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ขอให้ลดกิจกรรม/การออกกำลังกายกลางแจ้ง หากต้องอยู่ในพื้นที่ค่าฝุ่นสูง ควรใส่หน้ากากชนิด N95 และไม่ควรอยู่เป็นเวลานาน สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ ส่วนอาการที่เกิดจากผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 อาทิ แสบตา แสบจมูก อึดอัด แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ปวดศีรษะ อาเจียน ระคายเคืองผิวหนัง ซึ่งหากอาการไม่ทุเลาควรไปพบแพทย์