ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"หมอประวัติ" นายก อบจ.กาญจนบุรี เผยปัญหาการขับเคลื่อนงาน เรื่องการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ทันตาภิบาลในจังหวัดหายไป 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ถ่ายโอน แนะหาวิธีประสานทำงานร่วมกัน ลดภาระงาน 

นายก อบจ.กาญจนบุรี เล่าเสียงสะท้อนบุคลากร งานทันตาภิบาลเยอะ

เมื่อวันที่ 30 ม.ค. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนากลไกและรูปแบบการจัดการปฐมภูมิด้านสุขภาพช่องปากในหน่วยบริการที่ถ่ายโอนภารกิจไปองค์การบริหารส่วนจังหวัด ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยนพ.ประวัติ กิจธรรมกูลนิจ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี (นายก อบจ.กาญจนบุรี) กล่าวถึงการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปสู่ องค์การบริหารจังหวัด (อบจ.)  เรื่องการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก กับ Hfocus ว่า ปัญหาของ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนมา อบจ. ในการขับเคลื่อนงาน เรื่องการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก มีปัญหาบุคลากรที่มีอยู่เดิมหายไป เพราะบุคลากรที่มีอยู่เดิมไม่ได้ถ่ายโอนมาจึงหายไปประมาณ 30 เปอร์เซนต์ ภาระงานที่มีอยู่เดิมเทียบกับจำนวนคนที่ถ่ายโอนมีมากขึ้น ควรมีตัวชี้วัดเพื่อให้บุคลากรทุกคนทำงานร่วมกัน ส่งเสริมสุขภาพช่องปากให้เหมือนเดิม ปัญหาหลักจึงมองว่าเป็นการขาดแคลนบุคลากรมากกว่า 

"เรื่องยูนิตทันตกรรม เครื่องมือ ในการสนับสนุนทรัพยากรในการทำงานไม่ใช่เรื่องยาก แต่เรื่องของคนทำงานระยะแรกจะยาก ในระยะสั้นต้องร่วมกันทำงานก่อน แต่ระยะต่อไป ท้องถิ่นเองก็มีแผนในระยะยาวเพื่อส่งบุคลากรไปเรียน การให้ทุน การหาคนให้มาทำงานด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลมีแผนส่งเด็กในพื้นที่ไปเรียน เพื่อลดความขาดแคลน อย่างจังหวัดกาญจนบุรี มีความหลากหลาย มีพื้นที่ห่างไกล หาคนมาอยู่ยาก"

เมื่อถามว่า ควรมีการจ้างทันตแพทย์เพิ่มหรือไม่ นพ.ประวัติ ให้ความเห็นว่า ไม่ควรจ้างเพิ่มเพราะระบบคงเดิม บุคลากรเท่าเดิม ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นได้ จึงควรประสานกับกระทรวงสาธารณสุขใช้ทันตแพทย์ที่มีอยู่เดิม เพราะมีระเบียบการจ่ายโอทีแล้ว ให้ สธ.เป็นพี่เลี้ยงใช้บุคลากรที่มีอยู่ 

"รพ.สต.มีขนาดเล็ก ทุกคนจึงต้องช่วยกัน ปัจจุบันงานของทันตาภิบาลเยอะ ทันตาภิบาลในจังหวัดหายไป 30 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ถ่ายโอน ตัวชี้วัดเยอะเกินไป แต่ทาง อบจ.ต้องการให้บริการคนไข้ให้ดี ให้พอใจ ตัวชี้วัดอื่นยังไม่จำเป็น รอให้ตั้งไข่ได้ค่อยทยอยใส่ตัวชี้วัด การเสริมทักษะในการให้บริการก็ยังไม่มีพี่เลี้ยง อยากให้ สธ.ช่วยกันดูแลบุคลากร ในการบริหารจัดการภาพรวมเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด" นพ.ประวัติ กล่าว

ประสาน "กรมธนารักษ์" ขอใช้พื้นที่สร้างโรงพยาบาลทุติยภูมิ

เมื่อถามถึงการจัดสร้างโรงพยาบาลทุติยภูมิ (Secondary Care) นพ.ประวัติ เปิดเผยว่า ตอนนี้กำลังหาพื้นที่จัดสร้างโรงพยาบาล Secondary Care ที่มีมาตรฐานสูงประมาณ 200 เตียง โดยจ้างที่ปรึกษาในการออกแบบโรงพยาบาล และศึกษาความเป็นไปได้อยู่ ซึ่งมีการประสานกับ กรมธนารักษ์ขอใช้พื้นที่เพื่อสร้างโรงพยาบาลขึ้นมา ส่วน รพ.สต.พรีเมียม ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอเข้าสภาวันที่ 19 ก.พ.นี้ เมื่อได้งบประมาณมาแล้วคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567 โดยโรงพยาบาลทั้ง 5 แห่งนำร่อง ประกอบด้วย

  1. รพ.สต.บ้านลาดหญ้า
  2. รพ.สต.บ้านเอราวัณ
  3. รพ.สต.บ้านพระเจดีย์สามองค์
  4. รพ.สต.ท่าเสา
  5. รพ.สต.บ้านโพธิ์เย็น 

"ไทม์ไลน์ที่วางไว้ประมาณ 3 เดือน ซึ่ง รพ.สต.ที่เลือกไว้จะเป็นที่ติดถนน ใกล้แหล่งชุมชน แหล่งท่องเที่ยวเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวปลอดภัย แปลงโฉมใหม่ให้ไม่เหลือเค้าเดิมเลย เพิ่มเติมเครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ บริการทางการแพทย์ รถพยาบาลฉุกเฉิน รองรับการให้บริการประชาชน ทำให้คนมั่นใจใน รพ.สต."

ด้านการดูแลบุคลากรของ รพ.สต. นายก อบจ.กาญจนบุรี กล่าวว่า จะมุ่งเน้นความก้าวหน้าทางวิชาชีพ เปลี่ยนสายงานจากเจ้าพนักงานเป็นนักวิชาการ ตอนนี้จาก 90 กว่าคน ผ่านแล้ว 40 กว่าคน ซึ่งบทบาทหน้าที่ภาระงานเดิมก็ยังทำอยู่ แต่จะมีความก้าวหน้ามากขึ้น คนที่อยากเปลี่ยนสายงานก็มีการศึกษาหาความรู้และอบรมเพิ่ม เพื่อให้ขึ้นถึงชำนาญการพิเศษได้ โดยเสียงสะท้อนของบุคลากรก็มีความสุขขึ้น มีแรงใจในการทำงาน เป็นขวัญกำลังใจให้กับเจ้าพนักงาน