ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอรามาฯ เผยงานวิจัยใหม่ เทียบบุหรี่ไฟฟ้า-บุหรี่ธรรมดา อันตรายไม่ต่างกัน! ยิ่งสูบทั้ง 2 ชนิด เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคทางเมตาบอลิค โรคหอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง เพิ่ม 2 เท่า  

วันที่ 7 มี.ค. 2567 รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยงานวิจัยใหม่ที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร the New England Journal of Medicine ซึ่งถือเป็นวารสารการแพทย์ชั้นนำของโลก โดย ดร. สแตนตัน แกลนซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมยาสูบระดับโลก และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ข้อสรุปของงานวิจัยระบุชัดว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดาในโรคสำคัญ ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคทางเมตาบอลิก และโรคทางช่องปาก งานวิจัยชิ้นนี้รวบรวมงานวิจัยที่มีการศึกษาด้านระบาดวิทยาเกี่ยวกับความเสี่ยงของบุหรี่ไฟฟ้าต่อการเกิดโรคต่าง ๆ จากทั่วโลกตั้งแต่ปี 2548 - 2566 รวม 107 งานวิจัย จากนั้นนำผลมาวิเคราะห์เปรียบเทียบความเสี่ยงต่อสุขภาพระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา เปรียบเทียบกับการสูบบุหรี่ธรรมดาอย่างเดียว รวมทั้งเปรียบเทียบการสูบบุหรี่แต่ละประเภทกับการไม่สูบบุหรี่เลย

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวว่า พบผลการศึกษาที่น่าสนใจ 

1.ไม่สนับสนุนประเด็นผู้ที่เคยสูบบุหรี่ธรรมดาแล้วเปลี่ยนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคทางเมตาบอลิค น้อยกว่าผู้สูบบุหรี่ธรรมดา 

2.สนับสนุนประเด็นผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจ โรคทางเมตาบอลิค โรคหอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคในช่องปากมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 

3.สนับสนุนประเด็นผู้ที่สูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคทางเมตาบอลิค โรคหอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคในช่องปาก มากกว่าการสูบบุหรี่เพียงประเภทเดียวเฉลี่ย 20-40% แต่หากเทียบกับผู้ไม่สูบบุหรี่ พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่ทั้งสองประเภทมีความเสี่ยงป่วยทุกโรคเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2-3 เท่า

ดร.สแตนตัน แกลนซ์ หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า งานวิจัยนี้พบความเสี่ยงของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพเทียบเคียงกับบุหรี่ธรรมดา ผลการศึกษานี้ทำลายข้อโต้แย้งทั้งหมดที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าตามที่ใช้จริงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการลดอันตราย หรือ harm reduction สำหรับผู้สูบบุหรี่ เนื่องจากอันตรายจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้แตกต่างจากการสูบบุหรี่ และในความเป็นจริงผู้สูบบุหรี่ที่เปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้ามักจะลงเอยด้วยการสูบทั้งสองอย่าง ซึ่งจะยิ่งเพิ่มอันตราย ไม่ได้เป็นการลดอันตรายดังเช่นธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ากล่าวอ้าง

ด้าน ศ.นพ ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบุหรี่ กล่าวว่า เครือข่ายแพทย์เพื่อแคนาดาปลอดบุหรี่ เสนอให้รัฐบาลแคนาดาทบทวนนโยบาย “ยาสูบลดอันตราย” ”Tobacco harm reduction”ด้วยการแนะนำให้ผู้สูบบุหรี่ธรรมดา เปลี่ยนมาสูบแต่บุหรี่ไฟฟ้าแต่เพียงอย่างเดียว ตั้งแต่ปี 2018 หรือ 6 ปีมาแล้ว แต่ข้อมูลล่าสุดพบว่า คนแคนาดาที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีเพียง 27% หรือประมาณ 1 ใน 4 เท่านั้น ที่เป็นคนสูบบุหรี่ธรรมดาที่เปลี่ยนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว มี 34% ที่สูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา และมีถึง 40% ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน 

“งานวิจัยล่าสุดนี้ที่พบว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้อันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา จากสถิติมีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่เคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อนมากถึง 40% จึงเป็นข้อมูลที่บ่งชัดเจนว่า หากวัดกันในระดับประชากร บุหรี่ไฟฟ้าจะมีอันตรายมากกว่าบุหรี่ธรรมดา จากการที่มีคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าหน้าใหม่ ที่จะได้รับอันตรายเท่ากับคนที่สูบบุหรี่ธรรมดา รัฐบาลไทยจึงต้องพิจารณานโยบายที่จะจัดการกับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างรอบคอบที่สุด“ ศ.นพ ประกิตกล่าว