ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชุมบอร์ดป้องกันและแก้ไขปัญหาท้องในวัยรุ่น พบใช้ยา "ยุติตั้งครรภ์" 3 หมื่นรายต่อปี เป็นวัยเจริญพันธุ์ถึง 86% วัยรุ่นแค่ 14% เป็นไปได้อนาคตกำหนดอายุการใช้ยายุติตั้งครรภ์ ด้านบอร์ดฯ เห็นชอบแผนลด "ท้องไม่พร้อม" ให้เหลือ 15 คนต่อพัน สามารถปรึกษาผ่านแอปฯ หรือ รพ.ทุกระดับในสธ. มีศูนย์พึ่งได้ทุกแห่ง ส่วนมาตรการจูงใจ สิทธิลาคลอด อยู่ในวาระชาติ รอเข้า ครม.เห็นชอบ

 

เมื่อวันที่ 7  มีนาคม  นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ครั้งที่ 1/2567 ว่า คณะกรรมการฯ มีการหารือถึงเรื่องการเกิดของประชากร ซึ่งปัจจุบันอัตราการเจริญพันธุ์รวมของประเทศไทยอยู่ที่ 1.08 ต่อแสนประชากร แต่เราต้องการเพิ่มให้ได้ประมาณ 2.1 ต่อแสนประชากร หรือแม่ 1 คนควรมีลูก 2.1 คน และพยายามลดการเกิดที่ไม่มีคุณภาพ ที่เกิดจากแม่วัยรุ่นอายุน้อยกว่า 20 ปี ซึ่งอัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ลดลงจาก 0.9 ต่อพันประชากรในปี 2564 เหลือ 0.8 ต่อพันประชากร ในปี 2565 ส่วนอัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ลดลงจาก 24.4 ต่อพันประชากร ในปี 2564 เหลือ 21 ต่อพันประชากรในปี 2565 ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญของคณะกรรมการฯ ชุดนี้

หาแนวทางทำให้เด็กเกิดมามีคุณภาพ

ส่วนที่ถามว่าจะทำอย่างไรให้เด็กเกิดมามีคุณภาพไม่มีปัญหาด้านอื่นๆ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีการกำหนดบริการเพื่อดูแลและป้องกันเด็กและเยาวชนหรือบุคคลที่ไม่ต้องการจะมีบุตรก่อนวัยอันควรโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น การคุมกำเนิด ยาคุมฉุกเฉิน การใช้ถุงยางอนามัย หรือการทำแท้งที่ไม่ผิดกฎหมาย คือ ตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ รวมถึงมีหน่วยงานให้ความรู้ ส่วนผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป บางรายมีบุตรยาก ก็มีการให้บริการคลินิกส่งเสริมการมีบุตร หารือเรื่องการกำหนดค่าใช้จ่ายสิทธิประโยชน์การฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูก หรือเรื่องของการทำเด็กหลอดแก้ว เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการเพิ่มจำนวนประชากร ซึ่งที่ประชุมก็หารือกันว่า การเพิ่มอัตราเจริญพันธุ์อาจจะยังไม่ต้องถึง 2.1 ต่อแสนประชากร แต่อย่างน้อยให้ถึง 1.5 ต่อแสนประชากรก่อน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการดูเรื่องของกฎหมายที่มีอยู่ว่า สมควรที่จะปรับปรุงแก้ไขในประเด็นอะไร ภายในระยะเวลา 3 เดือน

สิทธิลาคลอด อยู่ในมาตรการจูงในมีลูก แต่รายละเอียดต้องถกหลายฝ่าย

ถามถึงกรณีผลสำรวจพบว่าวัยแรงงาน 69% ไม่อยากมีลูก เพราะไม่มีความพร้อม มีข้อเรียกร้องอยากให้แก้กฎหมายสิทธิลาคลอดเป็น 180 วัน และเพิ่มเงินอุดหนุนลาคลอด  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้พูดประเด็นนี้ แต่เป็นเรื่องต่อเนื่องกับการส่งเสริมการเกิดดีมีคุณภาพและแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น  อายุต่ำกว่า 19 ปี บนสมมติฐานว่าวัยรุ่นตั้งครรภ์บ่งถึงความไม่พร้อมไม่เหมาะสม เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 คือแก้ไขปัญหาและป้องกัน ไม่ท้องเลยดีที่สุด ซึ่งการเกิดในกลุ่มอายุ 19 ปีลงมามีประมาณ 21 คนต่อคนพันประชากร ขณะที่อัตราเจริญพันธุ์ของอายุ 20 -35 ปี มีลูกแค่ 1.08 คน ทั้งสองภาพอย่างมองว่าย้อนแย้ง คนละวัตถุประสงค์ เราต้องการแก้ไขปัญหาท้องไม่พร้อม เราเลยยอมรับได้ในแผนปฏิบัติที่กรรมการเห็นชอบ ตั้งเป้าหมายมี 2570 การท้องในวัยรุ่นต้องไม่เกิน 15 คนต่อพันประชากร

 

"มาตรการที่จะส่งเสริมการเกิดมาบวกกับด้านนี้ ทำให้เด็กที่ท้องมีความพร้อม พูดง่ายๆ คืออย่าไปทำแท้ง ต้องส่งเสริมให้ตั้งครรภ์มีคุณภาพ โอบอุ้มเขา ขณะตั้งท้องหรือลูกที่คลอดมาต้องดูแลอย่างเต็มที่ นี่คือแนวทางที่กรรมการหารือกัน โดยเรามีการวางระบบรวมถึงศูนย์พึ่งได้ในการให้คำปรึกษากรณีต้องการมาทำแท้งหรือการเปลี่ยนให้มีการตั้งครรภ์คุณภาพ" นพ.ชลน่านกล่าว

 

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ส่วนเรื่องการส่งเสริมการเกิดอยู่ในวาระแห่งชาติที่เราส่ง ครม.ไปแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งการสร้างแรงจูงใจให้มีลูก สร้างสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม สถานที่ทำงาน กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นยุทธศาสตร์ที่เราเสนอไป สร้างเจตคติที่ดี สถานบริการที่มีความพร้อมช่วยเหลือมีบุตรยาก รวมถึงการลาคลอดซึ่งไม่ได้กำหนดวันเอาไว้ เพราะยุทธศาสตร์ไปกำหนดขนาดนั้นไม่ได้ แต่เราเปิดช่องเอาไว้เพื่อส่งเสริมแรงจูงใจ

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เปิดข้อมูลแรงงานเกือบ 70% ไร้แผนมีลูก กังวลการเงิน หนุนสิทธิลาคลอด 180 วัน)

กรมอนามัยไม่มีคำแนะนำสิทธิลาคลอดควรเท่าไหร่ แต่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต้อง 6 เดือน

ถามว่ากรมอนามัยมีจัดทำคำแนะนำหรือไม่ว่า วันลาคลอดที่เหมาะสมควรมีกี่วัน พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยไม่ได้ลงไปรายละเอียดตรงนั้น แต่ในวาระแห่งชาติที่จะมีกรรมการทุกภาคส่วนทุกกระทรวงต้องมาระดมสมองกัน เพราะจะมีผลเรื่องของเศรษบกิจแะไรต่างๆ ต้องคิดให้รอบคอบ แต่ถ้าการเลี้ยงดูลูกก็ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นาน 6 เดือน และนโยบายให้เรามีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่รับเลี้ยงดูตั้งแต่ 3 เดือน ซึ่งแต่ก่อนจะรับที่ 2 ขวบ แต่ตอนนี้เริ่มที่ 3 เดือน เพื่อให้พ่อแม่ที่มีลูกได้มีความมั่นใจว่าจะสามารถฝากลูกไว้ในสถานที่ปลอดภัยในศูนย์พัฒนาเด็ก

 

ถามถึงระบบการเชื่อมโยงดูแลสวัสดิการเพื่อให้วัยรุ่นตั้งครรภ์ต่อโดยไม่ทำแท้ง ผลลัพธ์เป็นอย่างไร ช่วยเปลี่ยนใจวัยรุ่นได้มากน้อยแค่ไหน  นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรามีการวางระบบดูแลเอาไว้ อย่าง รพ.ชุมชนที่เราเปิดกลุ่มงานด้านจิตเวชสามารถเข้าไปปรึกษาได้เลย ส่งไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องการตั้งครรภ์ ฝากท้อง ให้ความมั่นใจด้านสภาพจิตใจ ปรับสภาพแวดล้อม เรามีพร้อมทั้งหมด ซึ่งช่วยเปลี่ยนใจได้มากน้อยแค่ไหนเบื้องต้นเรายังไม่มีตัวเลข แต่เรียนว่า การเข้าถึงสะดวกขึ้น ไม่ต้องเดินเข้าไป เรามีแอพลิเคชันอย่าง DMIND บนหมอพร้อม สามารถปรึกษาได้ทุกอย่าง เข้าถึงได้ง่าย ทำให้สามารถเข้าถึงบริการและตามไปดูแลได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องเดินเข้าไปสถานบริการ ทำให้เรามีโอกาสโน้มน้าวชักจูงในการตัดสินใจทำแท้งเปลี่ยนมามีลูกต่อ ก็เข้ามุมของการส่งเสริมการมีบุตร

“แต่หากต้องการปรึกษาที่ รพ. ก็สามารถทำได้ อย่างทุกวันนี้เรามีศูนย์พึ่งได้ ซึ่งมีทุกรพ.ทุกระดับในกระทรวงสาธารณสุข สามารถสอบถาม รับคำแนะนำได้เลย” นพ.ชลน่าน กล่าว

เผยข้อมูลใช้ยายุติตั้งครรภ์ 3 หมื่นราย/ปี เร่งแก้ไข

ถามย้ำว่านอกจากลดอัตราการท้องไม่พร้อมแล้ว จะเปลี่ยนอัตราทำแท้งในวัยรุ่นให้มาเป็นตั้งครรภ์คุณภาพด้วยใช่หรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ใช่ เฉพาะการให้ยายุติการตั้งครรภ์ 1 ปีมีประมาณ 3 หมื่นราย แต่เราพบว่า เราออกกฎหมายเพื่อให้วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีลงไปเป็นผู้ใช้ แต่ผู้ใช้กลุ่มวัยรุ่นใช้ประมาณ 14% ที่เหลือเป็นผู้ที่มีความพร้อมในวัยอนามัยเจริญพันธุ์ใช้ถึง 86% จึงต้องตั้งอนุกรรมการไปแก้ไขกฎหมายให้มีความเหมาะสมสมดุล การป้องกันไม่ให้ท้องในกลุ่มวัยรุ่น กับการส่งเสริมมีบุตรในวัยที่พร้อมมีบุตร

เป็นไปได้อนาคตกำหนดอายุการใช้ยายุติตั้งครรภ์

ถามว่าเป็นไปได้ใช่หรือไม่ที่การแก้ไขกฎหมายจะมีการตั้งเรื่องอายุของการใช้ยายุติตั้งครรภ์ นพ.ชลน่านกล่าวว่า มีความเป็นไปได้