ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอประกิต” เผยงานวิจัยติดตามคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อเนื่อง 5 ปี พบอาการผิดปกติของทางเดินหายใจ โรคถุงลมพอง ชี้บุหรี่ไฟฟ้าส่อเค้าทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองเร็วกว่าบุหรี่มวน คนที่สูบทั้ง 2 ชนิดยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคถุงลมโปงพองมากกว่าคนไม่สูบถึง 18% 

วันที่ 20 มี.ค. 2567 ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ แพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ และประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยงานวิจัยที่ติดตามคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี พบทำให้เกิดอาการผิดปกติของทางเดินหายใจ โรคถุงลมพอง เช่นเดียวกับสูบบุหรี่มวน และคนที่สูบทั้ง 2 ชนิดยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรค งานวิจัยนี้ได้ติดตามตัวอย่าง 10,326 ราย อายุ 20-55 ปี ที่ไม่มีประวัติโรคทางเดินหายใจมาก่อน เป็นเวลา 5 ปี (ปี 2015-2020) ในมณฑลหูเป่ย ประเทศจีน พบมีผู้ที่มีอาการผิดปกติของทางเดินหายใจ 1,071 ครั้ง และตรวจพบผู้ที่ป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง 146 ราย การวิเคราะห์พบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีอาการผิดปกติของทางเดินหายใจ มากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ 28% และพบเป็นโรคถุงลมโป่งพองมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ 8% ขณะที่ผู้ที่สูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวนมีอาการผิดปกติของทางเดินหายใจ มากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ 41% และพบเป็นโรคถุงลมโป่งพองมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ 18%

“ผู้วิจัยสรุปว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงเกิดอาการผิดปกติของทางเดินหายใจและโรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งมีงานวิจัยที่พบแล้วว่า ไอบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้เซลล์ของปอดตาย ทำอันตรายต่อสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) และกดการทำงานของยีนที่เกี่ยวกับภูมิต้านทานของปอด ทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการผิดปกติของปอด และโรคถุงลมโป่งพอง ผลกระทบสำคัญของบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำให้ภูมิต้านทานของปอดลดลง น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนสูบบุหรี่ไฟฟ้า เกิดการอักเสบของปอดและติดเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ ได้ง่าย แม้คนสูบจะมีอายุน้อยและสูบบุหรี่ไฟฟ้ามาไม่นาน” ศ.นพ. ประกิต กล่าว

ศ.นพ. ประกิต กล่าวต่อว่า งานวิจัยนี้มีความสำคัญมาก ที่พบคนที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองในคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า อายุน้อย โดยเฉพาะในคนที่สูบทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้าที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะปกติคนที่สูบบุหรี่มวน จะเป็นโรคถุงลมโป่งพองเมื่ออายุใกล้ 60 ปี ซึ่งหมายถึงว่าสูบมามากกว่า 25-30ปี ขึ้นไป และสถิติพบว่า ประมาณ 1 ใน 8 ของคนที่สูบบุหรี่มวนระยะยาว จะป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง คนที่เป็นโรคถุงลมโป่งพอง เนื้อปอดค่อย ๆ ถูกทำลายโดยสารเคมีต่าง ๆ ในควันบุหรี่ ทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย ระยะท้าย ๆ ของโรค แม้แต่การเดินหรือทำอะไรเพียงเล็กน้อยก็จะเหนื่อย และส่วนใหญ่จะได้รับความทรมานจากอาการเหนื่อยง่ายเป็นเวลาอาจถึง 10 ปีก่อนจะเสียชีวิต ขณะที่คนที่คิดจะเลิกสูบบุหรี่มวน ไม่ควรใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยในการเลิก เพราะจะเลิกบุหรี่มวนไม่ได้ และส่วนใหญ่จบลงด้วยการสูบทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งยิ่งมีอันตรายมากกว่าสูบเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่พบในรายงานวิจัยล่าสุดจากจีนนี้