ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายองค์กรงดเหล้า เล็งส่งข้อมูลถึงศปถ.-กมธ. ช่วงสงกรานต์ ปมธุรกิจน้ำเมาทำตลาดแบบ  Music Marketing    หวังเป็นข้อมูลปรับร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างรู้เท่าทันนายทุน  ห่วงกระแสปรับครม.หวั่นได้เจ้ากระทรวงหมอไม่สนสุขภาพ สุดท้ายต้องรับภาระค่ารักษา เชื่อมั่น “ชลน่าน” มีจุดยืนดี เป็นรมว.มาจากฟากสาธารณสุข

 

สงกรานต์ทั่วประเทศพบธุรกิจน้ำเมาทำการตลาดแบบ Music Marketing

เมื่อวันที่ 16 เมษายน นายธีระ วัชรปราณี  ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า ตามที่สคล.ได้ร่วมกับเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมสงกรานต์ทั่วประเทศ พบธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่ 3 ราย ใช้การตลาดแบบ Music Marketing ระดมนักร้อง นักแสดง เดินสายสายทั่วประเทศ 73 แห่ง มีทั้งเก็บบัตร ฟรีคอนเสิร์ต หรือเอาบัตรไปแลกเบียร์ มีการคัดกรองเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี จริงๆ แต่พอเข้าไปแล้วไม่มีการเข้มงวด สามารถกินดื่มได้ ซึ่งข้อมูลนี้ทางเราจะเสนอไปยังศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.)  ให้เห็นการถอดบทเรียนเพื่อป้องกันการทำการตลาด และอีกส่วนหนึ่งเนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการ (กมธ.) แก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ  ดังนั้นเราจะส่งข้อมูลตรงนี้ถึงกมธ. ให้เห็นข้อมูลและพิจารณาว่า การแก้ไขกฎหมายจะทำอย่างไรเพื่อให้เท่าทันการตลาดของรายใหญ่ไม่ให้สามารถทำการตลาดได้อย่างง่ายขึ้น คุมการโฆษณาแฝง

“ตอนนี้แม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามไว้อย่างชัดเจนก็ยังเห็นการกระทำผิดได้อย่างง่ายดาย ถ้าไปแก้กฎหมายให้เข้าทางให้สามารถโฆษณาได้ ลด แลก แจกแถมได้ ก็ยิ่งเข้าทางให้ทำการตลาดได้มากขึ้น ส่งเสริมการดื่มมากขึ้น โดยไม่มีการรับผิดชอบอะไรเลย อย่างที่เราไปเจอ ไม่ว่าจะเป็นการคัดแยกคนอายุ 20 ปี ก็ทำแค่ภายนอก แต่เข้าไปแล้วไม่มีการควบคุม” ผู้อำนวยการ สคล.กล่าว

นายธีระ กล่าวอีกว่า  ดังนั้น  หากแก้กฎหมายเอื้อธุรกิจแอลกอฮอล์รายใหญ่แล้ว ทุนรายย่อยที่อยากโฆษณาได้ ขายเสรีสุดท้ายก็จะแพ้ทุนใหญ่ ดังนั้น สภาฯที่จะพิจารณาแก้กฎหมายต้องตระหนักและหาวิธีการเขียนกฎหมายให้สามารถควบคุมรายใหญ่ได้ด้วย ควบคุมความเสี่ยงได้ด้วย อย่างที่เราเสนอไปว่า พื้นที่ไหนจะมีการจัดงานต้องขออนุญาต แล้วหน่วยงานรัฐต้องออกมาตรการควบคุม ดูแลอย่างเข้มงวด หากเกิดปัญหาต้องมีความรับชอบ

จี้ สธ.เน้นควบคุมโฆษณาการตลาดดึงนักดื่มหน้าใหม่

นายธีระ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอถึงกระทรวงสารณสุข คือต้องเร่งทบทวนกลไกการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมาไปเน้นเรื่องอุบัติเหตุทางถนน แต่น่าจะดูเรื่องการทำการตลาดต่างๆ เพราะทุกวันนี้จะเห็นว่า มีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นมาก

ห่วงปรับครม. โยก “ชลน่าน” กระทบการผลักดันกฎหมายคุมธุรกิจน้ำเมา  

เมื่อถามว่าถึงข้อห่วงใยถึงการปรับคณะรัฐมนตรีจะส่งผลต่อแนวทางการแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มหรือไม่ นายธีระ กล่าวว่า เวลานี้ กระทรวงสาธารรณสุข กับพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ถือว่ามีจุดยืนที่ดี เช่น การขยายเวลาห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขยายพื้นที่เปิดสถานบริการเวลา 04.00 น. ที่ให้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบ ซึ่งเป็นจุดที่ดี และการเสนอร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ถือเป็นอย่างหนึ่งที่นพ.ชลน่าน พยายามเสนออยู่ ดังนั้น หากปรับเปลี่ยน ก็ไม่รู้ว่าคนใหม่มา ก็ทำให้เรามีข้อสงสัยมากอยู่เหมือนกันว่า จะมีจุดยืนเหมือนรมว.สาธารณสุขมากน้อยแค่ไหน เพราะนพ.ชลน่าน ถือว่ามาจากฟากสาธารณสุขโดยตรง

“เรื่องนี้เราจึงเป็นห่วงเหมือนกันว่า หากมาจากสายอื่นแล้วไม่มีความเข้าใจ ไปมุ่งเน้นแต่ประโยชน์ภาคธุรกิจอย่างเดียว ก็น่าจะทำให้การแก้ไขกฎหมาย หรือการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล สุดท้ายแล้วกระทรวงสาธารณสุขเองนั่นแหละที่ต้องแบกรับภารค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต่างๆ ซึ่งเราก็สูญเสียมาเยอะจากค่ารักษาพยาบาล ตอนนคนป่วยเข้ารพ.เกือบเป็นล้านคนแล้ว” นายธีระ กล่าว