ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ. ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดงานวันอนามัยโลก ปี 67 ชวนประชาชนและทุกภาคส่วนตระหนักถึงสิทธิและความเสมอภาคทางสุขภาพ ชู “30 บาทรักษาทุกที่ฯ” ตอบโจทย์เพิ่มการเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐาน หนุนให้บริการรูปแบบดิจิทัล เข้าถึงการรักษาอย่างเท่าเทียม รวดเร็ว และครอบคลุมทุกพื้นที่   

วันที่ 22 เมษายน 2567 ที่ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชั่น โฮเทล จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดกิจกรรมวันอนามัยโลก ประจำปี 2567 และครบรอบ 76 ปี องค์การอนามัยโลก โดยกล่าวว่า วันที่ 7 เมษายน ของทุกปีเป็น “วันอนามัยโลก” (World Health Day) ซึ่งปีนี้รณรงค์ภายใต้แนวคิด “สุขภาพของเรา สิทธิของเรา อนาคตดิจิทัลของเรา” (Our Health, Our Right, Our Digital Future) ส่งเสริมให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิและความเสมอภาคทางสุขภาพ ซึ่งถือเป็นสิทธิพื้นฐานหรือสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนพึงได้รับ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง หรือสภาพทางเศรษฐกิจหรือสังคม  

นายสันติ กล่าวต่อว่า นโยบายสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขทำทันที ภายใต้รัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คือ การยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่ดีที่สุด    ซึ่งนอกจากจะดำเนินการในผู้มีสิทธิด้านสุขภาพแล้ว ยังดำเนินการในกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ คนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว เพื่อให้ประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทยสามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพและมีสุขภาวะ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง สอดรับกับแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก (Country Cooperation Strategy : CCS) พ.ศ. 2565 – 2569 ในการช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพ มาตรฐาน อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม  

ด้าน ดร.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทน WHO ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สิทธิด้านสุขภาพเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน โดย WHO มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมสุขภาพและช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในระดับสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งสิทธิทางสุขภาพ หมายถึง บริการด้านสุขภาพที่ "มีคุณภาพ" "พร้อมใช้งาน" "เข้าถึงได้" "ยอมรับได้" และ "สามารถให้บริการได้" ตลอดเวลาและทุกที่ สำหรับทุกคน รวมถึงการมีสภาวะความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม การศึกษา การได้รับข้อมูลข่าวสาร น้ำดื่มและอากาศที่สะอาด โภชนาการที่ดี ที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ตลอดจนการทำงานและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ปราศจากการเลือกปฏิบัติ  มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น โดยเชื่อว่าประเทศไทยจะเข้าใกล้การบรรลุวิสัยทัศน์ของการดูแลสุขภาพของทุกคนอย่างเท่าเทียม 

ด้าน นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกของ WHO และให้ความร่วมมือในการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขระดับโลก เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และเป็นหนึ่งในประเทศต้นแบบการรับมือสถานการณ์โรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ สำหรับกิจกรรมเนื่องในวันอนามัยโลกปีนี้ เป็นการจัดประชุม อภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ ขับเคลื่อนแนวคิดการสร้างความเสมอภาคทางสุขภาพและการเข้าถึงบริการสุขภาพ เสริมสร้างการมีส่วนร่วมทางยุทธศาสตร์ ตลอดจนการนำเสนอตัวอย่างความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดี เช่น โครงการพัฒนาระบบประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิและบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย (Health Insurance for Non-Thai People System : HINT)  เป็นต้น