ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ธุรกิจโรงพยาบาลไทยสุ่มเสี่ยงถูกฮุบกิจการจาก IHH บิ๊กธุรกิจโรงพยาบาลใหญ่อันดับต้นๆ ในเอเซียแปซิฟิกหลังรัฐบาลมาเลย์พุ่งเป้าชิงฮับสุขภาพ จี้จุดอ่อนไทยยังด้อยเงินทุน-ยึดติดการบริหารงานแบบครอบครัว

นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทย เปิดเผย ถึงสถานการณ์การแข่งขันธุรกิจโรงพยาบาลไทยในอาเซียนว่า ธุรกิจนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายต่อการแข่งขันกับทุนข้ามชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันยังยังสุ่มเสี่ยงต่อการเข้ามาซื้อกิจการ โดยเฉพาะกลุ่มโรงพยาบาลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีโอกาสถูกซื้อกิจการสูง

ภายหลังจากเกิดการเคลื่อนไหวล่าสุดของกองทุนขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า คาซานา (Khazanah) จากมาเลเซีย เจ้าของธุรกิจ โรงพยาบาล ชื่อ IHH (Integrated Healthcare) ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลมาเลเซีย ได้เข้าไปซื้อกิจการโรงพยาบาลในสิงคโปร์ พาร์คเวย์ มาไว้ในเครือเพื่อเสริมความแข็งแกร่งทำให้ก้าวขึ้นใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

พร้อมกันนั้น กลุ่มทุนนี้ยังประกาศตัวขึ้นมาแข่งขัน เป็นศูนย์กลางด้านเมดิคัลฮับ (ศูนย์กลางการรักษาพยาบาล) เช่นเดียวกันกับไทย เป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนธุรกิจโรงพยาบาลที่รุนแรง เพื่อเตรียมออกตัว ปูทางก่อนรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) อย่างเต็มที่ในปี 2558 ชี้ทุนยักษ์IHHมาเลย์เล็งเข้าไทย

กลุ่มทุนคาซานา เป็นกลุ่มทุนมั่งคั่ง ที่มีการรุกอย่างรวดเร็ว และยังตั้งเป้าหมาย ขยายกิจการในปีนี้อีกมาก ส่งผลกระทบต่อ โรงพยาบาลขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของ ประเทศเพียง 2-3 แห่งที่โดดเด่นขึ้นมา แต่เมื่อเทียบกับกลุ่มทุนIHH ยังถือว่า มีขนาดเล็ก ดังนั้นกลุ่มทุนไทยต้องมอง เป็นจุดเสี่ยงและต้องหันมาเตรียมป้องกัน การเข้าซื้อกิจการพร้อมกับการแข่งขัน ที่จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในอนาคตอันใกล้  "กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลในไทยระดับหมื่นล้านก็ถือว่าใหญ่ แต่ของมาเลเซีย ว่ากันเป็นแสนล้าน เราจึงต้องเร่งปรับตัว ไม่เช่นนั้นโอกาสโดนเทคโอเวอร์มีสูงมาก เพราะต่างชาติรุกหนักมากและยังได้รับ การสนับสนุนกองทุนโดยรัฐบาล ขณะที่ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของไทยจะขยายกิจการ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นไปอีกเป็นเรื่องยาก เนื่องจากธุรกิจโรงพยาบาลของไทยส่วนใหญ่เติบโตมาจากกลุ่มแพทย์ ก้าวขึ้นมาลงทุนทำธุรกิจโรงพยาบาล และยังมีระบบธุรกิจครอบครัวที่ยังไม่มีทายาทเข้ามาสานต่อกิจการรุ่นที่ 2 จึงเป็นเรื่องยากหากต้องการสร้างฐานกิจการให้ขยายในระยะยาวเพื่อแข่งขันด้านเงินทุนขนาดใหญ่"

ชี้หุ้นกลุ่มรพ.ผลตอบแทนสูง สิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจด้านการรักษาพยาบาล เป็นที่หมายปองเข้ามาแข่งขัน ทางธุรกิจ ทั้งในไทยและในอาเซียนมากขึ้น นั้นเป็นเพราะผลตอบแทนที่สูงโดยพิจารณาจากราคามูลค่าหุ้น(P/E)สูงถึง 30 เท่า ขณะเดียวกันฐานประชากรของกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมีมากขึ้น จาก 11 % ใน 10 ปี ข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 15-17% นั่นทำให้กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ มองเห็นโอกาสของการขยายฐานธุรกิจบริการด้านสุขภาพ  สำหรับในเครือโรงพยาบาลธนบุรี ที่เขายังรักษาสัดส่วนเป็นเจ้าของกิจการ ได้เตรียมพร้อมแข่งขันกิจการโรงพยาบาลรับ AEC ด้วยการออกไปลงทุนในประเทศจีนด้วยการทุ่มงบประมาณ 70,000 ล้านบาท เพื่อขยายกิจการแทนการเริ่มต้น ในอาเซียน ที่ต้นทุนและความต้องการบริการด้านโรงพยาบาลเอกชน ยังเกิดขึ้นยาก รวมถึงต้นทุนทางด้านที่ดินแพงกว่าไทย และอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยังต่ำ (GDP)

 กลุ่มรพ.ธนฯเล็งเวียดนาม-พม่า

แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่ทิ้งตลาดในอาเซียนเสียทีเดียว เพราะกลุ่มธุรกิจในเครือได้ ไปศึกษาหาลู่ทางในประเทศเวียดนาม และพม่ามานานกว่า 5 ปีแล้ว รอเพียงจังหวะและตลาดเอื้อให้กับการทำธุรกิจเท่านั้น ขณะที่ตลาดในเมืองไทยเป็นสิ่งที่ขยายได้ไม่มากนัก และการดำเนินธุรกิจแบบไม่เน้นทำกำไรสูงสุดที่บีบให้ต้องเพิ่มราคาค่าบริการรักษา แต่จะเน้นจับตลาดคนระดับกลางค่อนไปทางบน ที่มีกำลังพร้อมจ่ายและไม่ต้องการรอการบริการจากภาครัฐ  อีกเหตุผลหนึ่งที่เขาไม่ต้องการให้กิจการขยาย ด้วยการนำธุรกิจเข้าจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ เพราะต้องการคงรูปแบบ การบริหารงานถือหุ้นโดยธุรกิจครอบครัว เพื่อป้องกันการเข้ามาซื้อกิจการจากกองทุนต่างชาติ ในเวลาเดียวกันธุรกิจก็ต้องปรับวิธีการบริหารจัดการให้มีความทันสมัย โดยใช้ทีมงานบริหารมืออาชีพ จัดระบบการบริหารอย่างมืออาชีพ

สิ่งที่ไทยได้เปรียบสิงคโปร์ คือ ค่ารักษาพยาบาลยังถูกกว่าสิงคโปร์ 30% เนื่องจากระบบสาธารณสุขของไทย 70% โรงพยาบาลของรัฐบาลที่ให้บริการด้วยราคาค่ารักษาพยาบาลที่ถูก จึงดึงราคาค่ารักษาพยาบาลทั้งระบบของไทยให้ราคาต่ำตามกันไป รวมไปถึงการคุณภาพและวิธีการรักษาพยาบาลยังถือว่ามีพื้นฐานอันแข็งแกร่ง แพทสภาฯชี้ศักยภาพแพทย์ไทยสูง

ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานที่ปรึกษาอนุกรรมการบริหารแพทยสภา มองว่าด้านการบริการและศักยภาพทาง การรักษาของแพทย์ไทยไม่ได้ด้อยกว่า คู่แข่ง รวมถึงราคาก็ยังถูกกว่าสิงคโปร์ แต่ไทย ยังมีปัญหาด้านการขาดแคลนแพทย์กว่า 1 หมื่นอัตรา จากที่ปัจจุบันมีอัตราแพทย์ ทั้งสิ้น 30,000 อัตรา จะต้องดูแลแพทย์ให้พร้อมรองรับการขยายตัวของธุรกิจ โรงพยาบาล รวมถึงความต้องการภายในประเทศ เพื่อรักษามาตรฐานการบริการด้านสุขภาพ

ทั้งนี้การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะมาถึงนั้น ในส่วนของแพทย์ได้ปรับตัวพร้อมรับการแข่งขันและไม่เชื่อว่า แพทย์จากประเทศอื่นจะมาไทย แต่จะเป็นแพทย์ไทยที่เข้าไปในอาเซียนมากกว่า

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556