ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอจรัล” เตรียมชงบอร์ด สปสช.เห็นชอบจัดเวทีเปิดรับฟังความเห็นการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งใหญ่ระดับประเทศ  2 ก.พ.นี้ เน้นรับฟังความเห็น ปัญหา ข้อเสนอแนะจากผู้ให้บริการ หลัง “หมอรัชตะ” มอบ สปสช.เร่งระดมความเห็น เพื่อสร้างความเข้าใจและนำไปสู่การปรับปรุงการจัดการกองทุนฯ ให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนยิ่งขึ้น  

นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะจัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นต่อการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นการจัดประชุมนัดพิเศษ เพิ่มเติมจากการรับฟังความเห็นทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามมาตรา 18(3) ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ สปสช.จัดขึ้นเป็นประจำในทุกปี เพื่อสนองต่อนโยบายของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องการให้มีการระดมความเห็นต่อการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระดับประเทศ และนำข้อสรุปที่ได้ไปสู่การปรับปรุงการจัดงบประมาณกองทุนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นเป็นโยชน์ต่อประชาชนในการเข้าถึงการรักษา    

ทั้งนี้กรอบการเปิดรับฟังความคิดเห็น นอกจากแยกเป็น 7 ประเด็น คือ 1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3.การบริหารจัดการสำนักงาน 4.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นและพื้นที่ 6.การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ 7.การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ ตามที่ สปสช.ได้ดำเนินการแล้ว ในครั้งนี้ยังได้แยกการรับฟังความเห็นเฉพาะในส่วนผู้ให้บริการเป็นพิเศษ เพื่อสะท้อนมุมมองต่อการบริหาร การทำความเข้าใจ ซึ่งนำไปสู่การประสานการทำงานร่วมกัน  

“การเปิดรับฟังความเห็นในครั้งนี้ ศ.นพ.รัชตะ ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และได้กำชับให้การเปิดรับฟังความเห็นต้องเปิดกว้าง ทุกฝ่ายต้องมีส่วนในการนำเสนอความเห็น เนื่องจากองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทุกคนต่างร่วมเป็นเจ้าของ ซึ่งงานนี้ ศ.นพ.รัชตะ จะเป็นประธานเปิดการประชุมและรับฟังความเห็นด้วยตนเอง” นพ.จรัล กล่าวและว่า สำหรับเป้าหมายผู้ที่เข้าร่วมในการเปิดรับฟังความเห็นครั้งนี้ คือ 1.ผู้ให้บริการ ได้แก่ ผู้แทนหน่วยบริการทุกระดับ ให้ครบถ้วนทั้งที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมโครงการฯ ผู้แทนองค์กรวิชาชีพต่างๆ 2.ผู้รับบริการ ได้แก่ ประชาชนทั่วไป ทั้งที่มีและไม่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 3.ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 4.ผู้มีส่วนได้เสีย นักวิชาการ หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง

นพ.จรัล กล่าวต่อว่า ด้วยการจัดประชุมรับฟังความเห็นครั้งนี้ เป็นการดำเนินการเพิ่มเติมจากการจัดเวทีรับฟังความเห็นโดยปกติ ดังนั้นในวันที่ 12 มกราคม นี้ คณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ฯ จะนำเสนอการปรับแผนรับฟังความเห็นทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประจำปี 2558 ตามมาตรา 18(3) ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อพิจารณาอนุมัติและดำเนินการต่อไป.