ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอวินัย” เผย สปสช.เตรียมชงของบเหมาจ่ายปี 59 จำนวน 3,222.97 บาทต่อประชากร หลังถูกคงแช่แข็งงบต่อเนื่อง ชี้ 4 ปีที่ผ่านมา ได้รับงบเพิ่มเพียงแค่ 140 บาท หรือแค่ร้อยละ 5 พร้อมเสนอแนวทางปฏิรูประบบสุขภาพ เดินหน้าจัดตั้งกลไกกลางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพ  

วันที่ 10 ก.พ.58 ที่อาคารรัฐสภา - นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในเวทีการสัมมนาเรื่อง “ปฏิรูประบบสาธารณสุข ภายใต้การปฏิรูปประเทศไทย” จัดโดยคณะกรรมมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ ถึงแนวทางและข้อเสนอการปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ ว่า ประเทศไทยสามารถจัดทำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้แม้ว่าจะไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย ซึ่งดำเนินอยู่บน 3 หลักการ คือ เมื่อเกิดเป็นคนไทยต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพและเข้าถึงการรักษา โดยการรักษาที่ได้รับนั้นต้องได้มาตรฐานและปลอดภัย ขณะเดียวกันยังต้องช่วยให้คนไทยไม่ล้มละลายจากการรักษา ซึ่งในช่วงกว่า 10 ปี ที่ผ่านมาสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของประชาชนลงได้

นพ.วินัย กล่าวว่า แต่การดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากนี้ยังต้องประสบกับความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุร้อยละ 12 ของประชากรในประเทศ ที่จะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น จำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น การพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศโดยเฉพาะเรื่องยา ซึ่งมูลค่านำเข้าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสูงขึ้นกว่า 160% การลงทุนสุขภาพในประเทศที่ยังมีความเหลื่อมล้ำ รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำในระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นหลังนี้ ที่ผ่านมาทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องเช่นเดียวกัน        

ทั้งนี้ เมื่อดูงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศ ประเทศไทยใช้งบประมาณเพียงแค่ร้อยละ 4.7 ของจีดีพีเท่านั้น ถือว่าเป็นสัดส่วนไม่มาก และยังต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ร้อยละ 5 ของจีดีพี ดังนั้นเพื่อให้เกิดการจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอและเพิ่มเการเข้าถึงการรักษาของประชาชน รัฐบาลควรให้การสนับสนุนเพิ่มเติม โดยในปี 2559 นี้ สปสช.ได้เสนอของบเหมาจ่ายขาขึ้นที่ 3,222.97 บาทต่อประชากร เพิ่มจากปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 2,895.9 บาทต่อประชากร โดยภาพรวมเพิ่มขึ้นจากงบปี 2558 กว่า 20,844.43 ล้านบาท  

“อยากให้รัฐบาลมองการลงทุนด้านสุขภาพเป็นการลงทุนเพื่อทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น ไม่ใช่เป็นภาระงบประมาณประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาปีงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มขึ้นน้อยมาก ช่วง 4 ปี ได้รับจัดสรรเพิ่มเพียงแค่ 140 ล้านบาท หรือเพียงแค่ร้อยละ 5 เท่านั้น ถือว่าไม่เป็นธรรมกับระบบสุขภาพอย่างยิ่ง และส่งผลกระทบต่อระบบ” เลขาธิการ สปสช.กล่าว และว่า 

นพ.วินัย กล่าวว่า ขณะที่การลดความเหลื่อมล้ำระบบหลักประกันสุขภาพ ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการประสานระบบสุขภาพแห่งชาติ 3 กองทุน โดยมี ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธานเพื่อดำเนินการ ซึ่งที่ผ่านมา สปสช.ได้เสนอขอให้มีการจัดตั้งกลไกร่วมกันระหว่างกองทุนรักษาพยาบาล ทั้งกรมบัญชีการ สำนักงานประกันสังคม และ สปสช. ในการกำหนดสิทธิประโยชน์ร่วมกัน อัตราการจ่าย และวิธีการจ่ายเดียวกัน ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำกองทุนรักษาพยาบาลได้ โดยที่ผ่านมาได้มีการทดลองการใช้กลไกดำเนินการร่วมกัน 3 กองทุน ทั้งในสิทธิประโยชน์เอดส์และไต ซึ่งนอกจากลดความเหลื่อมล้ำแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาต่อเนื่องแม้ว่าถูกเปลี่ยนสิทธิ์