ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ห่วง “จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น” ขาดแคลน หลัง “แพทยสภา” ยกเลิกเป็นสาขาขาดแคลน หวั่นทำเด็กและวัยรุ่นมีปัญหาการเรียน เข้าไม่ถึงการรักษา ส่งผลกระทบต่อสังคมในอนาคตได้ ระบุต่างประเทศให้ความสำคัญ ถือเป็นแนวทางช่วยเด็กพัฒนา พร้อมโยง ศธ.ออกประกาศแนวทางปฏิบัติเด็กเรียนซ้ำชั้น แต่ไม่ระบุถึงการดูแลโดยจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สะท้อนปัญหาอาจยังมีจำนวนไม่เพียงพอ

แหล่งข่าวภายในวงการแพทย์ที่ทำงานกับเด็กที่มีปัญหาด้านพฤติกรรมและการเรียนรู้ เปิดเผยว่า การเรียนของเด็กในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่นที่มีปัญหาด้านการเรียน ซึ่งในต่างประเทศให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มาก โดยจะมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่คอยให้คำปรึกษาและแนะนำอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เด็กเหล่านี้สามารถเรียนต่อได้หรือปรับแนวทางการเรียนที่เหมาะสม ถือเป็นแนวทางในการช่วยพัฒนาเด็ก ซึ่งประเทศไทยในโรงเรียนสาธิตส่วนใหญ่จะมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นประจำเพื่อคอยดูแลเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนเช่นกัน แต่ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามประกาศแนวทางปฏิบัติการเรียนซ้ำชั้น เพื่อแก้ไขความบกพร่องให้กับเด็กนักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียน แต่กลับไม่ได้พูดถึงการให้คำปรึกษา โดยเฉพาะที่ต้องมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพื่อเข้าช่วยดูแลกลุ่มเด็กเหล่านี้  

ทั้งนี้เป็นไปได้ว่าในกรณีที่กำหนดแนวทางให้มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเข้ามาช่วยดู จะต้องมีจำนวนจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่มากพอ แต่ด้วยขณะนี้สถานการณ์จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นยังขาดแคลน เห็นได้จากการรักษาเด็กที่มีปัญหาสมาธิสั้นซึ่งต้องรอคิวนานถึง 2 ปี ดังนั้นที่ผ่านมาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นจึงถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในแพทย์สาขาขาดแคลนที่มีการจูงใจแพทย์ให้เรียนต่อ อย่างไรก็ตามจากการสอบถามไปยังแพทยสภาล่าสุด ทราบว่าในปี 2558 ที่ผ่านมา แพทยสภาได้ประกาศยกเลิกสาขาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเป็นสาขาขาดแคลนแล้ว ทำให้กังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยได้

“การกำหนดให้เป็นสาขาขาดแคลน ในกรณีที่แพทย์ใช้ทุนแล้ว สามารถเลือกเรียนต่อสาขาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นนี้ได้เลย เป็นการจูงใจ แต่เมื่อแพทยสภายกเลิกให้เป็นสาขาขาดแคลนแล้ว แพทย์ที่ต้องการเรียนจะต้องเข้าสู่โครงการเพิ่มพูนทักษะกับกระทรวงสาธารณสุขเป็นเวลา 1 ปีก่อน จึงสามารถเรียนต่อได้ ซึ่งจะส่งผลให้แพทย์เลือกเรียนสาขานี้ลดลง”

แหล่งข่าวรายนี้ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จากการสอบถามไปยังแพทยสภาทราบว่าสาเหตุที่ยกเลิกเนื่องจากได้รับแจ้งจากราชวิทยาลัยจิตแพทย์ว่า ปัจจุบันมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเพียงพอแล้ว ทำให้รู้สึกขัดแย้งต่อสถานการณ์ที่เป็นจริงที่ผู้ป่วยในขณะนี้ยังต้องรอคิวการรักษานาน จากการที่เคยส่งต่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ นอกจากนี้จิตแพทย์และวัยรุ่นยังเป็นที่ต้องการมากขึ้น เนื่องจากวัยรุ่นส่วนใหญ่จะมีปัญหาภาวะอารมณ์ ก้าวร้าว ที่ต้องการดูแล และขณะเดียวกันสังคมยังมีปัญหาท้องไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการการปรึกษาและชี้แนะ รวมถึงการบำบัด ซึ่งหากจิตแพทย์กลุ่มนี้ขาดแคลนลงก็จะส่งปัญหาต่อสังคมในอนาคตได้ ดังนั้นจึงอยากให้แพทยสภาทำการทบทวน

นอกจากนี้การลดจำนวนการผลิตจิตแพทย์และวัยรุ่น ยังอาจส่งผลต่อภาระงานของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่อยู่ในระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดหากรับภาระงานไม่ไหวอาจจะลาออกไปทำงานยังโรงพยาบาลเอกชนแทน ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ต่างมีสาขาจิตแพทย์เพื่อให้บริการผู้ป่วย ซึ่งกรณีนี้ยังกระทบมายังผู้ป่วยที่ต้องพบจิตแพทย์ เมื่อไม่สามารถพบจิตแพทย์ในระบบได้ ทำให้ต้องไปพบจิตแพทย์ยังโรงพยาบาลเอกชนแทน ซึ่งจะทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น และอาจเป็นอุปสรรคทำให้เข้าไม่ถึงการรักษาในที่สุด ส่งผลให้บางคนที่ต้องได้รับยาต่อเนื่องอาจเข้าไม่ถึงและเป็นปัญหาในภายหลังได้ ดังนั้นเห็นว่าจึงควรให้มีการดึงกลับมาเป็นสาขาขาดแคลนเพื่อกระตุ้นให้แพทย์เรียนเพิ่มขึ้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยันแพทยสภาไม่ได้ยกเลิก ‘จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น’ ออกจากสาขาขาดแคลน

จิตแพทย์เด็กขาดแคลนหนัก ทั้งประเทศมีแค่ 192 คน เตรียมหารือ สธ.เป็นสาขาเรียนโครงการ ODOD