ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“พลังประชารัฐ” ไม่มีนโยบายรวมกองทุนสุขภาพ แต่จะทำให้ 3 กองทุนมีเหตุผลมากขึ้น เผยจะสร้างชุดสิทธิประโยชน์หลัก 3 กองทุนมาตฐานเดียว และกำหนดสิทธิประโยชน์เสริมอีก 2 ชุด ตั้งเป้าเพิ่มหมอครอบครัว-สร้างความมั่นใจผู้ให้บริการไม่ถูกเอาผิดฐานละเมิด ประกาศเดินหน้านโยบาย “ปรับเปลี่ยน-เชื่อมโยง-ยกระดับ-ต่อเนื่อง”

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวในเวทีเสวนามองไปข้างหน้า “พรรคการเมือง กับการสร้างหลักประกันสุขภาพเพื่อคนไทยทุกคน” ซึ่งอยู่ภายใต้งานรำลึก 11 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิมิตรภาพบำบัด เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 ตอนหนึ่งว่า จำเป็นต้องสร้างกลไกที่จะทำให้ 3 กองทุนมีความยั่งยืนและเท่าเทียม แต่คงไม่ใช่การรวมเป็นกองทุนเดียว แต่ต้องทำให้ 3 กองทุนมีเหตุมีผลมากกว่านี้

สำหรับส่วนแรกต้องกำหนดให้เป็น “ชุดสิทธิประโยชน์หลัก” ซึ่งเป็นชุดสิทธิประโยชน์ที่จำเป็น โดยส่วนนี้ต้องให้ทั้ง 3 กองทุนเหมือนกันหมด สิ่งที่ พปชร.คิดคือจะขยายสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ให้กว้างขึ้นได้อย่างไร ส่วนที่สองคือ “สิทธิประโยชน์เสริม 1” ซึ่งส่วนนี้แต่ละกองทุนสามารถนำไปเติมให้ผู้ที่ใช้สิทธิได้ และ “สิทธิประโยชน์เสริม 2” จะเกี่ยวข้องกับการรับบริการที่ดีขึ้น ซึ่งผู้ที่ใช้สิทธิอาจจะต้องซื้อประกันเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่สำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้เกิดนโยบายที่เน้นการบริการปฐมภูมิ กล่าวคือจะทำอย่างไรให้เกิดใกล้บ้านใกล้ใจ ซึ่งนโยบายของ พปชร. คือหากเป็นไปได้ อยากให้ประชาชนมีหมอประจำตัว ซึ่งทุกวันนี้เรามีหมอประจำครอบครัวอยู่ 800 ทีม เป้าหมายในอีก 10 ปีข้างหน้าคือต้องมีหมอประจำครอบครัว 6,500 ทีม

นายสุวิทย์ กล่าวว่า พปชร.จะสานต่อนโยบายหมอประจำครอบครัว เพื่อที่จะให้มีหมอลงไปดูแลประชาชนถึงบ้าน ถึงชุมชน ซึ่งจะทำหน้าที่คล้าย OPD (แผนกผู้ป่วยนอก) ส่งผลให้โรงพยาบาลไม่เกิดความแออัด ขณะเดียวกันหมอครอบครัวจะใช้เทคโนโลยี สมาร์ทโฟน มาติดต่อกับผู้ใช้สิทธิด้วย

สำหรับเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น เราต้องพูดถึง 1. สถานการณ์ความแออัดของโรงพยาบาล 2. แพทย์กับพยาบาลรู้สึกไม่มั่นคงอันเนื่องมาจากการถูกฟ้องร้องและค่าตอบแทนน้อย 3. ปัญหาประชาชนที่มีสิทธิแต่เข้าไม่ถึงสิทธิ ซึ่งพรรค พปชร. มีนโยบายยกระดับการให้บริการให้เท่าเทียมทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ โดยประชาชนจะต้องได้รับความสะดวกในการรับบริการ แต่ผู้ให้บริการต้องได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม รวมถึงรัฐต้องปรับระบบงบประมาณต่างๆ ตามความสามารถทางการคลังด้วย

“สิ่งที่จะลดความแออัดได้นั้นไม่ใช่แค่เรื่องของหมอครอบครัว แต่เรามองไปถึงเรื่องของเทคโนโลยี เพราะทุกวันนี้แอพพลิเคชั่นต่างๆ สามารถมองถึงประวัติผู้ป่วย ประวัติการใช้ยา สามารถแจ้งเตือนวันเวลานัด รวมไปถึงขั้นตอนต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีอยู่ แต่เราจะขยายผลให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม” นายสุวิทย์ กล่าว

นายสุวิทย์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่สำคัญต่อมาคือเรื่อง ม.41 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งจะต้องคิดกันต่อว่าจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีความมั่นใจว่าจะไม่มีความผิดในเรื่องการละเมิด และ พปชร.เห็นด้วยว่าจะต้องทำให้ระบบของโรงพยาบาลมีอิสระในการบริหาร เฉกเช่นเดียวกับโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งจะเกิดความคล่องตัวในการตัดสินใจ ทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสิ่งที่สำคัญคือนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งทุกวันนี้เริ่มเป็นรูปธรรมแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือประชาชนยังมีความไม่มั่นใจ พปชร.ก็จะขยายผลให้สิ่งนี้เกิดขึ้น

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า พปชร. ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมคนไทยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 จึงเชื่อว่าการลงทุนทางการแพทย์และสุขภาพจะช่วยให้มีผลตอบแทน ดังนั้นเรื่องของสิทธิบัตรทองจะต้องไม่มองเป็นเรื่องการเมือง แต่จำเป็นต้องทำต่อให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ พปชร.มองว่ายังมีความท้าทายในอีก 4 เรื่อง ได้แก่ 1. ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิถ้วนหน้าหรือไม่ เมื่อมีสิทธิแล้วเข้าถึงสิทธิได้จริงหรือไม่ 2. เมื่อเข้าถึงการบริการแล้วได้รับการบริการที่ดีเพียงใด 3. บริการที่ให้ไปแล้วมีการบริหารจัดหารที่มีประสทธิภาพและประสิทธิผลภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างไร 4. มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ-ประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด

“พรรคประชารัฐจะนำโจทย์ทั้ง 4 ข้อมาแปลงเป็นนโยบายใน Concept ปรับเปลี่ยน-เชื่อมโยง-ยกระดับ-ต่อเนื่อง ปรับเปลี่ยนคือเรื่องกลไกเพื่อตอบโจทย์ความเท่าเทียมและยั่งยืน เชื่อมโยงคือการครอบคลุมทุกระดับทุกพื้นที่ ยกระดับคือทำให้มั่นใจว่าประสิทธิภาพและคุณภาพนั้นได้มาตรฐาน ขับเคลื่อนคือหลักประกันสุขภาพที่ดีต้องทำให้มีสุขภาพที่ดีในทุกช่วงวัย” นายสุวิทย์ กล่าว