ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เผยแพร่ครั้งแรก เอเอสทีวีผู้จัดการสุดสัปดาห์ วันที่ 12-28 มีนาคม 2554 หน้าที่ 27

ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับกลุ่มผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม จากการรักษาพยาบาลที่ไม่มีคุณภาพ แบ่งเป็น 2 มาตรฐานในการรักษา  โดยผู้ประกันตนปฏิเสธการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในระบบสุขภาพ และพร้อมออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขระบบประกันสุขภาพให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายนิมิตร์ เทียนอุดมเลขาธิการชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ได้เปิดเผยถึงแนวทางแก้ปัญหาระบบสุขภาพของผู้ที่ประกันตนเอง หลังจากเสวนาร่วมหาทางออก เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมว่า ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ จะงดจ่ายเงินสมทบในส่วนรักษาพยาบาล โดยจะให้เวลาประกันสังคม 30 วัน ในการแก้ปัญหาระบบสุขภาพของผู้ประกันตนใหม่ โดยนำผู้ประกันตนออกจากระบบประกันสังคมเรื่องสุขภาพ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิเช่นเดียวกับผู้ที่ใช้สิทธิของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

ทุกวันนี้ โรงพยาบาลเอกชนที่เติบโตจากรายได้หลักเป็นเงินประกันสังคม แต่มีพฤติกรรมบ่ายเบี่ยงที่จะรักษาเป็นเงินประกันสังคม แต่มีพฤติกรรมบ่ายเบี่ยงที่จะรักษาผู้ประกันตนที่เป็นโรคร้ายแรงและต้องรักษาอย่างต่อเนื่องโดยอ้างเรื่องค่ายาแพง ทั้งๆ ที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบตรงส่วนนี้ไปแล้ว แต่ไม่ได้รับการดูแล และถ้ารัฐบาลไม่เข้ามาดูแล กลุ่มสมัชชาผู้ประกันตนก็พร้อมที่จะจัดเคลื่อนไหวเรียกร้องไปทั่วประเทศ แสดงออกถึงแนวคิดปฏิเสธการรักษาพยาบาลในระบบประกันสังคม เพราะจุดประสงค์เดียวในตอนนี้ของกลุ่มผู้ประกันตนก็เพื่อต้องการให้ระบบประกันสุขภาพการรักษาพยาบาลเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

จะเห็นได้ว่าประเด็นสำคัญของปัญหาระบบประกันสังคมคือการรักษาพยาบาลที่ไม่มีมาตรฐาน ในบางสิทธิประโยชน์ยังมีประสิทธิภาพด้อยกว่าสิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือสิทธิรักษาฟรี และอีกประเด็นหนึ่งคือความไม่เสมอภาคในการจ่ายเงินสมทบกองทุนเพื่อประกันสุขภาพ ซึ่งผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินเข้าระบบประกันสังคม ทั้งที่ระบบอื่นๆ ในเรื่องสุขภาพรัฐบาลให้เงินอุดหนุนทั้งหมด ทั้งนี้จึงเกิดความไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ผู้ประกันตนออกมาเรียกร้องสิทธิที่ตนควรได้รับอย่างเสมอภาคด้านกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ได้กล่าวถึงระบบประกันสังคมว่าตอนนี้ระบบการให้บริการของประกันสังคม ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันกับระบบหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ซึ่งในส่วนของชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ได้ออกมาพูดนั้น ในรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ว่า ประชาชนมีสิทธิจะได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ และมีมาตรฐานเท่าเทียมทั่วถึง ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าตอนนี้เรามีระบบสุขภาพ 3 ระบบด้วยกัน คือระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบบข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจและระบบประกันสังคม ซึ่ง 2 ระบบแรกไม่ต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพ แต่ให้ผู้ประกันตน 9.4 ล้านคนเพียงกลุ่มเดียวต้องจ่ายโดยหัก 5% ของเงินเดือน ซึ่ง 1.5% เป็นเงินที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ จึงเป็นการจ่ายซ้ำซ้อนและไม่เป็นธรรมดังนั้น เห็นว่าผู้ประกันตนไม่ควรจ่ายอีกต่อไป

ซึ่งมีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ให้คำแนะนำที่ตรงกันว่า ควรนำเงินสมทบกองทุนจากผู้ประกันตนจำนวนดังกล่าวที่มาใช้เรื่องสุขภาพ นำไปเพิ่มกองทุนอย่างอื่นแทน ไมว่าจะเป็น กองทุนสิทธิชราภาพ เงินสะสมเบี้ยยังชีพต่างๆ ฯลฯ

สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมที่มีอยู่เหมือนกับว่าประกันสังคมกำลังทำในสิ่งที่ตนไม่ถนัด เนื่องจากสำนักงานประกันสังคม อยู่สังกัดกระทรวงแรงงาน ในขณะที่เมื่อพูดถึงเรื่องการแพทย์ การรักษาพยาบาล ก็นำแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชนมาพูด และเมื่อกล่าวถึงชุดสิทธิประโยชน์ เห็นได้อย่างชัดเจนว่าด้อยกว่าระบบหลักประกันสุขภาพหลายเรื่องมาก จึงกลายเป็นความไม่เท่าเทียมและไม่เป็นธรรมสำหรับกลุ่มผู้ประกันตนเอง

ถึงเวลาแล้วที่จะปลดแอกความไม่เท่าเทียมในสังคมโดยเฉพาะเรื่องสุขภาพที่ทุกคนควรได้รับสิทธิ์นั้นอย่างเสมอภาค การรักษาพยาบาล 2 มาตรฐานจึงไม่ควรมีอยู่ และควรได้รับการปฏิรูปใหม่เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สามารถใช้สิทธิ์นั้นได้อย่างอิสระ เสมอภาค เท่าเทียมกันในการรับการรักษาพยาบาลตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อ"สู่ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว สู่หลักประกันทั้งสังคม"