ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานประกันสังคม ทุ่ม 500 ล้านบาท เพิ่มสิทธิรักษาผู้ป่วยโรคค่าใช้จ่ายสูง 'ฮีโมฟีเลีย-มะเร็งชนิดใหม่' ด้านชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนเรียกร้องเรื่องคลอด

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ที่เรียกร้องให้ สปส.เพิ่มสิทธิการรักษาพยาบาลว่า หนึ่งในข้อเรียกร้องคือเรื่องการให้เพิ่มสิทธิดูแลผู้ป่วยโรค ฮีโมฟีเลีย (โรคเลือดไหลไม่หยุด) เช่นเดียวกับสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งคณะกรรมการการแพทย์ของประกันสังคม มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว โดยมีมติเมื่อ 2-3 เดือนก่อนว่าให้จัดสรรเงินกองทุนไว้ส่วนหนึ่งจำนวนกว่า 500 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการในโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมรายละเอียดในการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ ทั้งนี้ คณะกรรมการการแพทย์ยังพิจารณาถึงยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดใหม่ ในกรณีที่ผู้ประกันตนมีอาการแพ้ยาหรือต้องเปลี่ยนยา เพื่อไม่ให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายของทางโรงพยาบาล ซึ่งจะนำเข้าคณะกรรมการประกันสังคมเพื่อพิจารณาต่อไป

นพ.สุรเดชกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ให้ สปส.คุ้มครองสิทธิและชดเชยเมื่อเกิดความเสียหายจากการรักษานั้น สปส.มีการดูแลในเรื่องการขาดรายได้อยู่แล้ว ไม่ว่าเหตุที่เกิดนั้นจะมาจากโรคหรือจะมาจากแพทย์รักษา หากส่งผลให้ขาดรายได้ก็จะมีการช่วยเหลือโดยการจ่ายเงินชดเชยระหว่างที่ยังทำงานไม่ได้ รวมถึงหากสูญเสียอวัยวะก็จะมีการจ่ายเงินชดเชยเป็นกรณีไป ทั้งนี้ ในเรื่องการจ่ายเงินค่าทำคลอดที่เรียกร้องให้จ่ายไปที่โรงพยาบาลนั้น ที่ผ่านมา เคยกำหนดให้ผู้ประกันตนไปคลอดที่โรงพยาบาลที่กำหนด จากนั้น สปส.จะจ่ายเงินไปที่โรงพยาบาลโดยตรง แต่พบว่าผู้ประกันตนกว่าร้อยละ 90 ไม่ชอบวิธีนี้และขอให้ปรับเปลี่ยน เนื่องจากทางเลือกมีน้อย บางรายอยากจะเลือกคลอดที่โรงพยาบาลเอกชนมากกว่า สปส.จึงปรับเป็นการจ่ายให้ภายหลัง แต่กรณีที่ผู้ประกันตนไม่มีเงินสำรองจ่าย สามารถติดต่อ  สปส.เขตพื้นที่ หรือจังหวัดด้วยตนเอง หรือโรงพยาบาลติดต่อ สปส.จะนำเงินไปจ่ายค่าคลอดให้ถึงโรงพยาบาล

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว สมาชิกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน กล่าวว่า ขอบคุณที่ สปส.หยิบยกเรื่องของสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคฮีโมฟีเลียมาพิจารณาศึกษา ส่วนกรณีข้อเรียกร้องเรื่องคลอดนั้น ผู้ประกันตนยังยืนยันว่าขอให้การคลอดเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลี่ยค่ารักษารายหัวของ สปส. โดยไม่ต้องเก็บเงินเพิ่มจากผู้ประกันตน ส่วนเงินค่าคลอด 13,000 บาท ให้ถือว่าจ่ายให้ผู้ประกันตนไปนอกเหนือจากค่าคลอด เนื่องจากเป็นเงินของผู้ประกันตนอยู่แล้ว

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 23 พฤษภาคม 2557