ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

1. นพ.วินัย สวัสดิวร ได้รับการเลือกสรรให้เป็น เลขาธิการสปสช.อีกสมัย

หลังจากการสรรหาที่ยืดเยื้อมานาน หลังจากประกาศผลการสรรหาก็เป็นไปตามคาดเมื่อ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) ร่อนจดหมายชี้แจงเนื่องจากถูกอ้างว่า “เป็นตัวป่วนวงการสาธารณสุข” ว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะป่วนการสรรหา แต่ต้องการระบุให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในการสรรหาครั้งนี้

ชัยชนะครั้งนี้ ได้มาจากคณะกรรมการบอร์ด สปสช. ลงคะแนนด้วยเสียงข้างมาก 22 คะแนนเลือก นพ.วินัย เป็นเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ และบอร์ดยังได้มีการปรับการประเมินผลการทำงานของเลขาธิการจากเดิมทุกๆ 1 ปี ปรับเป็นให้มีการประเมินผลทุก 6 เดือน โดยมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง เป็นประธานกรรมการประเมิน

ในขณะที่ นพ.วินัย ย้ำว่าจะสานต่องานพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ เอื้อประโยชน์คนส่วนใหญ่ตามยุทธศาสตร์ที่ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ วางไว้ และเน้นนโยบายรัฐบาลที่ให้สร้างความเท่าเทียม 3 กองทุน ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์และหลักการพื้นฐานเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินที่มีคุณภาพทันท่วงที และเข้าถึงการบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างทั่วถึง  

มีรายงานข่าวจากบอร์ด สปสช. ว่ามีการรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงตามประเด็นข้อสังเกตที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ได้ตั้งไว้ต่อการบริหารงานที่ผ่านมาของ สปสช. โดยคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่ รมว.สธ.แต่งตั้งได้สรุปและรายงานว่าข้อสังเกตทั้ง 7 ข้อของ สตง. ไม่มีประเด็นเรื่องทุจริตหรือทำให้ทางราชการเกิดความเสียหาย เป็นเพียงการบริหารงานที่ยึดกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างกันของ สตง.และ สปสช. ซึ่งมีบางประเด็นที่อาจต้องหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อความชัดเจนในทางปฏิบัติในอนาคต  และมอบให้ สปสช. ทำรายละเอียดข้อชี้แจงเสนอ สตง.ต่อไป

2. ครม.ยืนงบเหมาจ่ายสปสช. ปี 56 ลด4.9 %รพ.ร้องสวนทางนโยบายเพิ่มคุณภาพบัตรทองของรัฐบาล

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมารับร่าง พรบ.งบประมาณปี 2556 ในวงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท โดยตั้งงบเหมาจ่ายรายหัว สปสช. อยู่ที่ 2,755.60 บาทต่อคนลดจากปี 2555 ก่อนปรับลดช่วยน้ำท่วมซึ่งตั้งไว้ที่ 2,895.60 บาทต่อคน หรือลดลงร้อยละ 4.9 และมีการปรับลดหรือตัดงบชดเชยบริการด้านอื่นๆ อีก เช่น งบค่าบริการควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรคเบาหวานความดันโลหิตสูง ได้รับ 410.0 ล้านบาทลดลงจากปี 2555 ร้อยละ 6.35 และตัดงบควบคุมป้องกันปอดอุดตันเรื้อรังที่ตั้งไว้ 99.5 ล้านบาท งบบริการผู้ติดยาเสพติดที่ตั้งไว้ 195.2 ล้านบาทและงบบริการจิตเวชจำนวน 142.1 ล้านบาท ทั้งสามรายการถูกตัดงบออกหมด

นพ.เกรียงศักดิ์  วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ระบุว่า เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ที่ ครม. ปรับลดงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว สปสช. ลง  และเกิดขึ้นพร้อมกับที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบายจะเก็บเงินสามสิบบาทอีกครั้งหนึ่งรวมทั้งสัญญาว่าจะเพิ่มคุณภาพการเข้าถึงบริการของระบบบัตรทองให้เท่าเทียมระบบสวัสดิการข้าราชการ ลดความเหลื่อมล้ำแตกต่างระหว่างสามกองทุนประกันสุขภาพของรัฐ ทำให้เกิดความแคลงใจว่า การที่รัฐบาลลดงบระบบบัตรทองและเพิ่มงบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการให้มากขึ้น ทำให้เกิดความแตกต่างกันมากกว่าห้าเท่า จะทำให้เกิดความเท่าเทียมของประชาชนในการเข้าถึงคุณภาพบริการได้อย่างไร

3. สปสช. ร่วมมือกับ สธ. เตรียมฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ให้กลุ่มเสี่ยง 1 มิ.ย.–30 ก.ย. นี้

คณะทำงานโครงการให้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพื่อเตรียมการวางแผนการบริการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่แก่ประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในปี 2555  โดยมีเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงให้มากที่สุด   

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค และ สปสช. ได้จัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดรวมป้องกันได้ 3 สายพันธุ์ คือ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 หรือไวรัสไข้หวัด 2009 ชนิดเอ เอช 3 เอ็น 2 และชนิดบี ซึ่งเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล จำนวน 3.55 ล้านโด๊ส เพื่อฉีดให้กลุ่มเสี่ยง 2 กลุ่มฟรี ได้แก่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ให้การดูแลรักษาผู้เจ็บป่วย และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดสัตว์ปีก และประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 6 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวายเรื้อรัง มะเร็งที่กำลังรับเคมีบำบัด เบาหวาน ธาลัสซีเมีย และภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีอาการ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้มีน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม ผู้พิการทางสมองช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เด็กอายุ 6 เดือน-2 ขวบ และหญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป โดยจะเริ่มให้บริการพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2555 จนถึง 30 กันยายน 2555 ที่โรงพยาบาลของรัฐ และสถานบริการที่เข้าร่วมโครงการ

4. เครือข่ายสาธารณสุขยกปัญหา พยาธิใบไม้ตับ มะเร็งท่อน้ำดี เป็นวาระคนอีสาน

วันที่ 12 พฤษภาคม 2555 ที่ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมประชุมในหัวข้อ ลดพยาธิใบไม้ตับ กำจัดมะเร็งท่อน้ำดี วาระคนอีสาน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อระดมความคิดเพื่อป้องกัน ลด กำจัดมะเร็งท่อน้ำดี พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตเครือข่าย Palliative care

มะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตกว่าปีละ 14,000 คนทั่วประเทศ โดยเกินครึ่งเป็นชาวอีสาน และทำให้ประชาชนเสียชีวิตวันละ 38 ราย หรือชั่วโมง 1-2 คน จึงเห็นควรกำหนดเป็นวาระคนอีสาน เพื่อดำเนินการอย่างจริงจัง ทั้งหมด 5 ยุทธศาสตร์ เพื่อลดพยาธิใบไม้ตับกำจัดมะเร็งท่อน้ำดี ประกอบด้วย การป้องกันโรคและการคัดกรองพยาธิใบไม้ การวินิจฉัยและการดูแลรักษา การพัฒนาคุณภาพชีวิต การวิจัยและการพัฒนา และการติดตามการประเมินผล

ยุทธศาสตร์ ลดพยาธิใบไม้ตับกำจัดมะเร็งท่อน้ำดี วาระคนอีสาน ในระยะแรกถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มพูนความสามารถด้านการดูแลรักษา และการผ่าตัดมะเร็งท่อน้ำดีแก่โรงพยาบาลศูนย์ 7 แห่ง ในภาคอีสาน การคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีจะดำเนินการเป็นขั้นตอน โดยในระยะแระจะเน้นประชากรกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เป็นชาวอีสานโดยกำเนิด กลุ่มที่เคยเป็นหรือมีพยาธิใบไม้ตับ กลุ่มที่มีถิ่นฐานบ้านเรือนใกล้แหล่งน้ำลำคลอง กลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และกลุ่มที่มีประวัติญาติพี่น้องเป็นมะเร็งตับ โดยกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์ในระดับโรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยโดยเร็วและส่งผลต่อเพื่อการผ่าตัดรักษาได้ทันเวลา

5. แนวโน้มปลัดกระทรวง สาธารณสุขคนใหม่

วันที่ 30 กันยายน 2555 นี้จะมีข้าราชการระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขเกษียณอายุราชการหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งของ นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งคาดว่าผู้ที่น่าจับตาว่าจะเป็นปลัดคนใหม่ ประกอบด้วย นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ที่ขยันทำงานจนเข้าตาหลายงานนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ที่ได้รับตำแหน่งในกรมเกรดเอมาหลายครั้ง นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  และโผล่าสุดปรากฏชื่อ นพ.อภิชัย มงคล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาด้วย

อย่างไรก็ตามโผโยกย้ายครั้งนี้ ยังมีเวลาอีกมากในการเตรียมการ ซึ่งข่าวแจ้งว่าผู้มีชื่อในโผบางรายได้ติดต่อวิ่งเต้นกับฝ่ายการเมือง และ อื่นๆ เพื่อให้ได้ตำแหน่งแล้ว

6.  ดีเอสไอจ่อจับผอ.รพ.ทุจริตยาซูโดฯ

กรณีการสอบสวนยาซูโดฯ เป็นข่าวสะเทือนวงการสาธารณสุขอีกข่าวหนึ่ง เพราะกระทบทั้งวิชาชีพแพทย์ เภสัชกรรม และการสอบสวนขยายวงกว้างถึงขนาดมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องเข้าไปนั่งตบยุงในกระทรวง ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พ.ค. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงความคืบหน้าการสอบสวนคดีลักลอบนำยาแก้หวัดสูตรซูโดอีเฟดรีนออกจากระบบโรงพยาบาล ว่า ขณะนี้การสอบสวนคืบหน้าไปมาก จากการสอบปากคำพยานหลักฐานตามพนักงานอัยการเสนอ ในสัปดาห์หน้าจะประชุมคณะพนักงานสอบสวน เพื่อออกหมายเรียกเจ้าหน้าที่รัฐเข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยบางส่วนเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล บางส่วนเป็นระดับรองลงมาที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการเบิกจ่ายยา ส่วนเอกชนจะออกหมายจับต่อไป

จากการตรวจสอบหลักฐานลายมือที่พบในห้องยาของ รพ.กมลาไสย พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างตรวจสอบลายมือชื่อเจ้าหน้าที่ รพ. 25 ราย ที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายยา เพื่อมาเปรียบเทียบกับลายมือที่พบในห้องยา คาดว่าจะใช้เวลาตรวจสอบไม่นาน ส่วนความคืบหน้าการสอบสวนคดีลักลอบนำเข้ายาแก้หวัดจากต่างประเทศ ขณะนี้ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยบังคับใช้กฎหมายของประเทศเกาหลี และไต้หวัน โดยในส่วนของไต้หวันพบบริษัทและข้อมูลการจัดส่งยาแก้หวัดเข้ามาในประเทศไทยจริง และอยู่ระหว่างขยายผลถึงตัวการใหญ่

7. สธ.เสนอแรงงานหญิงพกถุงยาง แก้ติดเชื้อ HIV-วัณโรค

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อม การป้องกัน และบริหารจัดการด้านวัณโรคและเอดส์ ในสถานประกอบกิจการ มีข้อมูลระบุว่าประเทศไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศของโลกที่ยังมีปัญหาวัณโรครุนแรง คาดว่า มีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคประมาณปีละ 11,000 ราย และองค์กรอนามัยโลกได้ประมาณการว่าประชากรไทย ที่คาดว่า มีเชื้อวัณโรคมาแอบแฝงอยู่ที่ปอด ประมาณร้อยละ 30 หรือ 20 ล้านคน และกลายเป็นผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 94,000 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 50 อยู่ในระยะแพร่เชื้อและร้อยละ 16 ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วย

สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวี คาดว่า มียอดสะสมรวมกว่า 1,100,000 ราย และยังคงมีชีวิตอยู่ประมาณ 480,000 ราย ร้อยละ 84 ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ สาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยวัณโรคและเอดส์ในประเทศไทย ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ เกิดจากความยากจน แรงงานเคลื่อนย้าย แรงงานต่างชาติ แรงงานในสถานประกอบกิจการ สภาพที่แออัดภายในเรือนจำที่เอื้อต่อการแพร่กระจายเชื้อวัณโรค และผลกระทบจากการระบาดของโรคเอดส์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ป่วยวัณโรคมีมากขึ้น อัตราตายสูง และมีปัญหาเชื้อดื้อยาวัณโรคเพิ่มขึ้น

นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี และวัณโรคของผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งจะมีโครงการส่งเสริมสถานประกอบกิจการให้มีความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาวัณโรคและเอดส์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำร่องให้กับผู้บริหารจากสถานประกอบกิจการภายในกรุงเทพมหานครและจังหวัดนนทบุรี ประมาณ 50 แห่ง    

 8. ดับฝัน สธ.ดันฉีดวัคซีน HPV เครือข่ายสุขภาพหญิงไม่เอาด้วย

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี กรรมการและเลขานุการมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมผลักดันโครงการวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี (HPV:Human Papilloma vaccine) นำมาฉีดป้องกันในเด็กหญิงไทย อายุ 12 ปี ที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ ว่า ในสัปดาห์หน้า ทางมูลนิธิ และภาคีเครือข่าย รวม 21 องค์กร จะยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข ทบทวนการผลักดันนโยบายดังกล่าว โดยข้อมูลวิชาการที่ศึกษาโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) พบว่า สาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกมาจากการติดเชื้อ Human Papilloma Virus (HPV) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ โดยวัคซีนในปัจจุบันป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกสายพันธุ์ที่พบในหญิงไทย 50-70% เท่านั้น ทำให้แม้ว่าจะได้รับวัคซีนแล้วก็ควรได้รับการตรวจคัดกรองอยู่ดี จึงไม่ได้ทำให้ลดต้นทุนการป้องกันโรคแต่อย่างใด

ทั้งนี้ที่ผ่านมามีความพยายามของบริษัทผลิตวัคซีนรายใหญ่ ผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในโรงพยาบาลเอกชน แต่วัคซีนมีราคาแพง และหลังจากนั้นกลุ่มวิชาชีพแพทย์ บางส่วนก็พยายามผลักดันให้เป็นนโยบายของรัฐ แต่ได้รับการคัดค้านโยอ้างถึงความคุ้มค่า และประสิทธิภาพของวัคซีนมาโดยตลอดเช่นกัน

9. สองแม่ลูกบินตรงจากอังกฤษรักษาออทิสติกที่ รพ.กาฬสินธุ์

นางศุภกร เคอเกอร์ (ปานดอนลาน) อายุ 45 ปี พร้อมลูกชาย ด.ช.เดวิด วิลเลียม เคอร์เกอร์ หรือโจโน่ วัย 4 ขวบ 5 เดือน เดินทางมาพบกับนายแพทย์สมอาจ ตั้งเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ แพทย์หญิงนภาพร โชติช่วงนิรันดร์ หัวหน้ากลุ่มงานกุมารเวชกรรม และนางสมคิด สุทธิพรม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้าคลินิกกระตุ้นพัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เพื่อเข้าทำการรักษาอย่างเป็นทางการ หลังใช้การสื่อสารผ่านโทรศัพท์ปรึกษาและบำบัดลูกชายจากประเทศอังกฤษมานานร่วม 1 ปี พร้อมขอบคุณคณะแพทย์และพยาบาลที่คอยให้คำแนะนำและวิธีการรักษา

ขณะที่นายแพทย์สมอาจ ตั้งเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ กล่าวว่า งานกระตุ้นพัฒนาการเด็กของโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุด ขณะนี้เป็นที่ยอมรับระดับประเทศแล้ว โดยทางโรงพยาบาลเองยินดีรับครอบครัวที่มีปัญหาด้านนี้ทุกราย สามารถเดินทางมาปรึกษาหรือมารักษาที่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์