ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้ออก "รายงานมาตรา 301 พิเศษ" (Special 301 Report) ประจำปี 2012 โดยยังคงจัดให้ไทยเป็นประเทศในกลุ่มที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List : PWL) ซึ่งสหรัฐฯ ถือว่าเป็นประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในระดับสูง และอ้างว่าไทยยังไม่ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯอย่างเพียงพอ ไทยติดบัญชี PWL เป็นปีที่ 5 (เช่นเดียวกับรัสเซียและจีน) โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 หลังจากที่ไทยนำมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐหรือมาตรการซีแอล มาใช้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นทั้งที่ก่อนปี พ.ศ.2550 ไทยเคยอยู่ในระดับบัญชีที่ต้องจับตามอง (Watch List) หรือเป็นประเทศที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอยู่พอสมควร เท่านั้น

หากลองมองย้อนหลัง  สหรัฐฯ พยายามใช้มาตรการทางการค้าโดยผูกโยงกับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาในหลายรูปแบบมากว่า 2 ทศวรรษแล้ว ไม่เฉพาะการออกรายงานมาตรา 301 พิเศษ เท่านั้น ดังตัวอย่าง

1.ปี พ.ศ. 2528 สหรัฐฯ เสนอให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรหรือ GSP (Generalized System of Preferences เพื่อแลกเปลี่ยนให้ไทยขยายการคุ้มครอ งสิทธิบัตรตัวยา และผลิตภัณฑ์ยา (จากเดิมที่ไทยยอมให้มีการจดสิทธิบัตรเฉพาะกระบวนการผลิตยาเท่านั้น) และขยายอายุสิทธิบัตรจาก 15 ปี เป็น20 ปี ซึ่งถูกคัดค้านจากนักวิชาการ บุคลากรสาธารณสุข และองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างกว้างขวาง แต่ในที่สุดเมื่อ30 กันยายน พ.ศ. 2535 รัฐบาลในยุคนั้นก็ได้แก้ไข พระราชบัญญัติสิทธิบัตรตามที่สหรัฐฯต้องการ ท่ามกลางเสียงคัดค้านที่ยังไม่จางหาย

2.ปี พ.ศ. 2537 สหรัฐฯ บรรลุผลสำเร็จในการผลักดัน "ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า" (Agreement on TradeRelated Aspects of Intellectual Property Rights, TRIPs Agreement หรือ ความตกลงทริปส์) ให้อยู่ภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก ซึ่งให้การคุ้มครอง สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ รวมทั้งยาและผลิตภัณฑ์ยา และกำหนดอายุสิทธิบัตร 20 ปี  ไทยซึ่งเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตาม

อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกได้ตระหนักถึงผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพของประชาชน จึงมีมติให้ขยายเวลาการทำตามความตกลงทริปส์ตามระดับของการพัฒนา กล่าวคือ สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนา ต้องแก้ไขกฎหมาย ภายในประเทศในปี พ.ศ. 2538, 2543, และ 2548 ตามลำดับ แต่รัฐบาลไทยผู้ซึ่งเป็นเด็กดีของสหรัฐฯได้แก้ไขพระราชบัญญัติสิทธิบัตรให้คุ้มครองสิทธิบัตรตัวยาและผลิตภัณฑ์ยา โดยมีอายุสิทธิบัตรเป็น 20 ปี มาตั้งแต่ พ.ศ. 2535 แล้ว นั่นคือ ประเทศไทยได้แก้ไขพระราชบัญญัติสิทธิบัตรเป็นไปตามความตกลงทริปส์ ก่อนเวลาที่กำหนดตามความตกลงทริปส์ ถึง 8 ปี จึงทำให้คนไทยต้องใช้ยาที่มีสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีราคาแพงก่อนเวลาอันควรถึง 8 ปี

3.ปัจจุบัน สหรัฐฯพยายามผลักดันให้มีการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดขึ้นหรือที่เรียกว่า "ทริปส์ผนวก (TRIPs-plus) ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี" ระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ รวมถึงความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐอเมริกา ที่เริ่มมีการเจรจา ตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2547 จนถึงการเจรจาครั้งล่าสุด ครั้งที่ 6 กลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2549 ซึ่งมีการชุมนุมคัดค้านอย่างกว้างขวาง จนต้องหยุดการเจรจามาจนถึงปัจจุบัน

ตัวอย่างประเด็นที่คัดค้านกันมากต่อข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ เช่น การขยายระยะเวลาผูกขาดยาเพื่อชดเชยข้ออ้างเรื่องความล่าช้าจากการออกเอกสารสิทธิบัตรหรือการขึ้นทะเบียนตำรับยา การผูกขาดข้อมูลยาสิทธิบัตรซึ่งจะส่งผลต่อการขึ้นทะเบียนยาชื่อสามัญของผู้ผลิตชาวไทยที่ต้องล่าช้าออกไปและผลการศึกษาวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่า หากเรายอมตามเงื่อนไขที่สหรัฐฯเรียกร้องทั้งหมดจะทำให้ประเทศไทยต้องจ่ายค่ายาเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นมูลค่าสูงถึง 800,000 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2570 และอุตสาหกรรมการผลิตยาภายในประเทศจะสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดเป็นมูลค่าถึง 300,000 ล้านบาท ในปีเดียวกัน เป็นต้น

การรู้เท่าทันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หน่วยงานที่จะไปเจรจาต้องเตรียมข้อมูลผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในทางเลือกเชิงนโยบายต่างๆอย่างรอบคอบ ตลอดจนการสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อนำไปสู่การกำหนดท่าทีของไทยอย่างเหมาะสมกระบวนการเจรจาต่อรองต้องโปร่งใสและเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ และการเข้าถึงยาจำเป็นของคนไทย